ลือกันมา 8 ปีจากยุค "ฟอร์เวิร์ดเมล" จนโลกเข้าสู่ยุค "โซเชียลมีเดีย" ยังคงมี "ข่าวลือดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์" สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ต้องมาเคลียร์และแก้ข่าวกันทุกปี ว่าไม่มีทางเป็นเช่นนั้นไปได้ วอนรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ
ทีมข่าวิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้รับจดหมายข่าวจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แจ้งเตือนประชาชนอย่าตื่นข่าวลือ "ดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์" ที่ระบุว่า วันที่ 27 ส.ค.ของปี 2548-2556 จะจะเห็นดาวอังคารส่องแสงชัดเจนที่สุดด้วยรูปทรงขนาดใหญ่ประดุจดังพระจันทร์เต็มดวง
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ชี้แจงว่า ปรากฏการณ์ที่ดาวอังคารจะส่องสว่างเท่าดวงจันทร์ “ไม่มีทางเป็นไปได้” โดยจากการคำนวณระยะทางของดาวอังคารจากวิถีโคจรในวันที่ 27 สิงหาคม พบว่าดาวอังคารจะมีระยะห่างจากโลก ประมาณ 345 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าไกลมาก
"ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงจันทร์ประมาณ 1 เท่า เพราะฉะนั้นที่ระยะทาง 345 ล้านกิโลเมตร นับว่ามีความสว่างน้อยมาก การที่ดาวอังคารมีความสว่างเท่ากับดวงจันทร์ นั่นหมายถึงดาวอังคารต้องเข้าใกล้โลกที่ระยะทาง 780,000 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน" ดร.ศรัณย์ชี้แจง
ตามปกติแล้วดาวอังคารจะโคจรเข้ามาใกล้โลกทุกๆ 26 เดือนเป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารเรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน ดาวอังคารเคยเข้าใกล้โลกมาที่สุด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2546 ที่ระยะทาง 56 ล้านกิโลเมตร และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ที่ระยะทางประมาณ 100 ล้านกิโลเมตร
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่าแม้ดาวอังคารจะมีโอกาสเข้าใกล้โลกมากที่สุด แต่ก็ไม่มีทางสว่างเท่าดวงจันทร์ได้ เพราะดวงจันทร์มีระยะห่างเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ดาวอังคารในช่วงที่เดินทางเข้าใกล้โลกมากที่สุด จะสว่างได้เทียบเท่ากับดาวพฤหัสบดีเท่านั้น
"ในช่างนี้มีประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกียวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลในปัจจุบันโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่สามารถแพร่หลายไปในวงกว้างได้ภายในเสี้ยววินาที จึงอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อ เกิดความตื่นตระหนกและเข้าใจคลาดเคลื่อนได้" ดร.ศรัณย์กล่าว
ทั้งนี้ ดร.ศรัณย์ยืนยันว่าปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ต้นตอของข่าวลือต่างๆ ยังวนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีสติ