xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียเสนอทุนอวกาศให้เด็กไทย...แต่หาคนไปไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียก้าวหน้าไปมากและได้การยอมรับจากทั่วโลก และกำลังจะส่งยานสำรวจดาวอังคารในเร็ววันนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสร้างเครือข่ายเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติระดับโลก และอินเดียก็ได้เสนอความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีแก่ไทยหลายครั้ง รวมถึงยังเสนอให้ทุนการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีอวกาศแก่นักเรียนไทย แต่กลับหาคนรับทุนไม่ได้

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ เผยว่าอินเดียได้เสนอความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่ไทยหลายครั้ง และเสนอให้ทุนทางด้านเทคโนโลยีอวกาศแก่นักเรียนไทยด้วย แต่ไม่สามารถหาคนไปรับทุนได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากหลายคนอาจไม่ทราบว่าอินเดียมีความก้าวหน้าทางด้านอวกาศ โดยมีสถิติในการยิงจรวดที่ดีที่สุดในโลก และไม่เคยล้มเหลวเลย ยกเว้นการทดลองครั้งแรกที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

“เขาเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ และพัฒนาต่อ มีฐานวิจัยอยู่เยอะ ทั้งในประเทศและที่กระจายอยู่ตามต่างประเทศ” ดร.อานนท์กล่าว พร้อมเล่าว่าอินเดียได้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยอาศัยเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางด้านอวกาศที่ได้จากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ COSPAR Scientific Assembly ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการวิจัยด้านอวกาศ (Committee on Space Research) หรือ คอสปาร์ (COSPAR) เมื่อ 30 ปีก่อนในอินเดีย จนกระทั่งล่าสุดเตรียมส่งยานอวกาศไปดาวอังคาร

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการสัมมนารับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย.56 ณ โรงแรมเซ็นจูรี พร้อมกันนี้ไทยโดย สทอภ.และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ The 1st COSPAR Symposium ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการวิจัยด้านอวกาศ ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย.56 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

ดร.อานนท์ อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ปกติคอสปาร์มีการประชุมวิชาการขนาดใหญ่ คือการประชุม COSPAR Scientific Assembly ที่นักวิทยาศาสตร์ทางด้านการวิจัยอวกาศจากทั่วโลกจะเข้าร่วมนับพันคน และอินเดียเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมดังกล่าว และสร้างเครือข่ายจนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศได้สำเร็จ แต่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยไม่มีโอกาสจัดงานประชุมใหญ่อย่างนั้น เนื่องจากมีนักดาราศาสตร์แค่ราว 30 คน ซึ่งไม่เพียงต่อการรองรับการประชุม

“ทางคณะกรรมาธิการจึงย่อขนาดการประชุมให้เล็กลง มีผู้เข้าร่วมประชุมอยู่ประมาณ 300 คน และจัดเป็นการประชุม COSPAR Symposium ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยมีเนื้อหาหลักที่จะคุยกันในเวทีคือเรื่องดาวเคราะห์และดาวเคราะห์นอกระบบ ซึ่งเป็นหัวข้อที่นักดาราศาสตร์ไทยสนใจ และการจัดในเมืองไทยจะทำให้นักวิชาการไทยมีโอกาสเข้าร่วมประชุมได้ง่ายขึ้น และสร้างเครือข่ายได้จากการประชุมนี้” ดร.อานนท์กล่าว พร้อมทั้งย้ำถึงความสำเร็จในวงการอวกาศของอินเดียที่เริ่มจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COSPAR Scientific Assembly







กำลังโหลดความคิดเห็น