xs
xsm
sm
md
lg

ขุดภาพเก่ามาเล่า...ทำดาวให้มีหาง

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพเส้นแสงดาวตก ทางทิศตะวันออก โดยใช้เวลาในการถ่ายภาพ 20 นาที ภาพละ 30 วินาที จำนวน 40 ภาพ ประมวลผลภาพโดย StarStaX V.0.60 (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon FishEye 15 mm f/2.8 / Focal length : 15 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30s จำนวน 40 ภาพ)
สำหรับคอลัมน์นี้ เราจะมาพูดกันถึงเรื่องการนำเอาภาพเส้นแสงดาวเก่าๆ ที่เราอาจเคยถ่ายไว้มาลองทำภาพกันใหม่อีกครั้ง แต่ความพิเศษมันอยู่ที่เป็นการทำภาพที่ถ่ายเส้นแสงดาวไว้ในเวลาสั้นๆ ให้น่าสนใจมากขึ้น หลายๆ ครั้งที่เราตั้งใจออกไปถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือที่เรียกว่าทั่วไปว่า Startrails โดยวางแผนว่าต้องถ่ายให้ได้เส้นแสงดาวยาวๆ ซึ่งนั้นหมายถึงทัศนวิสัยของท้องฟ้าจะต้อง “เคลียร์” กว่า 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่หลายๆ ครั้งเรามักพบกับความผิดหวัง และมีเวลาถ่ายภาพเส้นแสงดาวได้เพียงไม่กี่สิบนาที แล้วทิ้งภาพเหล่านั้นไป

วันนี้เรามาผลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ผมขอแนะนำซอฟท์แวร์ที่เราใช้กันบ่อยในการต่อภาพเส้นแสงดาว คือ Startrails V.2.3 for Window และ StarStaX V.0.60 for Mac โดยเวอร์ชันใหม่นี้ทั้งสองซอฟท์แวร์จะมีฟังก์ชัน ที่สามารถทำดาวหาง หรือดาวตกได้ครับ ดังนั้น ตอนนี้หากใครที่มีภาพเส้นแสงดาวเก่าที่ถ่ายได้เพียงไม่กี่สิบภาพก็ลองเอาออกมาทำเล่นกันดูได้นะครับ รับรองว่าภาพเส้นแสงดาวสั้นๆ ของคุณจะดูน่าสนใจขึ้นมากเลยครับ ก่อนหน้านี้ช่างภาพต่างประเทศเค้าฮิตใช้เทคนิคนี้กันพอสมควร เอาละครับมาลองดูกันว่าฟังก์ชันที่กล่าวมานี้ทำอย่างไร

ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์กันก่อนเลย
StarStaX V.0.60 สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ทั้ง Mac OS X และ Windows ได้ตามลิงค์ http://www.markus-enzweiler.de/StarStaX/StarStaX.html
Startrails V 2.3 สามารถดาวน์โหลดใช้งานสำหรับ Windows ได้ตามลิงค์
http://www.startrails.de/html/software.html

เริ่มจากสร้างภาพดาวตกด้วยซอฟแวร์ StarStaX V.0.60
1.เปิดไฟล์ภาพ 2.เลือกภาพทั้งหมด > คลิก Open
3.เลือกคำสั่ง Lighten 4.เลือกคำสั่ง Comet Mode เพื่อทำให้เป็นเส้นดาวตก 5.เลื่อนสเกลเพื่อปรับความยาวของเส้นแสงดาวหาง 6.คลิกไอคอน
7.File > Save as ...
ภาพเส้นแสงดาวตก ทางทิศตะวันออก โดยใช้เวลาในการถ่ายภาพ 25 นาที ภาพละ 30 วินาที จำนวน 50 ภาพ ประมวลผลภาพโดย StarStaX V.0.60 (ภาพโดย : วทัญญู  แพทย์วงษ์ / Camera : Canon 450D / Lens : Sigma 8-16 mm f/4.5 / Focal length : 8 mm. / Aperture : 4.5 / ISO : 1600 / Exposure : 30s จำนวน 50 ภาพ)
โดยส่วนตัวผมแล้วผมคิดว่าภาพเส้นแสงดาวแบบดาวตกนี้ ภาพที่ถ่ายทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก ที่เส้นดาวเป็นเส้นเฉียงดูสวยกว่า ภาพที่ถ่ายทางทิศเหนือแล้วนำมาทำเป็นภาพดาวตกแบบมีหาง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวนะครับไม่ว่ากัน

สำหรับ Windows มาสร้างภาพดาวตกด้วยซอฟแวร์ Startrails V2.3
1.เปิดไฟล์ภาพ 2. คลิก Open
3.คลิกไอคอน 4.คลิกเลือกคำสั่ง Lighten 5.คลิกเลือกคำสั่ง Falling Star เพื่อทำให้เป็นภาพเส้นดาวตก 6.คลิก OK
ข้อดีของซอฟฟแวร์ Startrails V2.3 นี้ นอกจากจะสามารถทำภาพแบบดาวตกได้แล้ว ในการต่อภาพเส้นแสงดาวแบบปกตินั้น มีฟังก์ชั่นใหม่ที่สามารถทำให้ภาพที่แสงดาวมีลักษณะขาดช่วงเหมือนเส้นประ ให้สามารถต่อกันสนิทได้อีกด้วย เพียงคลิกที่ฟังก์ชัน Lighten-Screen-Blend (LSB) เท่านั้น
7.File > Save Image
ภาพเส้นแสงดาวตก ทางทิศตะวันออก โดยใช้เวลาในการถ่ายภาพ 21 นาที ภาพละ 30 วินาที จำนวน 42 ภาพ ประมวลผลภาพโดย StarStaX V.0.60 (ภาพโดย : ชนากานต์ สันติคุณาภรณ์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Nikon 14-24 mm f/2.8 / Focal length : 14 mm. / Aperture : 2.8 / ISO : 800 / Exposure : 30s จำนวน 42 ภาพ)
จากที่แนะนำข้างต้นหากใครที่ยังเก็บไฟล์เส้นแสงดาวสั้นๆ ไว้ก็ลองเอาออกมาสร้างภาพดาวตกเล่นกันดูได้ครับ ก็ถือเป็นอีกแนวทางของการสร้างสรรค์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ครับ ลองเอาไปเล่นกันดูนะครับสำหรับคอลัมน์ต่อๆ ไป ผมจะไปหาเทคนิคใหม่มาให้ลองเล่นกันอีกครับ สุดท้ายผมขอทิ้งท้ายด้วยประโยคสั้นๆ “หากหยุดคิด ชีวิตก็ไม่แตกต่าง”






เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น