สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก่อนเข้าสู่ประเทศเกาหลีคือการแลกเปลี่ยนเงินสู่สกุล "วอน” และหากใครสังเกตดีๆ จะพบภาพกล้องโทรทรรศน์สีจางๆ อยู่ด้านหลังธนบัตรหมื่นวอน ข้างกันคือภาพทรงกลมฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเซจงมหาราชซึ่งมีพระบรมฉายาทิสลักษณ์ด้านหน้าธนบัตรฉบับเดียวกัน ภาพบนธนบัตรดังกล่าวคือด่านแรกที่ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของดาราศาสตร์ในแดนโสมที่มีมาแต่โบราณ
หากใครเป็นเคยเป็นแฟนซีรีส์เกาหลีย้อนยุคคงจำเรื่องราวเกี่ยวกับ “หอดูดาวชอมซองแด” (Cheomseongdae Observatory) ที่สร้างขึ้นในสมัยพระราชินีซอนต๊อก (Seondeok Queen) แห่งราชวงศ์ซิลลาได้บ้าง หอดูดาวที่สร้างขึ้นจากการเรียงหินซ้อนกัน 365 ก้อนเท่ากับจำนวนวันใน 1 ปีนี้เป็นหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีและยังเป็นหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชียตะวันออก และฐานของหอดูดาวเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองคยองจูเมืองประวัติศาสตร์ของเกาหลียังสร้างขึ้นจากหิน 12 ก้อนเท่ากับจำนวนเดือนทั้งหมดด้วย
เยือนหอดูดาวเก่าแก่แห่งเอเชียบูรพา
จากละครชุดของเกาหลีชี้ให้เห็นว่าหอดูดาวดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อลบล้างความเชื่อไสยศาสตร์และอิทธิพลของขุนนางชื่อ “มีซิน” แต่ในความเป็นจริงนั้น ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งร่วมเดินทางไปพร้อมคณะยุวทูตดาราศาสตร์ที่เดินทางไปทัศนศึกษาทางด้านดาราศาสตร์ ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นักวิการเองยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหอดูดาวดังกล่าวสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร สร้างอย่างไร และใช้งานเช่นกัน
“อันที่จริงแล้วหากจะดูดาวก็แค่อาศัยพื้นที่โล่งๆ ก็ดูได้แล้ว ซึ่งจากลักษณะของหอดูดาวที่มีสี่เหลี่ยมด้านบนบอกถึงทิศทั้งสี่อย่างชัดเจน และมีหน้าต่างที่ใช้สังเกตวัตถุเฉพาะจุด แต่ก็ไม่มีบันทึกว่าใช้งานอย่างไร มีแค่บันทึกว่ามีการสร้าง คาดว่าอาจต้องปีนขึ้นไปดูข้างบน ซึ่งนักวิชาการเกาหลีก็ถกเถียงกันว่าใช้ทำอะไรกันแน่” ดร.ศิรามาศให้ความเห็น
ดร.ศิรามาศบอกด้วยว่าการได้ไปเยือนหอดูดาวโบราณนี้จะทำให้เด็กๆ ได้รู้ด้วยว่าอันที่จริงแล้วดาราศาสตร์นั้นเกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า และชอมซองแดก็สร้างขึ้นใช้ในการสังเกต ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากดาราศาสตร์หรือภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อันทันสมัยที่เด็กสมัยนี้ได้รู้จัก เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นต้น
บุกบ้านนักดาราศาสตร์รุ่นเก๋าถิ่นโสม
หอดูดาวชอมซองแดยังถูกจำลองและย่อส่วนเก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ ศ.นา อิล ซอง (Nha Il Seong) นักดาราศาสตร์รุ่นบุกเบิกของเกาหลีและเป็นอดีตเลขาธิการแผนกประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union: IAU) และจัดแสดงพร้อมกับวัตถุจำลองทางดาราศาสตร์สมัยพระเจ้าเซจงกษัตริย์ผู้คิดค้นอักษรเกาหลีที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น นาฬิกาแดดที่ระบุเวลาได้ตลอดทั้งปี ทรงกลมฟ้าสำหรับสังเกตดาว และแผนที่ดาวต่างๆ จากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงแผนที่ดาวฉบับล้านนาของไทยด้วย เป็นต้น
