xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยัน “ดาวหางไอซอน” ตายสนิทหลังเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกล้อง SOHO ของ ESA และ NASA เผยดาวหางไอซอนที่โคจรมาทางด้านล่างของดวงอสทิตย์แล้วเฉียดใกล้ก่อนจะออกจากดวงอาทิตย์ทางด้านบน และค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ (ไลฟ์ไซน์/อีซา/นาซา)
นักวิทยาศาสตร์ยืนยัน “ดาวหางไอซอน” ที่คาดว่าจะเป็นดาวหางแห่งศตวรรษ ตายสนิทหลังเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ แล้วโผล่ออกมาเป็นเมฆฝุ่นที่ค่อยๆ ฟุ้งกระจายไปในอวกาศจนไม่เหลือ

“ถึงตอนนี้ ไม่น่าจะมีอะไรเหลือแล้ว ดาวหางไอซอนดับสนิท แต่การระลึกถึงจะคงอยู่” คำกล่าวของ คาร์ล แบตแทมส์ (Karl Battams) ผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพสหรัฐฯ (U.S. Naval Research Laboratory) ในวอชิงตัน ดี.ซี.กล่าวภายในการประชุมประจำปีของสหพันธ์ทางธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (American Geophysical Union)

ทั้งนี้ ดาวหางไอซอน (ISON) ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์รัสเซียเมื่อเดือน ก.ย.2012 และเดินทางจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่ปลายระบบสุริยะอันห่างไกลและหนาวเหน็บเข้ามาด้านในระบบสุริยะเป็นครั้งแรก แล้วเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ที่ระยะ 1.1 ล้านกิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2013 ที่ผ่านมา

ตามรายงานของไลฟ์ไซน์ยังระบุด้วยว่า การเดินทางเสี่ยงอันตรายของดาวหางไอซอนนั้น ถูกติดตามอย่างใกล้ชิดโดยนักสังเกตฟ้า (skywatcher) ด้วยหวังว่าก้อนน้ำแข็งพเนจรจะเผยความตระการตาบนฟากฟ้า และนักวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องการศึกษาก๊าซของไอซอนเมื่อถูกเดือดเป็นไอ เพื่อศึกษาองค์ประกอบและโครงสร้างของดาวหาง โดยทั้งสองกลุ่มต่างคาดหวังว่าการเฝ้าจับตาดูดาวหางดวงนี้จะคงอยู่ต่อไปหลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว แต่ไอซอนก็ไม่รอดจากความร้อนจัดและแรงโน้มถ่วงสูงของดวงอาทิตย์ไปได้

ด้าน เจเรนท์ โจนส์ (Geraint Jones) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) อังกฤษ กล่าวว่า ดูเหมือนดาวจะผลิตฝุ่นออกมาไม่หยุดเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด และดาวหางก็จางลงเรื่อยๆ เมื่อออกจากระยะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อเคลื่อนตัวออก แต่ก่อนจะจางลงไอซอนก็แสดงแนวโน้มว่าจะสว่างขึ้นหลังผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะเป็นผลจากพลศาสตร์การโคจร (orbital dynamics) ที่สุดท้ายแล้วไม่มีอะไร

ตามคำอธิบายของโจนส์ที่บอกแก่ทางไลฟ์ไซน์ ดูเหมือนชิ้นส่วนที่แตกสลายของไอซอนจะขยายออกเมื่อก้อนน้ำแข็งเข้าสู่ตำแหน่งใก้ดวงอาทิตย์ที่สุด เนื่องจากชิ้นส่วนด้านหน้ามีความเร็วมากกว่าชิ้นส่วนที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้ไอซอนหรี่ความสว่างลงแล้วกลับมาสว่างขึ้นอีกครั้งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเศษน้ำแข็งกลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่อีกด้านของดวงอาทิตย์

ทั้งนี้ พฤติกรรมของดาวหางเป็นสิ่งที่ยากต่อการทำนาย ซึ่งยากที่จะรู้ว่าทำไมดาวหางไอซอนไม่เป็นอย่างที่หลายกลุ่มคาดหวัง แต่การแตกสลายของดาวหางนี้อาจสัมพันธ์กับขนาดดาวหางที่ค่อนข้างเล็ก และการสังเกตล่าสุดโดยยานมาร์สรีคอนเนสซองส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) หรือ MRO ชี้ว่านิวเคลียสของไอซอนนั้นกว้างประมาณ 100-1,000 เมตร

อัลเฟร็ด แมคอีวาน (Alfred McEwen) จากมหาวิทยาลัยอาริโซนา (University of Arizona) สหรัฐฯ ผู้ตรวจการณ์หลักประจำกล้องประสิทธิภาพสูงไฮไรส์ (HiRISE) ของยาน MRO กล่าวว่า นิวเคลียสของไอซอนอาจจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 600 เมตร และที่ผ่านมาดาวหางเฉียดใหล้ดวงอาทิตย์ (sungrazing comet) ที่เล็กกว่าครึ่งกิโลเมตรนั้นมักไม่หเลือรอดเมื่อเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์  

แม้แบทแทมส์และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ จะกล่าวอำลาแก่ดาวหางไอซอนแล้วก็ตาม แต่ไลฟ์ไซน์ระบุว่า กล้องโทรทรรศนือวกาศขององค์การกบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) อีกหลายๆ ลำ ยังคงตรวจตราท้องฟ้าต่อไป เผื่อกรณีที่ดาวหางดวงนี้จะปรากฏขึ้นอย่างปาฏิหารย์อีกครั้ง

“นาซายังคงพยายามมองหาดาวหางนี้ต่อไปด้วยกล้องฮับเบิล (Hubble) และผมได้ยินมาด้วยว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) และจันทรา (Chandra) พยายามที่จะสังเกตดาวหางดวงนี้ต่อไปเช่นกัน นี่เป็นเรื่องของปฏิบัติติดตามการฟื้นคืนของดาวหาง แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า” แบตแทมส์กล่าว
ภาพดาวหางไอซอนที่บันทึกโดย วาลเดมาร์ สกอรูปา (Waldemar Skorupa) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวเยอรมัน (ไลฟ์ไซน์/Waldemar Skorupa)
ภาพจากหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิคส์ (Solar Dynamics Observatory) ของนาซา เผยภาพดวงอาทิตย์และตำแหน่งที่ดาวหางไอซอนน่าจะโผล่ (กากบาทสีขาวด้านซ้าย) หลังเฉียดใหล้ดวงอาทิตย์เมื่อ 28 พ.ย.2013 (นาซา/ไลฟ์ไซน์)






กำลังโหลดความคิดเห็น