xs
xsm
sm
md
lg

โผล่ให้เห็นอีกครั้ง "ดวงจันทร์เนแอด" บริวารลึกลับของเนปจูน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลที่ผ่านเทคนิคการลดแสงสะท้อน เผยให้เป็นดวงจันทร์เนแอด (ด้านซ้าย มีวงกลมล้อมรอบ) บริวารของดาวเนปจูนที่อยู่ชั้นในสุดได้อย่างชัดเจน (Credit: SETI Institute)
นักดาราศาสตร์ตื่นเต้น เมื่อดวงจันทร์ลึกลับ บริวารของดาวเนปจูนโผล่ให้เห็นอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปี เผยไม่เคยปรากฏอีกเลยนับตั้งแต่ถูกพบครั้งแรก

นักดาราศาสตร์จากสถาบันเซติ (SETI Institute) ในเมาน์เทนวิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เผยว่าพบดวงจันทร์เนแอด (Naiad) บริวารของดาวเนปจูนเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ที่มีการค้พบดวงจันทร์ดังกล่าวครั้งแรกโดยยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) เมื่อปี 2532

ดวงจันทร์เนแอด เป็นบริวารของดาวเนปจูนที่มีวงโคจรอยู่ชั้นในสุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตร และไม่เคยปรากฏให้นักดาราศาสตร์เห็นอีกเลยนับตั้งแต่ถูกค้นพบครั้งแรก

การพบดวงจันทร์เนแอดในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเคราะห์ของทีมนักวิจัย โดยเป็นภาพที่บันทึกไว้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2547 ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคช่วยลบแสงสะท้อนของดาวเนปจูนออกไป โดยนักวิจัยของเซติระบุว่า ดาวเนปจูนสว่างมากกว่าดวงจันทร์แนแอดถึง 2 ล้านเท่า จึงยากที่จะสังเกตเห็นดวงจันทร์แนแอดได้จากพื้นโลก

"ดวงจันทร์เนแอดเป็นเป้าหมายที่ยากจะหาเจอ นับตั้งแต่ยานวอยเอเจอร์โคจรผ่านเลยดาวระบบของดาวเนปจูนออกไป" มาร์ค โชว์วอลเตอร์ (Mark Showalter) นักวิจัยของเซติเผยถึงการสำรวจพบดวงจันทร์เนแอดครั้งล่าสุดในระหว่างการประชุมวิชาการประจำปีของแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ สมาคมดาราศาสตร์อเมริกา (American Astronomical Society's Division for Planetary Sciences) ในเมืองเดนเวอร์ มลรัฐโคโลราโด เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเซติเผยว่าการพบดวงจันทร์เนแอดอีกครั้งนี้ ยังคงมีปริศนาอื่นๆอีกมากที่นักดาราศาสตร์ต้องค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป และดูเหมือนว่าดวงจันทร์เนแอดนั้นจะมีการโคจรที่ห่างออกไปจากเดิม ซึ่งการสังเกตพบดวงจันทร์เนแอดในครั้งนี้บ่งบอกว่าดาวบริวารของเนปจูนดวงนี้กำลังโคจรไปข้างหน้าในเส้นทางที่คาดการณ์ของมันในวงโคจรรอบดาวเนปจูน

นักวิทยาศาสตร์คาดหมายว่าเส้นทางโคจรใหม่ของดวงจันทร์เนแอดอาจมีบางสิ่งบางอย่างทำให้ดวงจันทร์เนแอดมีปฏิสัมพันธ์กับดาวบริวารของเนปจูนดวงใดดวงหนึ่ง อันเป็นเหตุให้ดวงจันทร์บริวารที่อยู่ชั้นในสุดเร่งความเร็วในการโคจร ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ดวงจันทร์เปลี่ยนวิถีโคจรยังคงไม่มีใครรู้ได้จนกว่านักวิจัยจะมีข้อมูลที่มากเพียงพอจะอธิบายได้

ทั้งนี้ นักวิจัยเซติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพถ่ายชุดดังกล่าวที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2547 ได้เผยข้อมูลบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับส่วนโค้งของวงแหวนรอบดาวเนปจูน ซึ่งยานวอยเอเจอร์ 2 ได้สำรวจพบวงแหวนของดาวเนปจูนจำนวน 4 วง ขณะบินผ่านเข้าไปใกล้ดาวเนปจูน แต่ภาพถ่ายชุดใหม่ที่ได้มานี้กลับพบว่า วงแหวนหลัก 2 วงหายไป ในขณะที่วงแหวนอีก 2 วงที่เล็กกว่าก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยที่นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งจะว่าไปแล้ววงแหวนของดาวเคราะห์ดวงนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนับตั้งแต่ถูกค้นพบ

"มันตื่นเต้นเสมอที่เราได้ผลลัพธ์ใหม่จากข้อมูลเก่า พวกเราค้นพบวิธีการใหม่ที่ช่วยลดข้อจำกัดของข้อมูลที่รวบรวมได้จากฮับเบิล ซึ่งเป็นข้อมูลภาพถ่ายดาวเคราะห์ทั้งหลายที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล" โชว์วอลเตอร์ กล่าว

นอกจากนี้ โชว์วอลเตอร์และทีมวิจัยยังได้พบดวงจันทร์บริวารของดาวเนปจูนที่มีขนาดเล็กมากอีกดวงหนึ่งจากข้อมูลภาพถ่ายชุดเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งได้แถลงการค้นพบไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ให้ชื่อดวงจันทร์ดังกล่าวว่า S/2004 N 1 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 กิโลเมตร และมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์เนแอดมาก แต่สังเกตเห็นในภาพถ่ายได้ง่ายมาก เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์อยู่ไกลจากดาวเนปจูนมากกว่าวงโคจรของเนแอด

ทั้งนี้ ดวงจันทร์ S/2004 N 1 รอดพ้นจากการจับภาพของยานวอยเอเจอร์ 2 ในปี 2532 ไปได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมาก โดยในขณะนั้นยานวอยเอเจอร์ได้ค้นพบดวงจันทร์บริวารดวงใหม่ของดาวเนปจูนถึง 6 ดวง ซึ่งดวงจันทร์เนแอดเป็นหนึ่งในนั้น และจนถึงปัจจุบันนี้ นักดาราศาสตร์พบจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายในระบบสุริยจักรวาลรวมแล้วทั้งสิ้น 14 ดวง
ภาพแสดงตำแหน่งและวงโคจรของดวงจันทร์บริวารของดาวเนปจูนที่ปรากฏให้เห็นในภาพถ่าย ซึ่งมีดวงจันทร์บริวารดวงที่ 14 ที่เพิ่งค้นพบล่าสุดด้วย คือ S/2004 N 1 (Credit: SETI Institute)
ภาพแบบผสมที่แสดงให้เห็นวงแหวนบางๆ ของดาวเนปจูนได้อย่างชัดเจนจากภาพคอมโพสิท (Credit: SETI Institute)
ภาพแสดงให้เห็นวงแหวนของดาวเนปจูน ซึ่งนักวิจัยสังเกตพบมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับวงแหวนของดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วย (Credit: SETI Institute)






กำลังโหลดความคิดเห็น