xs
xsm
sm
md
lg

ไทยขึ้นแท่นผู้นำดาราศาสตร์อาเซียนตั้งแต่มี “หอดูดาว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพหอดูดาวแห่งชาติบนดอยอินทนนท์ โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สดร.เผยตั้งแต่มี “หอดูดาวแห่งชาติ” งานวิจัยดาราศาสตร์ของไทยเพิ่มสูงมาก และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่ายังมีจำนวนนักวิจัยน้อยแต่จำนวนตีพิมพ์ต่อคนสูงถึงปีละ 3 เรื่อง จนได้รับฉันทมติจากสมาพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติให้เป็นศูนย์กลางสร้างเครือข่ายในภูมิภาคนี้

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นับแต่ไทยมีหอดูดาวแห่งชาติงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของไทยก็พัฒนาขึ้นมาและมีการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการที่มีดัชนีชี้วัดการยอมรับในระดับสากลสูงในเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มสูงถึงคนละ 3 เรื่องต่อปี แม้ยังมีนักวิจัยอยู่น้อยแค่ 6-7 คน

จำนวนการตีพิมพ์ผลงานดังกล่าว รศ.บุญรักษาแจงว่า เป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และทำให้ไทยเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ไทยยังได้รับฉันทามติจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ให้ไทยเป็นศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งจีน เกาหลี ญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งมีความก้าวห้นาทางด้านดาราศาสตร์สูงกว่าก็ได้ร่วมมือกับเพื่อสร้างความร่วมมือในภูมิภาคนี้

หน้าที่ในฐานะศูนย์ภูมิภาคทางด้านดาราศาสรต์นั้น ผอ.สดร.ระบุว่า ต้องสร้างความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างเครือข่าย ซึ่งมีการประชุมกันทุกปี และในเดือน ธ.ค.จะมีการประชุมขึ้นที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งภายในการประชุมจะมีการนำเสนองานวิจัยและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนด้านดาราศาสตร์ รวมถึงหารือถึงการสร้างความเข้มแข็งด้านดาราศาสตร์ขึ้นภายในภูมิภาคนี้

ส่วนจุดอ่อนของดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใตันั้น รศ.บุญรักษาระบุว่า จำนวนนักดาราศาสตร์ยังน้อยและหลายประเทศมีนักดาราศาสตร์ที่ประสบการณ์วิจัยน้อยด้วย จึงต้องหาเครือข่ายมาช่วยแกปัญหานี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าพม่าและกัมพูชาก็ต้องการพัฒนาด้านดาราศาสตร์เช่นกัน โดยมีอาจารย์ระดับโรงเรียนมัธยมทำหน้าที่นักดาราศาสตร์

นอกจากนี้ รศ.บุญรักษาระบุว่า จะพยายามติดตั้งกล้องดูดาวควบคุมระยะไกลในประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยปัจจุบันได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ หรือกล้อง Prompt ณ สาธารณรัฐชิลี และมีโครงการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หลี่เจียง สาธารณประชาชนจีน และออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ก่อสร้าง

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.อธิบายว่า กล้อง Prompt เป็นความร่วมมือระหว่าง สดร.และมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ แชพเพิลฮิลล์ สหรัฐฯ ติดตั้งกล้องควบคุมระยะไกล ณ หอดูดาวอินเตอร์อเมริกัน เซอร์โร โทโลโล (Cerro Tololo Inter-American Observatory: CTIO) ชิลี ซึ่งนักดาราศาสตร์ไทยสามารถควบคุมการใช้งานกล้องดังกล่าวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากทุกที่ทั่วโลก เพื่อบันทึกภาพท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้ตอนกลางคืนในขณะที่ไทยอยู่ในช่วงกลางวัน

ล่าสุดนักวิจัยไทยโดย ดร.ศรัณย์ และ ดร.วิภู รุโจปการ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ใช้กล้อง Prompt ยืนยันการค้นพบของนักวิจัยมหาวิทยาลัยอริโซนา ซึ่งใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ศึกษาพบการระเบิดของฝุ่นรอบดาวฤกษ์ NGC2547-ID8 ที่มีอายุเพียง 35 ล้านปี และเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่รอบดาวฤกษ์อายุน้อยดังกล่าว  เช่นเดียวกับการก่อตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

ดร.ศรัณย์อธิบายต่อว่า ดาวฤกษ์ NGC2547-ID8 เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรา และอยู่ในกระจุกดาวเปิด NGC2547 จากการติดตามดาวฤกษ์ดวงนี้ที่ผ่านมาไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อนพบการเรืองแสงอินฟราเรดที่ผิดปกติ คาดว่ามีฝุ่นขนาดเท่าเม็ดทรายโคจรรอบดาวฤกษ์ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการถูกพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ คล้ายตอนโลกกำลังก่อกำเนิด แต่ใช้เวลาอีกเป็นล้านปีจึงจะได้เห็นดาวเคราะห์กำเนิดขึ้นมา โดยการค้นพบครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เห็นทั้งก่อนและหลังการพุ่งชน
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น