xs
xsm
sm
md
lg

Earth Shine ฉายแสงโลกหลังวัดพระธาตุดอยสุเทพ

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) เหนือวัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 9 กันยายน 2556 (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi FSQ85 ED + Teleconverter 1.5x / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 1600 / Exposure : 0.8s)
ในคืนวันที่ 9 เดือน 9 ที่ผ่าน หลังจากพายุฝนผ่านพ้นไป ท้องฟ้าในเมืองเชียงใหม่กลับมีทัศนวิสัยที่ดีเอามากๆ จนสามารถมองเห็นปรากฏการ์แสงโลก หรือที่เราเรียกกันว่า Earth Shine อย่างชัดเจน จนผมและใครหลายๆ คนที่ได้เห็น ไม่อาจห้ามใจไม่เอากล้องออกมาถ่ายภาพกัน

สำหรับตัวผมเองหากคิดว่าจะถ่ายแต่เพียงปรากฏการณ์ Earth Shine อย่างเดียว ภาพที่ได้ในวันนั้น คงไม่ต่างจากภาพปรากฏการณ์ Earth Shine ที่ผมเคยถ่ายไว้ ดังนั้น ผมจึงตั้งโจทย์การถ่ายภาพครั้งนี้ให้มีความยากขึ้นอีกนิด โดยการเลือกถ่ายภาพดวงจันทร์ ข้างขึ้น 4 ค่ำ ขณะเกิดปรากฏการณ์ Earth Shine ให้ตรงกับตำแหน่งหลังวัดพระธาตุดอยสุเทพ

หากถ่ายปรากฏการณ์ Earth Shine ในช่วงข้างขึ้น 4 ค่ำ ให้เห็นเหมือนกับที่ตาเรามองเห็น เสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ คงสว่างโอเวอร์เอามากๆ ดังนั้น ถ้าหากดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปอยู่บริเวณหลังวัดพระธาตุฯ ก็จะทำให้แสงบริเวณเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ลดลงได้บ้าง และทำให้ภาพดูมี "อะไร" มากขึ้นด้วย

ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย สิ่งแรกที่ผมทำ คือการหาตำแหน่งจุดถ่ายภาพที่จะสามารถเห็น
ดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปตรงกับบริเวณหลังวัดพระธาตุฯ ซึ่งเทคนิคนี้ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ตกหลังพระธาตุดอยสุเทพซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ตามลิงค์ครับ (http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000060143)

ทีนี้ก็มาถึงส่วนของอุปกรณ์ที่ผมเลือกใช้ในการถ่ายภาพครั้งนี้
1. กล้องถ่ายภาพดิจิทัล หากเลือกได้ ก็ต้องขอบอกว่าเอาแบบที่สามารถใช้ค่าความไวแสงได้สูงๆ จะดีกว่า และที่สำคัญหากเป็นกล้องที่มีสัญญาณรบกวนต่ำก็จะดีมากๆ ครับ

2. เลนส์ซูปเปอร์เทเลโฟโต้ หากสามารถหาเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากๆ ได้ ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบในการถ่ายภาพดวงจันทร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราจะได้เปรียบทั้งรายละเอียดของภาพ และความสามารถในการควบคุมแสงของภาพ รวมทั้งกำลังการแยกภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย

ผู้ที่มีงบประมาณที่จำกัด ก็สามารถทำกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสมากๆ เองได้ ตามลิงค์ครับ (http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000120468) หรืออาจเลือกซื้อเลนส์แบบกระจก ราคาไม่กี่พันก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่พอจะมีงบประมาณ
ตัวอย่างเลนส์เลนส์ Telephoto แบบกระจก Mirror Lens หรือ Reflex Lens ของ Samyang 500mm. ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนักประมาณ 6,000 – 7,000 บาท เท่านั้น
3. ขาตั้งกล้อง ต้องย้ำว่าต้องมั่นคง เพราะหากขาตั้งไม่นิ่งแล้วหล่ะก็มีหวังภาพเบลอแน่นอน เพราะเราต้องถ่ายภาพที่ชัตเตอร์ต่ำๆ
4. สายลั่นชัตเตอร์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้เราไม่ต้องสัมผัสกับกล้องโดยตรงช่วยให้กล้องไม่สั่นไหวขณะลั่นชัตเตอร์
ภาพปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) หลังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นแสงจางๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ได้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi FSQ85 ED + Teleconverter 1.5x / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 1600 / Exposure : 1.3s)
ทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine)
​ถ้าเราสังเกตดวงจันทร์ในข้างขึ้นและข้างแรมในคืนวันดังกล่าว เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นทรงกลมมีแสงอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง เราจะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ แบบขึ้น 1 - 3 ค่ำ หรือ แรม 12 - 14 ค่ำ (แสงจากดวงอาทิตย์) ส่วนที่ 2 ที่ด้านมืดของดวงจันทร์ (ไม่ได้รับแสงของดวงอาทิตย์โดยตรงแต่จะได้รับแสงสะท้อนจากผิวโลกซึ่งที่ผิวโลกจะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง)

