ยังคงเป็นคำถามคลาสสิกที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า แท้จริงแล้วในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้จะมีเพียงโลกที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริงหรือ? แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังคงค้นหาดาวเคราะห์อื่นที่คล้ายบ้านของเรา ซึ่งปฏิบัติการตามล่าสิ่งมีชีวิตบนดาวอื่นก็จุดประเด็นว่า กำเนิดชีวิตบนโลกอาจมาจากเพื่อนบ้านอย่างดาวอังคาร แล้วเราควรกลับไปเยือนถิ่นเดิมของเราไหม?
เป็นครั้งแรกคณะกรรมาธิการว่าด้วยการวิจัยด้านอวกาศ หรือ คอสปาร์ (COSPAR) ที่จัดการประชุมย่อยที่เรียกว่า การประชุม COSPAR Symposium ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าวระหว่าง 11-15 พ.ย.56 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยเนื้อหาหลักที่นำเสนอในการประชุมดังกล่าวคือเรื่องดาวเคราะห์และดาวเคราะห์นอกระบบ
ระหว่างการประชุมดังกล่าว ศ.จิโอวานนี บิกนามิ (Giovanni Bignami) ประธานคอสปาร์ได้เปิดประเด็นว่าแท้จริงแล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกอาจมีกำเนิดมาจากดาวเคราะห์เพื่อนบ้านอย่างดาวอังคาร แต่เราไม่ได้มาในเยือนโลกในรูปของสิ่งชีวิตที่ท่องยานอวกาศมา แต่มาในรูปของสารอินทรีย์และน้ำที่มาพร้อมกับอุกกาบาตจากดาวอังคารในช่วงกำเนิดโลกใหม่ๆ และกว่า 50% ของน้ำในมหาสมุทรนั้นมาจากดาวหางที่พุ่งชนโลก
ศ.บิกนามิ เล่าว่า เมื่อ 100 กว่าปีก่อนเราเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตชั้นสูงอยู่บนดาวอังคาร อีกทั้งเมื่อนักดาราศาสตร์อิตาลีส่องกล้องโทรทรรศน์ขึ้นไปบนดาวอังคาร แล้วพบโครงสร้างคล้ายคลอง เขาได้เรียกโครงสร้างดังกล่าวในภาษาอิตาลีว่า canali ซึ่งเมื่อเป็นภาษาอังกฤษจะได้ทั้งความหมายว่าคลองธรรมชาติ และคลองขุด จนนำไปสู่การนำเสนอข่าวผิดของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส แต่ตอนนี้เราได้ส่งยานไปสำรวจอังคารและไม่พบสิ่งมีชีวิต
เราควรจะกลับไปเยือนถิ่นเดิมของเราไหม? เป็นคำถามที่ ศ.บิกนามิ นักดาราศาสตร์อิตาลี ผู้เขียนหนังสือ “We are the Martians” ดังคำถามแก่ผู้ฟัง เขาบอกถึงโครงการน่าสนใจจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่พบว่าเราสามารถปลูกหน่อไม้ฝรั่งบนดาวอังคารได้ แต่ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ถามกลับไปว่า หากเราจะกลับไปดาวอังคารแล้วเราจะไปทำอะไรที่นั่น?
เราไม่ได้คำตอบตรงๆ จากประธานคอสปาร์ แต่ได้ตัวอย่างเปรียบเทียบกับกรณีของนักไต่เขาผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคนแรก และเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด สื่อมวลชนตั้งคำถามเขาว่าทำไมจึงไต่เขาเอเวอเรสต์ที่เสี่ยงอันตรายมาก ซึ่งเขาได้ตอบว่า “เพราะมันอยู่ตรงนั้น”
ศ.บิกนามิ ตอบคำถามอีกว่า หากจะไปดาวอังคารแบบไปกลับเรามีเทคโนโลยีเริ่มได้พรุ่งนี้เลย ใช้เวลาเดินทางกว่า 40 วัน ไปใช้ชีวิตที่นั่นอีก 40 วันแล้วเดินทางกลับโลก โดยใช้งบประมาณ 30 ล้านล้านบาท แต่ก็เป็นงบที่น้อยกว่ารัฐบาลทั่วโลกใช้ไปกับงบพัฒนาอาวุธทางการทหาร ส่วนการไปตั้งรกรากบนดาวอังคารเลยนั้นยังต้องใช้เวลา ซึ่งการไปเยือนดาวอังคาร ไม่เคยเป็นภารกิจของชาติใดชาติเดียว แต่ควรเป็นความร่วมมือของหลายๆ ประเทศ