ศ.นาได้เปิดบ้านต้อนรับยุวทูตดาราศาสตร์และคณะเพื่อเข้าชมทั้งห้องทำงานส่วนตัวที่รวบรวมเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของเอเชียตะวันออกและประเทศอื่นๆ ของโลก และพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว “ฮึม คยอง กัก” (Humgyong-Gak) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับสถานที่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายองโจเพื่อเก็บรักษาแผนที่ดาวโบราณที่สลักบนแผ่นหิน 2 แผ่น จากสมัยพระเจ้าไทโจกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์โชซอน และสมัยพระเจ้าซุกจง
พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของปูชนียบุคคลแห่งเกาหลีเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีผู้คนแวะเวียนไปเยี่ยมชมอยู่เสมอๆ ซึ่งภรรยาของเขาบอกว่าบางครั้งมีผู้มาเยือนหลายร้อยคน แต่ปกติจะไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมห้องทำงานเช่นนี้ โดยเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ระหว่างเวลา 09.30 -17.30 น.ตั้งแต่วันพุธถึงวันจันทร์ ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์มีแผนที่ดาวโบราณมากกว่า 150 ชิ้น นาฬิกาแดดมากกว่า 70 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีหอดูดาวที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนขนาด 40 เซนติเมตร และระบบวัดแสง ซึ่งใช้สังเกตการณ์ดาวแปรแสงมาตั้งแต่ปี 2525 และเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในส่วนนี้เพียงเดือนละครั้งเท่านั้น
การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของ ศ.นาซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ 200 กิโลเมตร ทำให้เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับชอมซองแดเพิ่มเติมว่า หอดูดาวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกษัตริย์ของเกาหลีในยุคนั้นทรงโปรดการดูดาว และบริเวณที่สร้างชอมซองแดซึ่งมีความตรงตัวว่า “หอดูดาว” นั้นอยู่หลังพระราชวัง และไม่มีภูเขาบดบัง และในอดีตยังไม่ทราบกันว่าโลกกลม คนโบราณเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล และที่ตั้งของหอดูดาวดังกล่าวคือตำแหน่งศูนย์กลางจักรวาลพอดี
จากหอดูดาวก้อนอิฐสู่กล้องโทรทรรศน์บนยอดเขา
ในส่วนดาราศาสตร์ยุคใหม่ของเกาหลีนั้น ดร.อึน ชาง ซอง (Eon Chang Sung) ผู้อำนวยการแผนกทัศนศาสตร์ของสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี (Korea Astronomy and Space Science) หรือคาซี (KASI) ให้ข้อมูลว่าเริ่มต้นในปี 2463 เมื่อเริ่มมีการสอนดาราศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัย ถัดจากนั้น 38 ปีจึงมีภาควิชาดาราศาสตร์แห่งแรกของเกาหลี และในปี 2521 เกาหลีก็มีกล้องโทรทรรศน์ประจำหอดูดาวแห่งชาติเป็นตัวแรก
กล้องโทรทรรศน์ตัวแรกของเกาหลีเป็นแบบสะท้อนแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 61 เซนติเมตร ตั้งอยู่ ณ หอดูดาวโซแบกซาน (Sobaeksan Optical Astronomy Observatory: SOAO) บนยอดเขาโซแบกซาน (Sobaeksan) ในเขตทานยาง โดยมีงานวิจัยหลักด้านการสังเกตดาวอุปราคา ดาวแปรแสง การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และแม้จะเป็นกล้องขนาดเล็กแต่ ดร.อึน ชาง ซองกล่าวว่า ผลงานที่ออกมานั้นไม่น้อยเลย เพราะเครื่องไม้เครื่องมือของหอดูดาวแห่งนี้ช่วยสร้างผลงานสำหรับตีพิมพ์ทางวิชาการถึงปีละ 15 ผลงาน ผลิตบัณฑิตปีละ 2-3 คน รวมถึงการค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับระบบดวงอาทิตย์ 2 ดวงด้วย
