ความพยายามค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต หรืออาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้พบโลกใหม่ที่ทั้งขนาดและระยะทางจากดาวแม่นั้นอยู่ในตำแหน่งเหมาะเจาะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีน้ำอยู่บนดาวเคราะห์ทั้งสอง แต่ก็ยังไม่อาจบอกอะไรได้ชัดเจนนัก เพราะระยะทางที่ไกลถึง 1,200 ปีแสงนั้นเกินความสามารถในการตรวจสอบของกล้องโทรทรรศน์ในปัจจุบัน
รายงานการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science) ซึ่งนักวิจัยมองการค้นพบนี้เป็นการค้พบที่น่าตื่นเต้น โดยทางบีบีซีนิวส์รายงานความเห็นจาก บิล โบรุคกี (Bill Borucki) หัวหน้าทีมวิจัยจากโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่า และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะทั้งสองมีความเหมาะเจาะในเงื่อนไขที่จะเป็นดาวเคราะห์ในเขตที่สิ่งมีชีวิตน่าจะอาศัยอยู่ได้ (habitable planets) มากที่สุดเท่าที่พบมา
ทั้งนี้ นับแต่ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2009 กล้องเคปเลอร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 100 ดวง ส่วน 2 ดวงล่าสุดนี้พบอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์ 5 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ซึ่งค่อนข้างมีขนาดเล็กกว่า เย็นกว่าและแก่กว่าดวงอาทิตย์ของเราที่เรียกว่า ดาวฤกษ์เคปเลอร์-62 (Kepler-62) ซึ่งหากมองขึ้นไปบนท้องจะอยู่ในตำแหน่งกลุ่มดาวพิณ (Lyra) โดยดาวเคราะห์ทั้งสองมีชื่อว่า เคปเลอร์-62อี (Kepler-62e) และ เคปเลอร์-62เอฟ (Kepler-62f)
ดาวเคราะห์ใหม่นี้อาจจัดอยู่ในข่าย “ซูเปอร์เอิร์ธ” (super-Earth) เพราะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ของเส้นผ่านศูนย์กลางโลก แต่ขนาดไม่สำคัญเพราะนักวิจัยชี้ว่าทั้งคู่เป็นดาวเคราะห์หินเหมือนโลก หรือมีองค์ประกอบเกือบจะเป็นน้ำแข็งทั้งหมด และยังแสดงให้เห็นว่าเล็กเกินกว่าจะเป็นดาวเคราะห์ก๊าซเหมือนดาวเนปจูนและและดาวพฤหัสบดี
นอกจากนี้เคปเลอร์-62อี และเคปเลอร์-62เอฟ ยังอยู่ในตำแหน่งพอเหมาะจากดาวแม่ ซึ่งทำให้ได้รับพลังงานในปริมาณที่พอดี ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป และบริเวณรอบๆ ดาวเคราะห์ยังจัดอยู่ใน “โซนโกลดิล็อคส์” (Goldilocks Zone) หรือเขตที่อาศัยอยู่ได้ ซึ่งทีมวิจัยระบุว่าด้วยชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้ใคร่ครวญได้ว่า ดาวเคราะห์สองดวงนี้อาจจะมีน้ำในรูปของเหลวอยู่ในปริมาณที่พอเพียง ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าน้ำในรูปของเหลวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิต
ด้าน ลิซา คาลเตเนกเกอร์ (Lisa Kaltenegger) ผู้เชี่ยวชาญด้านชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบ (exoplanet) จากสถาบันศึกษาดาราศาสตร์มักซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Astronomy) ในไฮเดลเบิร์ก เยอรมนี และสมาชิกกลุ่มวิจัยกล่าวว่า ในการแถลงถึงการเป็นแหล่งอาศัยอยู่ได้ของดาวเคราะห์นั้นมักจะเป็นการคาดคะเน อย่างเช่นกรณีของเคปเลอร์-62อี และ เคปเลอร์-62เอฟ ทีมของเธอก็อนุมานว่าทั้งคู่เป็นดาวเคราะห์ โดยมีรัศมีของดาวเคราะห์เป็นสิ่งชี้วัด
“ขอให้เราอนุมานต่ออีกว่า ดาวเคราะห์ทั้งสองมีน้ำอยู่ และมีองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศคล้ายคลึงกับโลก ที่ถูกปกคลุมหนาแน่นไปด้วยไนโตรเจน และมีน้ำกับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นดาวเคราะห์ทั้งสองจะมีน้ำอยู่ที่พื้นผิวได้ โดยเคปเลอร์-62เอฟจะได้รับพลังงานรังสีจากดาวแม่น้อยกว่าพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ ดังนั้น ดาวเคราะห์ดวงนี้จำเป็นต้องมีก๊าซเรือนกระจกแย่างเช่นคาร์บอนไดออกไซ์มากกว่าโลก เพื่อรักษาสภาพไม่ให้เป็นดาวน้ำแข็ง ส่วนเคปเลอร์-62อี นั้นอยู่ใกล้ดาวแม่มากกว่า และต้องการเมฆปกคลุมมากกว่าสำหรับสะท้อนพลังงานรังสีจากดาวแม่บางส่วนออกไป เพื่อให้ยังคงมีน้ำเหลวอยู่ที่พื้นผิว” คาลเตเนกเกอร์อธิบาย
ตอนนี้ยังไม่มีดาวเคราะห์ดวงไหนได้รับการยืนยันว่ามีน้ำหรือสิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ และยังเร็วไปสำหรับเทคโนโลยีทุกวันนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ากล้องโทรทรรศน์ในอนาคตอาจจะมองทะลุแสงอันเจิดจ้าของดาวแม่เพื่อเก็บข้อมูลแสงอันเลือนรางที่ผ่านชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์เล็กๆ เหล่านั้นออกมาถึงโลก หรืออาจเป็นแสงที่สะท้อนมาจากพื้นผิวของดาวเอง อีกทั้งยังอาจทำให้เราตรวจพบสัญญาณเคมีที่สัมพันธ์กับก๊าซจำเพาะในบรรยากาศ และอาจจะเห็นไปถึงกิจกรรมบนพื้นดินของดาว ซึ่งในอดีตก็มีความพยายามจะตรวจหาเครื่องหมายของคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารสีในพืชที่มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสง
ด้าน ดร.ซูซานน์ ไอเกรน (Dr.Suzanne Aigrain) อาจารย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) กล่าวว่า การทดลองภาคพื้นดินและปฏิบัติการทางอวกาศที่วางแผนไว้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้น จะให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากขึ้น เกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลๆ คล้ายกับดาวเคราะห์ที่ทีมกล้องเคปเลอร์ประกาศ โดยนักดาราศาสตร์ต้องการชี้ชัดถึงมวลของดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่กล้องเคปเลอร์ไม่สามารถระบุได้ชัด และเก็บข้อมูลรัศมี ระบุลักษณะของระบบดาวและดาวเคราะห์แต่ให้ได้ละเอียดมากกว่านี้ รวมทั้งเก็บข้อมูลองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศด้วย
ระหว่างนี้กล้องเคปเลอร์ก็ทำหน้าที่นับจำนวนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะต่อไป โดยกล้องยังติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีเคยมีการส่งกล้องโทรทรรศน์ขึ้นไปในอวกาศ และวัดการมีอยู่ของดาวเคราะห์โดยการมองหาเงาน้อยๆ ที่เป็นผลจากการที่ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ตัดหน้าดาวฤกษ์ในระบบ