บทความตอนแรกของ ซีรีส์ "กาลิเลโอ กาลิเลอี บิดาของดาราศาสตร์ยุคใหม่" 3 ตอนจบ
กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เกิดที่เมืองปิซาในอิตาลี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1564 แม้กาลิเลอีจะเป็นชื่อสกุล แต่คนทั้งโลกก็รู้จักชื่อต้น คือกาลิเลโอในทำนองเดียวกับที่รู้จักไมเคิลแองเจโล (Michelangelo Buonarroti) และดังเต (Dante Alighieri)
กาลิเลโอได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้วางรากฐานของวิทยาศาสตร์ ด้วยผลงานฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และปรัชญาวิทยาศาสตร์ สำหรับวิชาดาราศาสตร์นั้น กาลิเลโอได้ทำลายปราสาทมืดแห่งความรู้เรื่องเอกภพของอริสโตเติลที่ผู้คนเชื่อถือกันมานานเกือบ 2,000 ปี ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ส่องสำรวจสวรรค์เป็นคนแรก จนได้เห็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญมากมาย การค้นพบเหล่านี้ได้ปูทางให้นิวตัน (Isaac Newton) สร้างวิชาฟิสิกส์เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา
กาลิเลโอมีบิดาชื่อ Vincenzo Galilei ซึ่งมีอาชีพเป็นนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญการเล่นพิณน้ำเต้า ส่วนมารดาชื่อ Giula Ammannati มาจากครอบครัวฐานะปานกลางแห่งเมืองฟลอเรนซ์ กาลิเลโอเป็นบุตรคนหัวปีของครอบครัวพี่น้องมี 7 คน แต่ต่อมาน้องทั้งสี่ได้เสียชีวิต
เมื่ออายุ 8 ขวบ บิดาได้อพยพครอบครัวไปที่เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งในบางเวลาอาจมีเหตุการณ์กาฬโรคระบาด ดังนั้น บิดาจึงได้ฝากฝังกาลิเลโอให้อยู่กับเพื่อนชื่อ Jacopo Borghini เพื่อจะได้เรียนหนังสือที่โบสถ์ Camaldolese ในเมือง Vallombrosa ซึ่งอยู่ห่างจากฟลอเรนซ์ประมาณ 35 กิโลเมตร ที่นั่นกาลิเลโอได้เรียนละตินกับหลวงพ่อ Paulus เรียนคณิตศาสตร์กับ Ostilio Ricci อ่านหนังสือ Physica ของอริสโตเติล รวมถึงได้เรียนจิตรกรรมจนสามารถสเกตช์ภาพได้ดี และในเวลาต่อมากาลิเลโอได้ใช้ความสามารถนี้วาดภาพดวงจันทร์และดาวต่างๆ ที่เห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์
ครอบครัวของกาลิเลโอมีฐานะไม่สู้ดีนัก บิดาซึ่งมีหนี้สินมาก จึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ลูกชายคนโตเรียนแพทย์เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งของทุกคนในครอบครัว ด้วยเหตุนี้กาลิเลโอในวัย 17 ปีจึงเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยปิซา (Università di Pisa) ซึ่งตามปกติมีชื่อเสียงในด้านการสอนวิชาศาสนา แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้สึกเบื่อ เมื่อพบว่าแพทยศาสตร์เป็นวิชาที่ผู้เรียนต้องท่องจำมาก ในขณะที่วิทยาศาสตร์ของอริสโตเติลนั้นก็ไม่สนุก เพราะอาจารย์มักพร่ำบอกนิสิตว่าต้องเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อริสโตเติลเขียน เสมือนว่าความคิดของอริสโตเติลคือคำบัญชาจากสวรรค์
