นาซาวางแผนใช้กล้องฮับเบิลสังเกตปรากฏการณ์ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ระหว่าง 5-6 มิ.ย.นี้ แต่จะใช้ “ดวงจันทร์” เป็นกระจกสังเกตปรากฏการณ์ เพราะไม่อาจส่องดวงอาทิตย์ได้โดยตรง เนื่องจากแสงจ้าจากดวงอาทิตย์ อาจทำลายเครื่องมือของกล้องโทรทรรศน์ ที่มีความไวสูงได้
เป้าหมายที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ์ฮับเบิล (Hubble Space Telescope) สังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Venus Transit) ก็เพื่อศึกษาองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์ แต่เพราะดวงอาทิตย์ของเรานั้นสว่างเจิดจ้า จึงอาจทำให้เครื่องมือบนกล้องโทรทรรศน์ที่มีความไวสูงนั้นเสียหายได้ นาซาจึงวางแผนที่จะใช้ดวงจันทร์เป็นกระจกในการสังเกตปรากฏการณ์ระหว่างวันที่ 5-6 มิ.ย.นี้แทนการสังเกตตรงๆ
สเปซดอตคอม ระบุว่า กล้องฮับเบิลจะช่วยนาซาประเมินได้ว่าชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้น มีองค์ประกอบใดบ้าง โดยพิจารณาจากแสงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศ แต่นักดาราศาสตร์ก็รู้เรื่องชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ดีอยู่แล้ว แต่การสังเกตปรากฏการณ์แห่งศตวรรษในเดือนนี้จะเป็นการทดสอบเทคนิคที่สามารถนำไปศึกษาองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอื่นๆ อีกได้
นักวิทยาศาสตร์หวังว่า เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยพวกเขาค้นหา “โลกต่างดาว” ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้เหมือนบนโลกของเรา และโคจรรอบดาวฤกษ์ที่อยู่แสนไกล ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่า ดาวศุกร์เป็นตัวแทนที่ดีสำหรับการค้นหาดาวเคราะห์ดังกล่าว เพราะมีขนาดและมวลใกล้เคียงกับโลก
ในปฏิบัติการดังกล่าวกล้องฮับเบิลจะจดจ้องปรากฏการณ์ผ่านหน้าเป็นเวลา 7 ชั่วโมง ที่ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเพียงจุดดำเล็กๆ เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ณ ตำแหน่งเดียวบนดวงจันทร์ เพื่อค้นหาสัญญาณทางสเปกตรัมที่จางไปอย่างแม่นยำที่สุด โดยมีแสงจากดวงอาทิตย์เพียง 0.001% เท่าที่จะกรองผ่านชั้นบรรยากาศหนาๆ ของดวงศุกร์มาตกกระทบบนดวงจันทร์
ทีมนักดาราศาสตร์จะใช้เครื่องมือหลายชิ้นที่ติดตั้งบนกล้องฮับเบิล ซึ่งมีทั้งกล้องแอดวานซ์คาเมราฟอร์เซอร์เวย์ (Advanced Camera for Surveys) กล้องไวด์ฟิล์ดคาเมรา 3 (Wide Field Camera 3) และกล้องสเปซเทเลสโคปอิเมจิงสเปกโตรกราฟ (Space Telescope Imaging Spectrograph) เพื่อสังเกตปรากฏการณ์ผ่านหน้าในช่วงความยาวคลื่นกว้างๆ ตั้งแต่ช่วงอินฟราเรดใกล้ (near-infrared) ไปจนถึงช่วงคลื่นแสงอัลตราไวโอเลต โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะบันทึกภาพและสร้างสัญญาณสเปกตรัม แล้วแยกสัญญาณเป็นสีองค์ประกอบของแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์ได้เริ่มฝึกเตรียมพร้อมสำหรับปรากฏการณ์ผ่านหน้ามาหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กล้องฮับเบิลได้บันทึกภาพจำนวนหนึ่งของหลุมไทโคคราเตอร์ (Tycho Crater) บนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นหลุมใหญ่ที่กว้างประมาณ 80 กิโลเมตร และจากการทดสอบสังเกตการณ์ดังกล่าว นักวิจัยมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถหันกล้องฮับเบิลไปยังจุดเดิมที่ทดสอบได้อย่างแม่นยำ
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นั้น เป็นปรากฏการณ์พิเศษ เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับนักดาราศาสตร์และนักสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าสมัครเล่นที่จะได้ชมปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ โดยครั้งก่อนที่ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ คือเมื่อปี 2547 และเหตุการณ์แบบดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกจนกว่าจะถึงปี 2660
สำหรับกล้องฮับเบิลนั้นเพิ่งฉลองครบรอบ 22 ปี ในวงโคจรเมื่อต้นเดือนนี้ โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศดังกล่าวถูกส่งขึ้นไปเมื่อเดือน เม.ย.2533 และตลอดหลายปีที่ผ่านมากล้องอวกาศตัวแรกนี้ได้ทำการสังเกตและบันทึกภาพเอกภพมากว่าล้านครั้ง