xs
xsm
sm
md
lg

เจอจันทร์ดวงที่ 14 ของ “เนปจูน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพหลายๆ ส่วนที่บันทึกด้วยกล้องฮับเบิลเมื่อปี 2009 แสดงภาพฮับเบิลที่ถูกบันทึกภาพสีแล้วรวมเข้ากับภาพขาวดำเพื่อแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ เอส/2004 เอ็น1 ในวงกลมสีเหลือง (มาร์ก โชวอลเตอร์ /นาซา/อีซา)
กล้องฮับเบิลจับภาพจันทร์ดวงที่ 14 ของ “เนปจูน” ดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายในระบบสุริยะ และเป็นดวงจันทร์ดวงที่เล็กสุดที่สุดที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์

เว็บไซต์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เผยว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ได้พบดวงจันทร์ดวงที่ 14 ของดาวเนปจูน ซึ่งประเมินคร่าวๆ ว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 19 กิโลเมตร และนับเป็นดวงจันทร์ดวงเล็กสุดในระบบดาวเนปจูนเท่าที่มีการค้นพบ

ดวงจันทร์ดวงใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า เอส/2004 เอ็น1 (S/2004 N 1) ซึ่งนอกจากมีขนาดเล็กแล้วและมีแสงจางมาก โดยจางกว่าดาวที่จางที่สุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถึง 100 ล้านเท่า และความไม่สว่างเลยนี้ทำให้จันทร์ดวงนี้เล็ดลอดจากการสำรวจของยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ของนาซาที่บินผ่านดาวเนปจูนไปตั้งแต่ปี 1989 และได้ระบบดวงจันทร์และระบบวงแหวนของดาวเคราะห์ในครั้งนั้นแล้ว

มาร์ก โชวอลเตอร์ (Mark Showalter) จากสถาบันเซติ (SETI Institute) ในเมาน์เทนวิว แคลิฟอร์เนีย พบดวงจันทร์ดวงใหม่นี้เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะศึกษาส่วนโค้งวงแหวนจางๆ รอบดาวเนปจูน ซึ่งเขาและทีมพบว่า วงแหวนและดวงจันทร์เคลื่อนที่เร็วมาก พวกเขาจึงต้องหาวิธีที่จะติดตามการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และวงแหวนเพื่อให้ได้รายละเอียดของระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ช่างภาพกีฬาใช้ติดตามนักวิ่งลมกรด ซึ่งภาพของนักวิ่งจะถูกจับตาขณะที่ภาพแวดล้อมพร่ามัว

วิธีดังกล่าวทำให้ทีมพบจุดสีขาวที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำอีกในภาพถ่ายดาวเนปจูนโดยกล้องฮับเบิลระหว่างปี 2004-2009 ปและเขาก็สังเกตพบว่าจุดขาวดังกล่าวนั้นอยู่ห่างจากเนปจูน 105,000 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดวงจันทร์ลาริสซา (Larissa) และโปรเตียส (Proteus) ของเนปจูน และจุดขาวดังกล่าวคือดวงจันทร์เอส/2004 เอ็น1 ที่เขาพบว่าใช้เวลาโคจรรอบเนปจูนทุก 23 ชั่วโมง

สำหรับกล้องฮับเบิลนั้นเป็นโครงการร่วมระหว่างนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) ซึ่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซาในกรีนเบลต์ มารีแลนด์ รับผิดชอบในการบริหารจัดการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ขณะที่สถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute: STScI) ที่ดำเนินการโดยสมาคมมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยดาราศาสตร์ (Association of Universities for Research in Astronomy Inc.) ในวอชิงตัน รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์







กำลังโหลดความคิดเห็น