เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตพบดาวเคราะห์ดวงอื่นเป็นสีเงินในย่านแสงที่ตามองเห็น และอยู่ห่างจากโลกเพียง 63 ปีแสง คาดว่าน่าจะเป็นผลจาก “ฝนแก้ว” หรือไอของซิลิเกตในบรรยากาศ แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้มีอุณหภูมิร้อนจัดและกลางวัน-กลางคืนยังมีอุณหภูมิแตกต่างกันถึง 260 องศาเซลเซียส
ดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่นอกระบบสุริยะ มีชื่อเรียกว่า เอชดี 189733บี (HD 189733b) อยู่ห่างจากโลก 63 ปีแสง ซึ่งจากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ที่บันทึกในย่านแสงที่ตามองเห็น ให้ข้อมูลบ่งชี้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีสีน้ำเงิน
ด้าน เฟรเดอริก ปองท์ (Frédéric Pont) จากมหาวิทยาลัยเอกซ์เตอร์ (University of Exeter) สหราชอาณาจักร หัวหน้าโครงการสำรวจด้วยกล้องฮับเบิลแถลงว่า เราศึกษาดาวเคราะห์ดวงนี้กันมาแล้ว ทั้งโดยทีมเขาเองและนักวิทยาศาสตร์ทีมอื่น แต่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถวัดได้ว่าสีที่แท้จริงของดาวเคราะห์ดวงนี้คือสีอะไร
ข้อมูลจากสเปซด็อทคอมระบุว่า แม้จะมีสีน้ำเงินเหมือนโลก แต่มีสภาพเป็นเหมือนดาวพฤหัสบดีที่ร้อนจัด โดยบรรยากาศมีอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และยังมีพายุ “ฝนแก้ว” ซึ่งฝนซิลิเกตที่มีความเร็วลมสูงถึง 7,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่ง เอชดี 189733บี อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเองมาก และใช้เวลาเพียง 2.2 วันโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเอง
เมื่อปี 2007 กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ได้ทำแผนที่อุณหภูมิของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก และช่วยนักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่สภาพอากาศของดาวเคราะห์แปลกๆ ดวงนี้ออกมา
ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนของดาวเคราะห์สีน้ำเงินอีกดวงนี้แตกต่างกันถึง 260 องศาเซลเซียส อันเป็นผลจากการพัดพาของกระแสลมที่รุนแรง แต่สเปซด็อทคอมระบุว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าเหตุใดดาวเคราะห์ดวงนี้จึงมีสีน้ำเงิน
“มันยากที่จะรู้ได้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของสีในชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์นี้ แม้ในกรณีที่เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะด้วยเช่นกัน แต่สังเกตการณ์ครั้งใหม่นี้ก็ให้จิ๊กซอว์อีกชิ้นที่จะไขปริศนาธรรมชาติและบรรยากาศของ เอชดี 189733บี เรากำลังระบายสีภาพดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้อย่างช้าๆ” ปองท์ให้ความเห็นแก่สเปซด็อทคอม
ขณะที่บีบีซีนิวส์รายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิจัยว่า สีน้ำเงินดังกล่าวน่าจะเป็นผลจาก “ฝนแก้ว” หรือฝนของไอซิลิเกต ที่มีอยู่เต็มชั้นบรรยากาศแล้วสะท้อนสีน้ำเงินออกมา ต่างจากโลกที่เห็นเป็นสีน้ำเงินจากการสะท้อนสีน้ำเงินของมหาสมุทร
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ให้วิธีวัดอัตราการสะท้อนแสงหรืออัลบีโด (albedo) เพื่อวัดว่าสีของดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นเช่นไรเมื่อมองด้วยตาเรา โดยวัดปริมาณการสะท้อนแสงจากพื้นผิว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะวัดการเปลี่ยนแปลงของแสงที่สะท้อนจากดาวเคราะห์เมื่อผ่านไปด้านหลังของดาวฤกษ์ดวงแม่ และพวกเขาพบว่าสเปกตรัมสีน้ำเงินของทั้งระบบลดลงเมื่อดาวเคราะห์ผ่านไปอยู่ด้านหลังดาวฤกษ์
ด้วยเทคนิคดังกล่าว ทอม อีวานส์ (Tom Evans) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ผู้ศึกษาในรายงานเรื่องนี้ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารแอสโตรฟิสิคัลเจอร์นัลเลตเตอร์ส (Astrophysical Journal Letters) กล่าวว่า พวกเขาจึงสรุปได้ว่าดาวเคราะห์เป็นสีน้ำเงิน เพราะสัญญาณของสเปกตรัมสีอื่นนั้นคงที่