xs
xsm
sm
md
lg

มือสมัครเล่นค้นพบ “ว่าที่ดาวเคราะห์” 42 ดวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดจินตนาการแสดงมุมมองบนดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเคราะห์พีเอช2บี (สเปซด็อทคอม/Haven Giguere)
ทีมนักดาราศาสตร์สมัครเล่นพบ “ว่าที่” ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 42 ดวง รวมถึงดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวพฤหัสบดีที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ โดยใช้ข้อมูลจากกล้องอวกาศของนาซา

การค้นพบ “ว่าที่ดาวเคราะห์” นอกระบบสุริยะ 42 ดวงนี้เป็นการค้นพบของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในโครงการล่าดาวเคราะห์ “พลาเนตฮันเตอร์ส” (Planet Hunters) ซึ่งดำเนินการโดยชุมชนนักวิทยาศาสตร์สมัครเล่นออนไลน์ “ซูนิเวอร์ส” (Zooniverse) และว่าที่ดาวเคราะห์ที่พวกเขาค้นพบนั้นมี 15 ดวงที่มีโอกาสเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต รวมถึงดาวเคราะห์พีเอช2 บี (PH2 b) ขนาดประมาณดาวพฤหัสบดีที่ทีมนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ยืนยันว่า มีวงโคจรอยู่ในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (habitable zone) ของดาวฤกษ์ดวงแม่

นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่โครงการล่าดาวเคราะห์นี้ยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่นอกระบบสุริยะ ยิ่งกว่านั้นว่าที่ดาวเคราะห์หลายดวงยังอาจอยู่ในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ซึ่งสเปซด็อทคอม ระบุว่า ดาวเคราะห์เหล่านั้นกำลังรอการยืนยันจากนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นดาวเคราะห์จริงหรือไม่ โดยก่อนหน้านั้น พวกเขาค้นพบดาวเคราะห์พีเอช1 (PH1) ซึ่งได้รับการยืนยันเมื่อเดือน ต.ค.ในปี 2011 และพบว่าที่ดาวเคราะห์ 48 ดวง

นักวิจัยชี้ว่าแหล่งของดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ในเขตที่เรียกว่า “โซนโกลดิล็อคส์” (Goldilocks zone) หรือขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ที่อยู่รอบๆ ดวงดาว ซึ่งมีสภาวะที่น้ำเหลวคงอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้ และเอื้อต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต นั่นหมายความว่า มีสภาพอันคับคั่งของโลกที่จะมีสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้

ด้าน คริส ลินทอตต์ (Chris Lintott) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ผู้นำของซูนิเวอร์ส กล่าวว่า ว่าที่ดาวเคราะห์เหล่านี้หลงหูหลงตานักดาราศาสตร์อาชีพ และนักดาราศาสตร์สมัครเล่นได้ช่วยกู้กลับมา ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าใครก็สามารถค้นพบดาวเคราะห์ได้

สำหรับดาวเคราะห์พีเอช2 บี (PH2 b) นั้น ถูกค้นพบโดยอาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และได้รับการยืนยันความแม่นยำ 99.9% จากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวดับเบิลยูเคค (W.M.Keck Observatory) ในฮาวาย

ขนาดของดาวเคราะห์พีเอช2 บี นั้น ถือว่าใหญ่เกินไปที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ หากแต่นักดาราศาสตร์ กล่าวว่า ดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเคราะห์ดวงนี้ก็มีโอกาสเป็นมีสิ่งมีชีวิต โดยอุณหภูมิชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้นั้นอยู่ในช่วง -88 องศาเซลเซียส ถึง 30 องศาเซลเซียส ซึ่งฟังดูคล้ายดวงจันทร์ “แพนโดรา” (Pandora) ในภาพยนตร์เรื่องอวตาร (Avatar)

ด้าน จี หวัง (Ji Wang) นักวิจัยหลังปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐฯ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในรายงานการค้นพบนี้ที่ส่งไปตีพิมพ์ยังวารสารแอสโตรฟิสิคัลเจอร์นัล (Astrophysical Journal) และทดลองเผยแพร่ในวารสารออนไลน์ Arxiv กล่าวว่า หากทฤษฎีดวงจันทร์เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตจริง ดวงจันทร์นั้นต้องมีแกนกลางเป็นหินแข็ง และมีชั้นบรรยากาศแบบเรือนกระจกที่ช่วยให้น้ำเหลวคงอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ได้

ทีมอาสาสมัครช่วยเหลือนักดาราศาสตร์อาชีพค้นพบดาวเคราะห์พีเอช2 บี โดยเฝ้าสังเกตดาวฤกษ์ดวงแม่ เพื่อจับตาการหรี่ลงของแสงเมื่อดาวเคราะห์ที่โคจรผ่านหน้า ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 2 เทคนิคทั่วไปที่ใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ส่วนอีกวิธีคือ การสังเกตอาการส่ายของดาวแม่ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบ







กำลังโหลดความคิดเห็น