ดังนั้น เรามองดวงจันทร์ด้านที่เป็นกลางคืน มนุษย์บนโลกจะสังเกตเห็นแสงจางๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ แสงนี้ก็คือ แสงโลกนั่นเอง หรือที่เราอาจคุ้นหูกันว่า “ปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine)” ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ ปรากฏการณ์แสงโลกเกิดจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนกับผิวโลกไปยังดวงจันทร์ และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นแสงจางๆจากด้านกลางคืนของดวงจันทร์
ภาพปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine)  เหนือวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยสามารถสังเกตเห็นสีแดงอิฐ บริเวณส่วนมืดของดวงจันทร์ ซึ่งเกิดจากการหักเหของ เหมือนกับที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา นั่นเอง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi FSQ85 ED + Teleconverter 1.5x / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 1600 / Exposure : 1.3s)
เทคนิคและวิธีการ
​หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์การถ่ายภาพ และหาสถานที่ถ่ายภาพได้แล้ว เราก็มาพูดกันถึงเทคนิคและวิธีการกันบ้าง สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพปรากฏ Earth Shine นั้น เราจะต้องถ่ายภาพให้ออกมาเหมือนกับที่ตาเรามองเห็นให้ได้

​โดยขณะการถ่ายภาพ ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ตลอดเวลาอย่างช้าๆ ดังนั้นเวลาในการถ่ายภาพก็ไม่ควรจะเกิน 2 วินาที เพื่อป้องกันไม่ให้ดวงจันทร์เบลอ โดยเลือกปรับค่าความไวแสง (ISO) ชดเชย เพื่อให้ได้รายละเอียดของพื้นที่ส่วนมืดของดวงจันทร์ และอย่างลืมลั่นชัตเตอร์ด้วยสายลั่นนะครับ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับกล้องให้น้อยที่สุด ป้องกันการสั่นไหว

สำหรับการโฟกัสภาพ ให้เลือกจุดโฟกัสบริเวณพื้นผิวดวงจันทร์ โดยเปิดระบบ Live View แล้วซูมภาพหลังกล้องเพื่อช่วยในการปรับโฟกัส โดยดูจากความคมชัดของหลุมบนดวงจันทร์เป็นหลัก ซึ่งจุดนี้สำคัญมากครับ เพราะหากเราถ่ายภาพได้นิ่งสุดแล้วแต่กลับโฟกัสภาพเบลอ สิ่งที่ถ่ายมาทั้งหมดก็...จบข่าว...
ภาพแสดงการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ ขณะกำลังตกลับหลังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ดวงจันทร์ก็เคลื่อนลับขอบฟ้าไป ทำให้การถ่ายภาพจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ควรเกิน 2 วินาที ต่อ 1 ภาพ
สำหรับช่วงนี้ ก็ยังถือว่าเป็นฤดูฝนการจะออกไปถ่ายภาพก็อาจมีอุปสรรคเรื่องลมฟ้าอากาศ อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าใกล้ฤดูแห่งการออกล่าภาพถ่ายในช่วงฤดูหนาวกันมาทุกที ใครที่เก็บกล้องไว้ก็ลองเอาออกมาทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์แล้วในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ผมจะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่หน้าตื่นเต้นมาบอกกล่าวกัน รับรองว่าปลายปีนี้มีอะไรให้ถ่ายกันแน่นอนครับ



เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







ขุดภาพเก่ามาเล่า...ทำดาวให้มีหาง
ขุดภาพเก่ามาเล่า...ทำดาวให้มีหาง
สำหรับคอลัมน์นี้ เราจะมาพูดกันถึงเรื่องการนำเอาภาพเส้นแสงดาวเก่าๆ ที่เราอาจเคยถ่ายไว้มาลองทำภาพกันใหม่อีกครั้ง แต่ความพิเศษมันอยู่ที่เป็นการทำภาพที่ถ่ายเส้นแสงดาวไว้ในเวลาสั้นๆ ให้น่าสนใจมากขึ้น หลายๆ ครั้งที่เราตั้งใจออกไปถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือที่เรียกว่าทั่วไปว่า Startrails โดยวางแผนว่าต้องถ่ายให้ได้เส้นแสงดาวยาวๆ ซึ่งนั้นหมายถึงทัศนวิสัยของท้องฟ้าจะต้อง “เคลียร์” กว่า 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่หลายๆ ครั้งเรามักพบกับความผิดหวัง และมีเวลาถ่ายภาพเส้นแสงดาวได้เพียงไม่กี่สิบนาที แล้วทิ้งภาพเหล่านั้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น