หากแต่ขอบข่ายงานวิจัยจากหอดูดาวแห่งแรกก็ยังจำกัดด้วยกล้องที่มีขนาดเล็ก หอดูดาวโซแบกซานจึงเบนไปสู่การอบรมทางด้านดาราศาสตร์ ทั้งการอบรมอย่างเข้มข้นแก่นักศึกษาเกาหลีและต่างชาติ การอบรมแก่นักเรียน ไปจนถึงการอบรมแก่บุคคลทั่วไปที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมและเผยแพร่ความตระหนักทางด้านดาราศาสตร์ เช่น การจัดอบรมให้แก่ ศิลปิน นักเขียนบทภาพยนตร์ นักเขียนนิยาย และนักแสดง เป็นต้น
ขยายอาณาเขตตั้งกล้องโทรทรรศน์นอกประเทศ
ปัจจุบันเกาหลีมีกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดใหญ่ที่สุด 1.8 เมตร ตั้งอยู่บนภูเขาโบฮยูนซาน (Bohyunsan Optical Astronomy Observatory: BOAO) อันเป็นที่ตั้งของหอดูดาวแห่งที่สองชื่อว่า หอดูดาวโบฮยูนซาน (Bohyunsan) และเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีภาพติดอยู่บนธนบัตรของเกาหลี ที่บันทึกโดย ดร.ชอน ยัง บอม (Jeon Young Beom) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของคาซี ซึ่งเขากล่าวว่ากว่าจะสร้างหอดูดาวแห่งนี้ได้ต้องทำการสำรวจภูเขานับร้อยลูก โดยในอดีตไม่มีปัญหาในการก่อสร้างนัก แต่ปัจจุบันคงเป็นเรื่องยากที่สร้างหอดูดาวบนยอดเขาได้อีก เพราะคงถูกคัดค้านจากนักอนุรักษ์
ในส่วนของกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงนั้นนอกจากสร้างขึ้นในประเทศแล้ว เกาหลียังมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตรบนภูเขาเมาท์เลมมอน (Mt.Lemmon) สหรัฐฯ โดย ดร.อึน ชาง ซอง กล่าวว่า สภาพอากาศของเกาหลีไม่เอื้ออำนวยต่อการตั้งกล้องโทรทรรศน์นักเนื่องจากอยู่ในพื้นที่พายุและมรสุม จึงจำเป็นต้องไปสร้างกล้องโทรทรรศน์อยู่ประเทศ โดยกำลังก่อสร้างหอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1.6 เมตร ที่จะตั้งอยู่ใน 3 ประเทศ คือ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และชิลี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2014
นอกจากนี้เกาหลียังมีโครงการใหญ่ร่วมกับสหรัฐฯ ในการสร้างกล้องโทรทรรศน์ไจแอนท์แมกเจลแลน (Giant Magellan Telescope) หรือจีเอ็มที (GMT) ซึ่งเป็นกล้องแบบสะท้อนแสงที่จะสร้างขึ้นจากกระจก 7 แผ่น แต่ละแผ่นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร เมื่อเรียงกันจะได้กล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 25.4 เมตร โดยหอดูดาวดังกล่าวมีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2019 และจะตั้งอยู่ ณ หอดูดาวลาสคัมปานาส (Las Campanas Observatory) ในชิลี
ในโอกาสที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาให้แก่คณะยุวทูตดาราศาสตร์ไทยประจำปี 2554 โดยความร่วมมือกับคาซี เราจึงได้รับโอกาสในการเข้าชมหอดูดาวทั้งบนภูเขาโบฮยูนซานและภูเขาโซแบกซาน ซึ่งนอกจากชมการดำเนินงานของกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงแล้ว เรายังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของกล้องโทรทรรศน์สำหรับศึกษาดวงอาทิตย์ที่ตั้งอยู่บนภูเขาโบฮยูนซาน รวมถึงหอดูดาววิทยุแทดุค (Taeduk Radio Astronomy Observory) ภายในสำนักงานใหญ่ของคาซี ณ เมืองแดจอน และกล้องโทรทรรศน์วิทยุเควีเอ็น (KVN: Korean VLBI Network) ที่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) กรุงโซล
