xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งมีชีวิตสุดท้ายบนโลกคือ...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่จะเหลือบนโลกคือ จุลินทรีย์ ที่ทนสภาพสุดหฤโหดบนโลกได้หลังได้รับอิทธิพลจากดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างมากขึ้น (บีบีซีนิวส์)
สิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่จะเหลือบนโลกคือ “จุลินทรีย์” ซึ่งหลายคนอาจพอเดาได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาให้แน่ชัดกว่า โดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ประมวลผลพบว่าอีกหลายพันล้านปีข้างหน้าต่อจากนี้ สิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่จะเหลือบนโลกคือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ดังกล่าวที่อาศัยอยู่ใต้ดิน

ทีมวิจัยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ว่าหลังจากที่ดวงอาทิตย์ของเราใหญ่ขึ้นและเจิดจ้ามากกว่าที่เป็นอยู่ในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร บีบีซีนิวส์ระบุว่าพวกเขาพบว่า จะมีเพียงจุลินทรีย์ที่จะต่อกรกับสภาพอันสุดหฤโหดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ได้

แจ็ค โอ'มัลลีย์ เจมส์ (Jack O'Malley James) จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ (University of St Andrews) ในสกอตแลนด์ ในสภาพอนาคตข้างหน้านั้นจะมีออกซิเจนเหลืออยู่ไม่มาก จุลินทรีย์เหล่านั้นต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำหรือไม่มีเลย มีความดันสูงและอยู่ท่ามกลางความเค็มของเกลือสูง เพราะมหาสมุทรระเหยเป็นไอ

อนาคตของสิ่งมีชีวิตบนโลกผูกติดกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเวลาที่ล่วงเลยไปมากเท่าไหร่ ดวงอาทิตย์ของเราก็ยิ่งส่องแสงเจิดจ้าเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเซนต์แอนดรูวส์ ดันดี และเอดินบะระ ในสก็อตแลนด์ จึงใช้ข้อเท็จจริงนี้เพื่อพยากรณ์สภาพแวดล้อมในอนาคตของโลกเรา ซึ่งในเวลาเป็นพันล้านปีนั้น ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะยิ่งร้อนแรงขึ้น น้ำในมหาสมุทรก็จะเริ่มระเหย

โอ'มัลลีย์ เจมส์ ซึ่งยังศึกษาปริญญาเอกอยู่นั้นอธิบายว่า การที่น้ำมหาสมุทรระเหยนั้นทำให้มีน้ำในบรรยากาศมากขึ้น และเนื่องจกไอน้ำนั้นเป็นก๊าซเรือนกระจกอย่างหนึ่ง ก็จะกลายเป็นปัจจัยเดินผลกระทบจากภาวะเรือนกระจก และท้ายสุดโลกจะร้อนขึ้นไปถึง 100 องศาเซลเซียส หรืออาจจะมากกว่านั้น บวกกับสิ่งที่เราทำในปัจจุบันเข้าไปด้วย และเมื่อรวมปัจจัยเรื่องระดับออกซิเจนที่ลดลง ก็จะนำไปสู่การการสูญพันธุ์ของพันธุ์และสัตว์ใหญ่อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นไม่นานจะเหลือเพียงกลุ่มจุลินทรีย์ที่เรียกว่า “เอกซ์ตรีโมไฟล์” (extremophiles) ที่เหลือรอด

จุลินทรีย์ดังกล่าวพบได้ในบนโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้จะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ทนต่อความร้อน ความแห้งแล้งและบรรยากาศอันเป็นพิษของโลกในอนาคต พวกเขายังเชื่ออีกว่า จุลินทรีย์พันธุ์อึดนี้จะรวมกลุ่มกันอยู่รอบๆ น้ำหยดสุดท้ายที่อยู่ใต้ดิน

สุดท้ายเมื่อสภาพแวดล้อมเลวร้ายอย่างถึงที่สุดพวกมันก็จะหายไปจากโลกเช่นกัน และประมาณ 2.8 พันล้านปีข้างหน้า โลกจะปราศจากสิ่งมีชีวิตอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การศึกษาการอุบัติและล่มสลายของชีวิตบนดาวเคราะห์ของเรานั้น จะให้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดได้ที่ใดบ้างในเอกภพ

“หากคุณหาดาวเคราะห์คล้ายโลก และบันทึกภาพชั่วขณะของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวดาวนั้น คุณจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์ มากกว่าจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายซับซ้อนอย่างที่เราเห็นบนโลกทุกวันนี้” โอ'มัลลีย์ เจมส์ บอกทางบีบีซีนิวส์

นักวิจัยยังบอกอีกว่า เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงน้อยๆ ของอัตราส่วนก๊าซในบรรยากาศ และเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถตรวจวัดการดำรงอยู่ของจุลินทรีย์เหล่านั้นบนดาวเคราะห์คล้ายโลก ซึ่ง โอ'มัลลีย์ เจมส์กล่าวว่า สิ่งที่ชี้วัดได้ดีอย่างหนึ่งคือ “ก๊าซมีเทน” ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและระดับของก๊าซดังกล่าวว่าจะสามารถตรวจวัดจากชั้นบรรยากาศได้หรือไม่ หากเราสามารถเก็บข้อมูลระดับก๊าซที่เจือจางเหล่านี้ในดาวเคราะห์ที่อยู่แสนไกลได้ เราก็อาจจะตรวจหาจุลินทรีย์ดังกล่าวได้







กำลังโหลดความคิดเห็น