เมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมานักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่นได้สังเกตพบการระเบิดของดาวที่เรียกว่า “โนวา” ในกลุ่มดาวโลมา และเขาก็ได้รับการยืนยันจากนักสังเกตฟ้าคนอื่นทั่วโลกในเวลาไม่นาน และดาวดวงนี้กำลังระเบิดอย่างรุนแรงต่อไป ทำให้สว่างจ้าและปรากฎขึ้นอย่างฉับพลันในท้องฟ้ายามค่ำคืนตรงที่ไม่เคยมีดาวให้เห็นมาก่อน
รายงานของสเปซด็อทคอมระบุว่า โคอิชิ อิทากากิ (Koichi Itagaki) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่นได้เห็นการระเบิดของดาวฤกษ์ครั้งล่าสุดเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ในกลุ่มดาวโลมา (Delphinus) และก็มีการยืนยันปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างรวดเร็วจากนักสังเกตฟ้า (skywatchers) ทั่วโลก
การระเบิดของดาวฤกษ์เรียกว่า “โนวา” (nova) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดาวฤกษ์กำลังระเบิดอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้สว่างจ้ามากพอที่จะปรากฏบนท้องฟ้าตอนกลางคืนในตำแหน่งที่ไม่เคยมีดาวปรากฏมาก่อนได้ และโนวาครั้งใหม่นี้ชื่อว่า “โนวาเดลฟินัส 2013” (Nova Delphinus 2013) ซึ่งนับแต่ถูกค้นพบโนวานี้ก็สว่างขึ้นอย่างรวดเร็วจนมองเห็นได้ด้วยเปล่า แต่ว่าผู้สังเกตจะต้องออกไปให้ห่างจากมลภาวะทางแสงของเมือง เพื่อจะได้เห็นปรากฏการณ์ชัดๆ
คำถามว่าบ่อยแค่ไหนที่เราจะได้เห็นโนวาที่สว่างมากจนไม่ต้องพึ่งกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์? คำตอบจากสเปซด็อทคอมระบุว่า โดยเฉลี่ยจะพบโนวาใหม่ๆ ทุก 4-5 ปี ซึ่งตลอด 112 ปีที่ผ่านมามีโนวาเฉลี่ย 47 โนวาที่สว่างจ้าจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ในจำนวนนี้มีถึง 26 โนวาที่ค่อนข้างริบแสง และต้องใช้แผนที่ดาวแบบละเอียด (sky atlas) เท่านั้นเพื่อให้แยกได้อย่างชัดเจน
นับแต่ปี 1901 มีโนวาที่สว่างเทียบเท่าโนวาล่าสุด 13 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ย10 ปีต่อครั้ง ส่วนที่สว่างเทียบดาวที่สว่างสุดในท้องฟ้าเกิดขึ้นเพียง 6 ครั้ง และนับแต่ปี 1975 เป็นต้นมาก็ยังไม่มีโนวาที่สว่างพอจะอยู่ในข่ายนี้ สำหรับโนวาที่สว่างที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้คือ โนวาสกอร์ปี (Nova Scorpii) หรือ วี1280 สกอร์ปี (V1280 Scorpii) ซึ่งมีความสว่างสูงสุด +3.9 เมื่อ 4 ก.พ.2007
ในรอบ 112 ปีที่ผ่านมามีโนวาที่มีค่าความสว่างเป็นศูนย์หรือติดลบ (ยิ่งติดลบยิ่งสว่างมาก) เพียง 2 ครั้ง โดยโนวาที่สว่างที่สุดตลอดช่วงร้อยกว่าปีนี้คือ โนวา อควาเล (Nova Aquilae) หรือ วี 603 อควาเล (V603 Aquilae) ที่มีความสว่างสุดสุดเมื่อ 9 มิ.ย.1918 อยู่ที่ -1.4 ซึ่งสว่างเทียบเท่าดาวซิริอุส (Sirius) หรือดาวโจรที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า