เปิดใจยุวทูตดาราศาสตร์ไทย
หลังเยี่ยมชมเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์ของเกาหลี พลเดช อนันชัย ยุวทูตดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ให้ความเห็นว่า ผู้จะที่จะผลักดันให้วิทยาศาสตร์ไปได้ไกลคือ “นักการเมือง” โดยยกตัวอย่างกล้องโทรทรรศน์วิทยุเควีเอ็นที่มีทั้งหมด 3 ตัวนั้นต้องงบประมาณสร้างถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งงบประมาณขนาดนั้นสำหรับเมืองไทยแล้วสามารถนำมาใช้สร้างถนน หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ แต่เกาหลีกลับนำไปใช้ลงทุนด้านดาราศาสตร์เพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญ
นอกจากนี้เขายังได้เห็นวัฒนธรรมของเกาหลีที่ดาราศาสตร์ไม่ใช่เรื่องจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มนักดาราศาสตร์ หากแต่ยังอยู่ในวิถีชีวิตของคนทั่วไป โดยเขายกตัวอย่างที่ได้ไปเยือนตลาดปลาในเมืองปูซานก่อนเดินทางไปยังหน่วยงานทางด้านดาราศาสตร์ว่ามีการประดับเพดานอาคารในตลาดด้วยกลุ่มดาวต่างๆ ที่สำคัญคือธนบัตร 10,000 วอนซึ่งเป็นธนบัตรที่ใช้กันบ่อยและเข้าถึงคนหมู่มาก ก็มีภาพของกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์โบราณตกแต่งอยู่
“ความสำคัญของดาราศาสตร์ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยพระราชินีซอนตอก และเกาหลีมีพื้นที่ถึง 72% เป็นภูเขา กอปรกับเป็นเมืองหนาว การเพาะปลูกจึงต้องการการคำนวณฤดูกาลที่แม่นยำ ถ้าหากทำไม่ได้ก็จะทำให้ผลผลิตน้อยลง นั่นหมายถึงความอดอยากที่ตามมา” พลเดชให้ความเห็น
ส่วนรองยุวทูตดาราศาสตร์อีก 2 คนคือ อำพันเทพ ธารวณิชย์การ และฐิติกานต์ ฉุยฉาย ต่างก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการทัศนศึกษาครั้งนี้ โดยอำพันเทพกล่าวว่า น่าทึ่งที่คนโบราณทราบได้ว่า 1 ปีมี 365 วัน ซึ่งเป็นผลจากการสังเกตดวงอาทิตย์ และยังมีความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์ที่นำมาช่วยงานเกษตรกรรมได้ ส่วนฐิติกานต์ผู้สนใจปฏิทินโบราณ โดยเฉพาะปฏิทินมายารู้สึกประทับใจความรู้จากพิพิธภัณฑ์ของ ศ.นา อิล ซอง ที่ทำให้เธอได้รู้จักปฏิทินแบบจีน และได้ความรู้มากขึ้นว่าชาวตะวันออกมีปฏิทินที่แม่นยำใกล้เคียงปัจจุบันมานานแล้วและมีความรุ่งเรืองในเรื่องนี้มากเช่นกัน
สำหรับเมืองไทยนั้นเรามีหอดูดาวแห่งชาติที่กำลังติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ตัวแรกแบบสะท้อนแสงขนาด 2.4 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังทดสอบและปรับเทียบค่าก่อนใช้งานจริง ซึ่งคาดว่าปลายปี 2555 นี้จะสามารถใช้งานได้ นอกจากนี้เรายังมีหอดูดาวแห่งแรกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2228 ซึ่งปัจจุบันคือวัดสันเปาโลที่เหลือเพียงซากและโครงสร้างบางส่วนเท่านั้น และเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy) ทาง สดร.จึงกำหนดให้วัดดังกล่าวเป็นหนึ่งในจุดสำคัญทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของประเทศต่อไป