xs
xsm
sm
md
lg

ลองดู...เก็บภาพจันทร์เคียงดาวพฤหัสบดีพร้อมบริวาร

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพดวงจันทร์เคียงดาวพฤหัสบดีและ ดวงจันทร์บริวาร ถ่ายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งวันดังกล่าว ดวงจันทร์อยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีไม่เกิน 1 องศา ซึ่งถ่ายภาพด้วยเทคนิค Black Card Photography (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / + Takahashi TOA150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : 7.3 / ISO : 200 / Exposure :1/400s)
หลังจากที่ช่วงนี้ท้องฟ้าไม่เป็นใจให้ถ่ายภาพเอาซะเลย ก็เลยลองค้นหาภาพที่เคยถ่ายไว้ในช่วงก่อนๆ และนึกขึ้นได้ว่า เคยถ่ายภาพดวงจันทร์เคียงดาวเคราะห์ไว้ภาพหนึ่งเลยยกมาเขียนเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้ครับ

สำหรับภาพดวงจันทร์เคียงดาวพฤหัสบดีนี้ อาจเรียกว่าเป็นความโชคดีของการเฝ้ามองท้องฟ้าบ่อยๆ โดยก่อนที่ผมจะถ่ายภาพนี้ ล่วงหน้า 1 วัน ผมก็แหงนมองท้องฟ้าดูดาวดูดวงจันทร์เหมือนเช่นทุกวัน และบังเอิญเห็นว่าดวงจันทร์อยู่ห่างดาวพฤหัสบดีประมาณสิบกว่าองศา ในทางทิศตะวันตกของดาวพฤหัสบดี และยังเป็นช่วงข้างขึ้น 7 ค่ำ ซึ่งจากความรู้ทางดาราศาสตร์ในหัวของผมก็สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า วันพรุ่งนี้ดวงจันทร์จะต้องเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งมาใกล้กับดาวพฤหัสบดีแน่นอน เนื่องจากดวงจันทร์จะมีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งวันละประมาณ 13 องศา ซึ่งเปลี่ยนตำแหน่งยังไงนั้นมาทความเข้าใจกันก่อนครับ

ทำความเข้าใจกันก่อน
ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกจากตะวันตกไปตะวันออก โดยเคลื่อนไปทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวของโลก ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลก 1 รอบในเวลา 27.3 วัน

ในเวลา 27.3 วัน ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกได้เป็นมุม 360 องศา
ในเวลา 1 วัน ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกได้เป็นมุม 360/27.3 หรือประมาณ 13 องศา

ดังนั้น เมื่อดูจากโลกจะเห็นดวงจันทร์อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดเดิมวันละประมาณ 13 องศา ซึ่งเทียบเท่ากับเวลาที่โลกหมุนประมาณ 52 นาที ดังนั้น ดวงจันทร์จะขึ้นช้าวันละประมาณ 52 นาที

อุปกรณ์ถ่ายภาพอะไรที่เหมาะกับภาพนี้
หลังจากวันก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ ผมก็เฝ้ารอดวงจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้าและแล้วในช่วงหัวค่ำจากที่คาดการณ์ไว้ มันก็เป็นไปตามที่คิดไว้ โดยตำแหน่งของดวงจันทร์เคลื่อนที่มาใกล้กับดาวพฤหัสบดีค่อนข้างมาก ซึ่งห่างกันไม่เกิน 1 องศา เพียงเท่านั้น

สิ่งที่คิดตามมาก็คือ แล้วอุปกรณ์ที่จะใช้ในการถ่ายภาพหล่ะจะใช้กล้องตัวไหน ถ่ายกับเลนส์ทางยาวโฟกัสเท่าไหร่ หรือจะถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ตัวไหน ถึงจะได้มุมมองภาพ (Field of view) ที่เก็บภาพได้พอดี ไม่เล็กไป ไม่ใหญ่จนล้นเฟรมภาพเกินไป (สามารถคำนวณมุมมองภาพได้ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.12dstring.me.uk/fov.htm) และจากการประมาณค่ามุมองภาพ (Field of view) ของกล้องถ่ายภาพ Canon 5D Mark ll เมื่อถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ Takahashi TOA150 ทางยาวโฟกัส 1100 mm. พบว่ามุมมองของภาพสามารถถ่ายภาพได้ทั้งดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีได้เต็มเฟรมภาพพอดี นั่นหมายถึงจะสามารถถ่ายภาพได้ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดได้ดีทีเดียว
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพดวงจันทร์เคียงดาวพฤหัสบดี โดยเลือกใช้กล้องดิจิตอล แบบ Full Frame ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัส 1100 mm. โดยคำนวณมุมมองภาพให้ได้ภาพที่มีขนาดใหญ่เต็มเฟรมภาพพอดี เพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดของภาพให้ได้มากที่สุด
เทคนิคไหนดี ที่จะเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด
นอกจากอุปกรณ์แล้ว อีกสิ่งที่ต้องคิดล่วงหน้าก็คือ เทคนิคและวิธีการ ครั้งนี้ว่าจะใช้เทคนิคอะไรถึงจะเก็บรายละเอียดของทั้งดวงจันทร์ ดวงพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี ได้ทั้งหมด

