xs
xsm
sm
md
lg

เจอดาวเคราะห์มวลเท่าโลก แต่พื้นผิวเดือดกว่า 2,000 C

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดเผยแพร่โดยนาซา แสดงมุมมองที่น่าจะเป้นของดาวเคราะห์เคปเลอร์-78บีที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก จนเห็นดาวฤกษ์อย่างใกล้ชิดจนถึงครึ่งฟ้า (เอเอฟพี/นาซา)
นักดาราศาสตร์เจอดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมีมวลเท่าโลก แต่มีพื้นผิวเดือดกว่า 2,000 องศาเซลเซียส ทว่าแม้โลกอื่นจะไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิต แต่กลับเป็นสัญญาณดีถึงโอกาสที่จะได้ค้นพบดาวเคราะห์อื่นซึ่งคล้ายโลก

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีการยืนยันว่ามีความหนาแน่นและมวลเหมือนโลกนั้นคือดาวเคราะห์เคปเลอร์-78บี (Kepler-78b) โดยเอเอฟพีรายงานว่า 2 ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงมวลของดาวเคราะห์ดวงนี้ในวารสารเนเจอร์ (Nature) อย่างแตกต่างกัน

ทีมหนึ่งรายงานว่าเคปเลอร์-78บีมีมวล 1.69 เท่าของโลก ส่วนอีกทีมระบุว่ามีมวล 1.86 เท่าของโลก ส่วนการคำนวณความหนาแน่นนั้นพวกเขาคำนวณออกมาได้เป็น 5.3 และ 5.57 กรัมต่อลูกบาศก์เซ็นติเมตร ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับโลกที่มีความหนาแน่น 5.5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร


: ภาพเปรียบขนาดของโลกกับดาวเคราะห์นอกระบบเคปเลอร์-78บี (David A. Aguilar / Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics)


ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังบอกเป็นนัยอีกว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีรัศมี และองค์ประกอบเป็นหินและเหล็กเหมือนโลกด้วย แต่กลับใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองในเวลาสั้นๆ เพียง 8.5 ชั่วโมง

เป้าหมายของการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะคือ การค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต และโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ ซึ่ง เดรค เดมิง (Drake Deming) จากภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) สหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัยระบุความเห็นลงในวารสารเนเจอร์ว่า การค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้ เป็นการปูทางไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์อื่นที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้

ในช่วงแรกๆ ดาวเคราะห์นอกระบบส่วนใหญ่ที่ค้นพบมักเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ ซึ่งโคจรแบบเฉียดใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเอง จนกระทั่งองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler space telescope) ที่มีภารกิจในการล่าดาวเคราะห์โดยเฉพาะ ขึ้นไปเมื่อปี 2009 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบดาวเคราะห์หินและดาวเคราะห์น้ำแข็งหลายพันดวง

ขนาดของดาวเคราะห์เหล่านี้วัดจากปริมาณแสงที่ถูกกั้นเมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ ซึ่งเดมิงระบุไว้ในรายงานของเนเจอร์ว่า กล้องเคปเลอร์ได้เผยให้เห็นว่ามีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกอยู่เหลือเฝือ ทว่าการวิเคราะห์องค์ประกอบของดาวเคราะห์ยังเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก

การที่เคปเลอร์-78บี อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก ทำให้ง่ายต่อการวัดปรากฏการณ์เคลื่อนดอปเปลอร์ (Doppler shift) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์อันเป็นผลจากแรงโน้มถ่วง แต่เดมิงระบุว่าการออกแรงให้เกิดปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ของดาวเคราะห์คล้ายโลกนี้ก็ต้องแลกมาด้วยสภาพแวดล้อมที่สุดหฤโหด

“มุมมองจากพื้นผิวเคปเลอร์-78บี จะถูกครอบไปด้วยแถบอันเจิดจ้าของดาวฤกษ์จากขอบฟ้าขึ้นไปจุดกลางฟ้า จากความเข้าใจที่มีอยู่ในปัจจุบัน โอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนสิ่งแวดล้อมแบบนั้นมีค่าเป็นศูนย์” เดมิงระบุ ซึ่งตามความเข้าใจที่มีอยู่การจะเป็นแหล่งอาศัยสำหรับสิ่งมีชีวิตได้ และยอมให้มีน้ำอยู่ในรูปของเหลวไหลเวียนได้ ดาวเคราะห์นั้นต้องมีระยะห่างจากดาวฤกษ์ของตัวเอง ที่ทำให้อุณหภูมิพิ้นผิวไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป

อย่างน้อยที่สุดดาวเคราะห์เคปเลอร์-78บี ก็เป็นสัญญาณที่ทำให้ใจชื้นว่า การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตนั้นไม่ไร้ค่า เพราะได้แสดงให้เห็นว่ามีดาวเคราะห์อื่นคล้ายโลกที่มีองค์ประกอบเป็นหินและเหล็ก และเดมิงยังกล่าวอีกว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงก้าวกระโดดสำคัญในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ

นอกจากนี้ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์อาศัยข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ ระบุว่าในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรานั้นมีดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่าโบกอย่างน้อน 1.7 หมื่นล้านดวง และดูเหมือนจะมีมากกว่านั้นอีกมาก







กำลังโหลดความคิดเห็น