xs
xsm
sm
md
lg

ภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่ใครๆ ก็ถ่ายได้

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ตัวอย่างภาพเส้นแสงดาวที่ (Startrails) ของผู้เข้ากิจกรรมซึ่งถ่ายภาพด้วยเทคนิคถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้วนำมาภาพที่ได้มาประมวลผลภาพด้วยโปรแกรม Startrailsซึ่งในวันดังกล่าวท้องฟ้ามองเห็นแสงดาวน้อยมาก แต่ผู้เข้าร่วมก็สามารถถ่ายภาพออกกมาได้อย่างสวยงาม
หลังจากการจัดฝึกอบรมถ่ายภาพทางดาราศาสตร์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมกับบริษัทแคนนอนในการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ ผมเองได้เป็นวิทยากรในการบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจครับที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ หลังจากที่ทางทีมงานประกาศรับสมัครปรากฏว่า มีผู้สนใจลงชื่อเข้าร่วม30 ท่านแรกเต็มภายใน 2 ชั่วโมง และนอกจากนั้นยังมีผู้ลงชื่อสำรองไว้อีกกว่า 50 ท่าน

งานนี้ผมและทีมเจ้าหน้าที่ก็เลยจัดเต็มแบบไม่มีกักเทคนิคกันเลยทีเดียว เท่าที่เวลาจะมีให้ครับ โดยนอกจากการแนะนำอุปกรณ์ในการถ่ายภาพรวมทั้งฟังก์ชั่นต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญของบริษัทแคนนอนแล้ว ผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้เทคนิคทางดาราศาสตร์ อาทิ การหาตำแหน่งดาวเหนือ การเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า การวัดระยะเชิงมุม ฯลฯ ซึ่งเป็นความรู้ที่เหมาะกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในระดับพื้นฐาน ในการนี้ผมได้นำตัวอย่างภาพถ่ายทางดาราศาสตร์มาใช้ในการฝึกปฏิบัติการประมวลผลภาพถ่าย ซึ่งล้วนแต่เป็นเทคนิคพื้นฐานที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นควรรู้ทั้งสิ้น

ในตอนแรกก่อนการจัดอบรมผมแอบนึกในใจว่าผู้เข้าร่วมจะเบื่อกับความรู้ทางดาราศาสตร์ที่จะบรรยายไหม จะเข้าใจกันยากไหม หรือจะชอบเทคนิคการถ่ายภาพดาราศาสตร์กันหรือไม่ แต่หลังจากอบรมเสร็จแล้วผมกลับโล่งใจ เพราะมีผู้ให้ความสนใจและชื่นชอบการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กันมากขึ้น และอยากให้จัดอีกบ่อยๆ ผมและทีมเจ้าหน้าที่หายเหนื่อยกันเลยทีเดียว เพราะหน้าที่หนึ่งของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็คือการสร้างนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในเมืองไทยให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเทคนิคและความรู้พื้นฐานต่างๆ ที่ใช้ในการบรรยายในครั้งนี้ ก็ล้วนแต่เป็นความรู้พื้นฐานของการเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น
ภาพบรรยากาศการฝึกอบรมถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ โดยรูปแบบกิจกรรมเน้นการให้ความรู้และเทคนิค รวมทั้งการฝึกปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น
                 เนื้อหาในการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วยการแนะนำอุปกรณ์การถ่ายภาพการแนะนำวิธีการและเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เช่น การถ่ายภาพเส้นแสงดาว(Startrails) โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูดาวเบื้องต้นเพื่อใช้ในการหาตำแหน่งทิศเหนือและการทำความเข้าใจกับกลไกท้องฟ้า การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า รวมทั้งการถ่ายภาพดวงอาทิตด้วยกล้องโทรทรรศน์ผ่านโซลาร์ฟิลเตอร์ (solar filter) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถถ่ายภาพจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานการสังเกตการเปลี่ยนแปลงบนดวงอาทิตย์อีกรูปแบบหนึ่งอีกด้วย
 
