กล้องฮับเบิลบันทึกภาพอันแสนงดงามของ “ดาวหางไอซอน” ท่ามกลางดวงดาวและกาแล็กซี ซึ่งจะเข้าสู่ด้านในของระบบสุริยะ และคาดว่าคนบนโลกจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงปลาย พ.ย.นี้ ด้วยความสว่างราวกับดวงจันทร์เลยทีเดียว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) บันทึกภาพดาวหางไอซอน (ISON) ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2013 ที่ผ่านมา และหลังจากประมวลภาพเข้าด้วยกัน 5 ภาพก็เผยให้ภาพดาวหางท่ามกลางดวงดาวที่สว่างเจิดจ้าและกาแล็กซีที่อยู่แสนไกล
จากรายงานของสเปซด็อทคอมซึ่งอ้างคำอะบายของนักวิจัยในโครงการฮับเบิลระบุว่า ภาพดังกล่าวบันทึกด้วยกล้อง 5 ตัวที่บันทึกย่านแสงที่ต่างกัน 3 ตัวแรกเป็นกล้องที่กรองแสงสีเหลืองและเขียว ทำให้ได้ภาพในย่านแสงสีน้ำเงิน ส่วนอีก 2 ตัวเป็นกล้องที่บันทึกแสงสีแดงและรังสีอินฟราเรด
จอช โซกอล (Josh Sokol) จากสถาบันวิทยาการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute) ในบัลติมอร์ แมรีแลนด์ ซึ่งควบคุมการทำงานของฮับเบิล ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปสีแดงยิ่งเข้มหมายถึงสิ่งนั้นยิ่งเก่าแก่มาก มีวิวัฒนาการมามากกว่าสิ่งที่เป็นสีน้ำเงิน
ดาวหางไอซอนจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ด้วยระยะห่างจากผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.16 ล้านกิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะทำให้ดาวหางดวงนี้ส่องสว่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจจะสว่างราวกับพระจันทร์เต็มดวงเลยทีเดียว กระนั้นเราก็ไม่อาจคาดหวังอะไรมากกับดาวหางดวงนี้ เพราะดาวหางทั้งหลายมีชื่อเสียงแง่ลบว่ายากต่อการคาดการณ์ และพฤติกรรมของดาวหางไอซอนก็อาจจะมีลูกเล่นให้ยากจะพยากรณ์
นักสังเกตปรากฏการณ์ฟ้าและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกต่างจดจ้องการเดินของดาวหางดวงนี้ ที่ถูกขนานนามว่า “ดาวหางแห่งศตวรรษ” โดยคลิปวิดีโอจากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซาอธิบายว่า ดาวหางล้วนโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่มีดาวหางประเภทที่เรียกว่า ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ (sun grazing comet) นั้นจะเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มาก และมีระยะจุดปลายวงโคจร (perihelion) ไม่เกิน 1.37 ล้านกิโลเมตร บางดวงก็ใกล้จนพุ่งชนพื้นผิวดาว ซึ่งไอซอนก็จัดอยู่ในประเภทนี้
ไอซอนถูกค้นพบเมื่อเดือน ก.ย.2012 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเข้ามาชั้นในของระบบสุริยะครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งมีถิ่งกำเนิดแถบเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่ระบบสุริยะชั้นนอกเช่นเดียวกับดาวหางอื่น และเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้วไอซอนจะถูกโมเมนตัมเหวี่ยงออกจากระบบสุริยะชั้นในแล้วไม่กลับมาอีกเลย
ดาวหางไม่ต่างจากดาวเคราะห์ที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบเดียวกันระหว่างช่วงก่อกำเนิดเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการศึกษาองค์ประกอบของดาวหางไอซอนที่เดือดจากการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้อย่างใกล้ๆ นั้น จะเผยให้เห็นอดีตของระบบสุริยะเมื่อแรกเริ่ม
ทางด้าน ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แม้ดาวหางไอซอนเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากกว่านี้ ก็ไม่สามารถบันทึกภาพได้เหมือนกล้องฮับเบิล เนื่องจากผลจากชั้นบรรยากาศ
“หากดาวหางไอซอนเคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลก เราก็มีโอกาสที่จะถ่ายภาพแบบนี้ได้เช่นกัน แต่ไม่สวยเท่านี้ครับ เพราะอย่างที่บอก มีปัญหาของชั้นบรรยากาศที่เป็นอุปสรรคครับ เราจะเห็นว่าในภาพนี้มีกาแล็กซีที่ชัดเจน และดาวฤกษ์สว่าง คมชัด แต่หากลองสังเกตดูที่หัวของดาวหางจะเห็นว่าบริเวณส่วนที่เป็นแกนกลางของที่เรียกว่า "นิวเคลียส" จะยืดๆ นิดๆ นั้นแสดงว่าดาวหางมีการเคลื่อนที่ด้วย” ศุภฤกษ์กล่าว
เจ้าหน้าที่ สดร.ระบุอีกว่า ข้อดีของกล้องโทรทรรศน์อวกาศคือกล้องลอยอยู่ในอวกาศ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้การถ่ายภาพจากบนโลกเห็นดาวมีการเคลื่อนที่ และเมื่อเราถ่ายภาพดาวหางบนโลกโดยที่ต้องการให้กล้องเคลื่อนที่ตามดาวหาง ก็จำเป็นต้องเปิดหน้ากล้องนานๆ ทำให้ดาวฤกษ์พื้นหลังเคลื่อนที่เป็นเส้น ไม่เห็นเป็นจุดดาวสว่างเหมือนภาพจากฮับเบิล
“ถ้าหากอยากถ่ายให้ได้คล้ายกับฮับเบิล เราก็ต้องให้กล้องโทรทรรศน์เคลื่อนที่ติดตามดาวฤกษ์ หรือ กาแล็กซี แล้วถ่ายภาพดาวหาง แต่สิ่งที่จะเกิดกับภาพหลังจากเปิดหน้ากล้องนานๆถ่ายภาพก็คือ ดาวฤกษ์ กาแล็กซี คมชัด แต่ดาวหางภาพจะยืดๆ ครับ สรุป คือ ถ่ายได้แต่ไม่สวยเท่า ถ้าสามารถเพิ่มความไวแสงให้กับอุปกรณ์ถ่ายภาพได้ เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพในเวลาสั้นๆ เราก็จะสามารถถ่ายภาพคล้ายๆแบบนี้ได้เช่นกันครับ แต่อย่างที่บอกไม่สวยเท่าครับ” ศุภฤกษ์กล่าว