และเมื่อกาลิเลโอตระหนักว่าคำสอนบางเรื่องมิได้มีหลักฐานใดสนับสนุนเลย เขาจึงตั้งคำถามสงสัยในความถูกต้องของความรู้ที่อาจารย์สอนบ่อยจนได้รับฉายาว่าเป็น Wrangler (นิสิตผู้ชอบถกเถียงด้านวิชาการ) ในขณะเดียวกันกาลิเลโอรู้สึกสนุกสนานที่ได้เรียนคณิตศาสตร์ของยุคลิด (Euclid) เพราะเห็นได้ชัดว่าเรขาคณิตเป็นวิชาที่มีหลักการ และใช้เหตุผลในการอธิบายอีกทั้งใช้วิธีพิสูจน์ความถูกต้องโดยไม่ต้องอาศัยความจำมาก
เมื่ออายุ 18 ปี กาลิเลโอได้พบกฎการแกว่งของลูกตุ้ม (pendulum) ซึ่งประกอบด้วยตุ้มน้ำหนักที่ผูกติดที่ปลายเชือกข้างหนึ่ง ส่วนปลายเชือกอีกข้างถูกตรึงแน่น ดังนั้นลูกตุ้มจึงสามารถแกว่งไปมาได้ กาลิเลโอได้สังเกตเห็นว่า เวลาพนักงานในโบสถ์ต้องการจุดตะเกียงที่แขวนห้อยด้วยโซ่สายยาวจากเพดานสูงของมหาวิหารแห่งปิซา เขาจะใช้ตะขอเกี่ยวตะเกียงเข้าหาตัวเพื่อจุดไฟ แล้วปล่อยให้ตะเกียงกลับให้แกว่งไปมา
กาลิเลโอได้พบความจริงว่า ไม่ว่าตะเกียงดวงนั้นจะถูกดึงไปจากตำแหน่งต่ำสุดน้อยหรือมากเพียงใด เวลาที่ตะเกียงใช้ในการแกว่งครบหนึ่งรอบจะเท่ากันเสมอ แม้ในสมัยนั้นจะไม่มีนาฬิกาดีๆ สำหรับจับเวลาก็ตาม (มีแต่นาฬิกาทราย นาฬิกาแดด และนาฬิกาน้ำที่ไม่สะดวกในการใช้จับเวลาขณะอยู่ในโบสถ์) กาลิเลโอจึงใช้ชีพจรของตนเองซึ่งเต้นเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอในการจับเวลาต่างนาฬิกา โดยใช้ปลายนิ้วสัมผัสชีพจรที่ข้อมือแล้วนับจังหวะการเต้นของชีพจร
ในเวลาต่อมากาลิเลโอได้ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม และพบว่าเวลาที่เพนดูลัมใช้ในการแกว่งครบหนึ่งรอบขึ้นกับความยาวของโซ่ที่ใช้แขวนเท่านั้น นั่นคือ ถ้าโซ่ยาว เวลาแกว่งครบรอบก็ยิ่งนาน และถ้าโซ่สั้น เวลาในการแกว่งครบรอบก็เร็ว ในกรณีที่ตุ้มน้ำหนักมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ถ้าโซ่ที่ใช้แขวนมีความยาวเท่ากัน เวลาในการแกว่งครบรอบก็ไม่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่า เวลาในการแกว่งครบรอบของตุ้มน้ำหนักไม่ขึ้นกับน้ำหนักของตุ้มน้ำหนักเลย
กาลิเลโอรู้สึกประหลาดใจในการพบความจริงประเด็นนี้มาก เพราะตามคำสอนของอริสโตเติล วัตถุหนักจะตกถึงพื้นเร็วกว่าวัตถุเบา ซึ่งถ้าคำสอนของอริสโตเติลถูกต้อง ตุ้มน้ำหนักที่มีน้ำหนักมากควรแกว่งเร็วกว่าตุ้มที่มีน้ำหนักน้อย แต่การทดลองหาได้แสดงผลเช่นที่คิดนี้ไม่ กาลิเลโอจึงเริ่มเห็นว่าความรู้ที่อริสโตเติลเขียนไว้ในหนังสือ Physica อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด
จากนั้นกาลิเลโอได้คิดใช้ประโยชน์จากความรู้ที่พบใหม่ โดยวิเคราะห์ว่าในร่างกายคนปรกติ ชีพจรจะเต้นเป็นจังหวะ แต่ในคนป่วย จังหวะของชีพจรจะแตกต่างซึ่งอาจช้าหรือเร็วกว่าปรกติ ดังนั้นถ้าแพทย์มีเพนดูลัมที่แกว่งแสดงชีพจรของคนปรกติ แพทย์ก็สามารถใช้อุปกรณ์นี้ตรวจวัดชีพจรของคนที่ไม่สบายได้ กาลิเลโอจึงเรียกอุปกรณ์นี้ว่า Pulsilogia และรู้สึกตื่นเต้นปีติมากที่ตระหนักว่าความรู้ที่พบนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วย