                ในการฝึกปฏิบัตินอกจากการถ่ายภาพในแต่ละประเภทแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งที่สำคัญในกิจกรรมนี้คือ การประมวลผลภาพถ่ายเส้นแสงดาว ด้วยซอฟแวร์ Startrailsและการประมวลผลภาพดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ด้วยซอฟแวร์ Registax ซึ่งเป็น “ฟรีแวร์” ทางดาราศาสตร์ที่สามารถดาวน์โหลดได้เอง (รายละเอียดเพิ่มเติมการประมวลผลภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าด้วย Registax http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000114250)
ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการถ่ายภาพด้วยกล้อง PVC Telescope ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสร้างเองได้ด้วยงบประมาณไม่สูงมากนัก ได้สามารถนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าได้ดีในระดับหนึ่ง (รายละเอียดเรื่อง “กล้องโทรทรรศน์” ทำเอง-บันทึกวัตถุท้องฟ้าได้จริงตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000120468))
การฝึกปฏิบัติการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ผ่านโซลาร์ฟิลเตอร์ ซึ่งเทคนิคที่แนะนำสำหรับการปรับโฟกัสภาพให้คมชัดที่สุดคือ การเลือกโฟกัสที่จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ที่ปรากฏอยู่บนผิวของดวงอาทิตย์ โดยเลือกจุดที่อยู่ใกล้ตำแหน่งกลางดวงอาทิตย์มากที่สุด และหากจะเปรียบเทียบกับการถ่ายภาพบุคคลแล้วก็คล้ายกับการโฟกัสที่ดวงตานั่นเอง เพราะหากเราใช้ขอบของดวงอาทิตย์เป็นตำแหน่งในการโฟกัสก็คงไม่ต่างกับเราโฟกัสที่ใบหูของภาพถ่ายบุคคลนั่นเอง (รายละเอียดเพิ่มเติมเทคนิคการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000148931)
 
อีกกิจกรรมหนึ่งในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ PVC Telescope ซึ่งผู้เข้าอบรมสามารถที่จะสร้างเองได้ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งเทคนิคสำคัญของการถ่ายภาพดวงจันทร์ คือการเลือกระบบโฟกัสภาพแบบเฉพาะจุด โดยเลือกโฟกัสบริเวณหลุมบนผิวดวงจันทร์ผ่านจอหลังกล้องถ่ายภาพให้คมชัดที่สุด
ตัวอย่างภาพถ่ายดวงอาทิตย์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ผ่านโซลาร์ฟิวเตอร์ โดยเน้นในเรื่องเทคนิคการโฟกัสภาพ ณ จุดบนดวงอาทิตย์ เพื่อให้ภาพคมชัดมากที่สุด
นอกจากกิจกรรมการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ในช่วงกลางวันแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งที่หลายท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ซึ่งสถานที่ในการการฝึกปฏิบัติสถานการณ์จริง เทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาว และการถ่ายภาพดวงจันทร์ เราเดินทางไป ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
 
ก่อนหน้าการจัดกิจกรรมอบรมผมและทีมเจ้าหน้าที่ได้สำรวจสถานที่ไว้ก่อนหน้าซึ่งท้องฟ้ามีความมืดพอสมควร และสามารถสังเกตเห็นดาวเหนือได้ชัดเจน แต่ในวันจริงท้องฟ้ากลับไม่เป็นใจเต็มไปด้วยควันและฟ้าหลัวทั่วท้องฟ้า แต่ผู้ร่วมกิจกรรมหลายท่านก็ไม่ท้อถอยและได้ทดลองถ่ายภาพเส้นแสงดาวรวมทั้งดวงจันทร์กันมาได้ภาพออกมาอย่างที่เห็น ซึ่งก็ถือว่าเป็นภาพแรกๆของใครหลายๆ คน และก็เป็นภาพที่ใครๆก็ถ่ายได้ครับ(รายละเอียดเพิ่มเติมเทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาว http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016487)




เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น