สิ่งที่คิดในหัวตอนนั้น ?
ถ้าวัดแสงที่ดวงจันทร์พอดี แล้วดาวพฤหัสบดีกับดวงจันทร์บริวาร หล่ะ มันจะมืดจนขาดรายละเอียดหรือไม่เห็นหรือไม่

ถ้าวัดแสงที่ดาวพฤหัสบดีพอดี แล้วดวงจันทร์หล่ะ มันจะสว่างจนโอเวอร์มากเกินไปหรือปล่าว

แล้วดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีหล่ะ จะถ่ายยังไงให้เห็นทั้ง 4 ดวง โดยที่ดวงจันทร์ และดาวพฤหัสบดีไม่สว่างโอเวอร์

ทั้งหมดนี้เราจะใช้เทคนิคอะไรบ้างหล่ะ เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดครบทั้งดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวาร ครบทั้ง 3 อย่างได้แสงที่พอดีทั้งหมด โดยภาพไม่สว่างโอเวอร์จนขาดรายละเอียด ซึ่งเทคนิคที่คิดว่าน่าจะใช้ถ่ายภาพนี้ได้มีดังนี้

เทคนิค HDR (High Dynamic Range) คือ การรวมภาพหลายๆ ภาพ ที่ถ่ายภาพมุมเดียวกัน ให้มีการชดเชยแสงที่แตกต่างกัน อย่างน้อง 3 ภาพขึ้นไป แล้วนำภาพมารวมกัน (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.manager.co.th/science/viewnews.aspx?NewsID=9550000056161)

เทคนิค Black Card Photography คือ การใช้การ์ดสีดำด้าน หรือกระดาษดำด้าน มาบังในเฉพาะส่วนของภาพที่ต้องการลดความสว่างของวัตถุนั้นๆ
ภาพตัวอย่างเทคนิค Black Card Photography โดยการใช้กระดาษดำด้านมาบังในส่วนที่ต้องการลดความสว่างของภาพ
เทคนิค Black Card Photography คือคำตอบ
จากที่ลองถ่ายภาพด้วยเทคนิคที่กล่าวมาข้างต้น บทสรุปของภาพดวงจันทร์เคียงดาวพฤหัสบดีนี้ก็คือ เทคนิค Black Card Photography ซึ่งค่อนข้างจะตอบโจทย์กับภาพนี้ได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งเทคนิคนี้อาจต้องทดลองเอาการ์ดดำมาบังแสงแล้วสังเกตผ่านช่องมองภาพหรือจอภาพหลังกล้อง ( Live View) ว่าแสงในส่วนที่เราต้องการให้ลดลงนั้น มืดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจใช้เวลาสักหน่อยในการลองผิดลองถูกหากบังมากเกินไปก็ภาพก็จะมืดไปเลยก็ได้ แต่ก็ไม่ยากเย็นนัก

สิ่งที่ได้สำหรับภาพในคอลัมน์นี้ก็ออกมาในอย่างที่ผมคิดไว้ ทั้งนี้ ภาพถ่ายไม่สามารถจบหลังกล้องได้เลยทีเดียว เพราะสุดท้ายมันก็หนีไม่พ้นการปรับแต่งส่วนมืด ส่วนสว่าง ในโปรแกรมแต่งภาพ เช่น Photoshop หรือ Lightroom ถึงจะได้ออกมาดังกล่าวครับ ดังนั้น การติดตาม วางแผน เฝ้ามอง ลองถ่าย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเพิ่มโอกาสในการได้ภาพสวยๆ ได้ครับ





เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น