xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยดาราศาสตร์ไทย ค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองระบบดาวคู่ที่คล้ายกับ TYC 5965-2398-1
สดร.- นักวิจัยดาราศาสตร์ไทย ค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่ก่อนใครในโลก เผยพบโดยบังเอิญขณะศึกษาดาวแปรแสงอีกดวง ใช้ภาพถ่ายยืนยันต่อเนื่องถึงกว่า 4,000 ภาพ จากการถ่ายมาราธอน 5 คืนเต็ม ผอ.สดร.ตั้งเป้านักวิจัยทางดาราศาสตร์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในอนาคตอันใกล้

จดหมายข่าวจาก สดร.ระบุว่า จากฐานข้อมูลสำหรับงานวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ADS-The SAO/NASA Astrophysics Data System ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าดาว TYC 5965-2398-1 ในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ดวงนี้ มีการเปลี่ยนแปลงความสว่าง จนกระทั่งการค้นพบของนักวิจัยดาราศาสตร์ไทยในครั้งนี้

นายสมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หนึ่งในคณะผู้วิจัย เปิดเผยว่า เมื่อเดือน ธ.ค.55 ได้ถ่ายภาพดาว R CMa ด้วยฟิลเตอร์ B ต่อกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.5 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นเวลา 5 คืน เมื่อวัดความสว่างดาว TYC 5965-2398-1 เทียบกับดาวดวงอื่น พบคาบการเปลี่ยนแปลงความสว่าง 0.303 วัน และระดับความสว่างเปลี่ยนไปประมาณ 0.09 แมกนิจูด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องกับลักษณะดาวคู่ แบบ W Uma ซึ่งเป็นระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ 2 ดวงโคจรรอบกันและอยู่ใกล้กันมากจนเห็นเป็นดาวดวงเดียวเมื่อมองจากโลก แต่ระบบดาวนี้จะแปรความสว่างตามรอบโคจร เมื่อทั้งคู่เคลื่อนมาบังกันจะสว่างน้อยที่สุด แต่เมื่อไม่บังกันก็สว่างมากที่สุด

ด้าน ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัยอีกท่านหนึ่ง อธิบายเพิ่มเติมว่า ดาวแปรแสงเป็นดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างซึ่งอาจเกิดจากสมบัติทางกายภาพของดาว เช่น ผิวดาวปะทุ พื้นผิวดาวไม่เสถียรจึงเกิดกระเพื่อมหรือเกิดจุดใหญ่บนพื้นผิว รวมทั้งการระเบิดเนื่องจากสสารภายนอกที่ตกลงสู่ดาว หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างการที่ดาวฤกษ์เป็นสมาชิกของระบบดาวทำให้เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวโคจรบังกัน

"การศึกษาดาวแปรแสงประเภทต่างๆ ทำให้ทราบขนาด มวล รูปร่าง อุณหภูมิ และขนาดของวงโคจรของระบบดาว นอกจากนี้ยังช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ แรงกระทำระหว่างดาวฤกษ์กับดาวฤกษ์ หรือแรงกระทำระหว่างดาวฤกษ์กับวัตถุอื่นๆ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวนิวตรอน ดาวแคระขาว หลุมดำ การจะค้นพบดาวแปรแสงได้ ต้องสังเกตการณ์ต่อเนื่องยาวนาน เพื่อยืนยันการแปรแสงที่แท้จริงจากดาวฤกษ์ ลดตัวแปรจากชั้นบรรยากาศโลกหรืออัตราเครื่องมือคลาดเคลื่อน" ดร.ศิรามาศกล่าว

ทีมวิจัยระบุอีกว่า ปัจจุบันมีโอกาสค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่น้อยมาก เพราะกล้องโทรทรรศน์ในต่างประเทศถูกใช้ในงานวิจัยหลากหลาย การสังเกตการณ์วัตถุใดวัตถุหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงน้อยมาก ดาวแปรแสงที่พบใหม่ดวงนี้เป็นผลพลอยได้จากงานวิจัยไทย เนื่องจากทีมนักดาราศาสตร์ไทยกำลังติดตามสังเกตดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งอยู่ จึงค้นพบดาวแปรแสงดวงนี้ โดยตรวจสอบภาพถ่ายที่ถ่ายต่อเนื่องกัน 5 คืน มากกว่า 4,000 ภาพ

ส่วน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ครั้งนี้นับว่าเป็นผลงานวิจัยที่น่าภาคภูมิใจของ สดร. แม้ว่างานวิจัยดาราศาสตร์ขั้นสูงของไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่เมืองไทยมีหอดูดาวแห่งชาติติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร บวกกับนักวิจัยไทยผู้มุ่งมั่นทุ่มเท

"คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์ของคนไทยจะเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอย่างแน่นอน และ สดร.จะยังคงทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อความรู้ของคนไทยและของโลก" รศ.บุญรักษากล่าว

อ่านรายละเอียดงานวิจัยได้ที่ http://www.konkoly.hu/cgi-bin/







กำลังโหลดความคิดเห็น