ในที่สุดกาลิเลโอก็ตัดสินใจเลิกเรียนแพทย์ศาสตร์ และหันไปเรียนวิทยาศาสตร์แทน ทั้งๆ ที่ถูกบิดาคัดค้านเพราะยังหวังจะให้บุตรชายเป็นแพทย์เพื่อหาเงินมาชดใช้หนี้ นอกจากเหตุผลนี้แล้วครอบครัวก็ยังต้องการเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้น้องสาวของกาลิเลโอที่ชื่อ Virginia ได้ใช้ในการหมั้นด้วย ดังนั้นครอบครัวกาลิเลโอจึงมีความคาดหวังในตัวเขาค่อนข้างมาก แต่เมื่อกาลิเลโอขอร้องอาจารย์ชื่อ Ricci ให้ช่วยสนับสนุนให้เขาได้เรียนคณิตศาสตร์กับดาราศาสตร์ในมหาวิทยาลัย บิดาจึงอนุญาต
ดังนั้น กาลิเลโอจึงไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องอวัยวะของคนและสัตว์ และเรื่องสรรพคุณของพืชสมุนไพรอีกต่อไป แต่ได้เรียนเรขาคณิต เลขคณิต กับดาราศาสตร์แทน และรู้สึกสบายใจมากที่ได้เรียนสิ่งที่ตนชอบ เพราะทำให้ได้รู้ความนึกคิดและจินตนาการของปราชญ์โบราณ เช่น ปโตเลมี (Claudius Ptolemaeus; Ptolemy) แห่งเมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์ ผู้เป็นเจ้าของแบบจำลองของเอกภพที่มีโลกอยู่ที่ศูนย์กลาง และมีดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรไปรอบโลก โดยมีวงโคจรต่างๆ เป็นวงกลม และมีดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด ถัดออกไปคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ส่วนเหล่าดาวฤกษ์ถูกตรึงแน่นบนทรงกลมใหญ่ที่ล้อมรอบดาวเคราะห์ทุกดวงและทรงกลมนี้หมุนรอบโลกครบรอบทุกวัน
การเรียนดาราศาสตร์ยังทำให้ได้รู้ความเห็นของอริสโตเติลในประเด็นเรื่ององค์ประกอบของดาวต่างๆ ที่ว่าสรรพสิ่งบนโลกประกอบด้วยดิน น้ำ ลม และไฟที่ไม่ถาวร เช่นใบไม้จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแล้วร่วง ทารกจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วชรา ขณะที่ดาวทุกดวงและเดือนบนฟ้าที่พระเจ้าสร้างมีความสมบูรณ์จนไม่มีที่ติ เช่นเป็นทรงกลมสมบูรณ์ และจะคงสภาพนี้ไปชั่วนิรันดร์ และเหนือวงโคจรของดาวฤกษ์ขึ้นไปคือสวรรค์ที่สถิตของทูตสวรรค์และพระเจ้า
กาลิเลโอยังได้รู้อีกว่า โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวโปแลนด์ ได้เสนอแบบจำลองของเอกภพที่แตกต่างจากเอกภพของปโตเลมี คือมี ดวงอาทิตย์อยู่ที่ศูนย์กลาง และโลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ คือโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยมีวงโคจรเป็นวงกลม และโลกหมุนรอบตัวเอง ซึ่งความคิดที่ว่าโลกเคลื่อนที่ได้นี้ นักดาราศาสตร์ทุกคนในสมัยนั้นมีความเห็นว่าเป็นความคิดที่เหลวไหลเพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุนเลย อีกทั้งขัดแย้งกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลด้วย เพราะถ้าโลกเคลื่อนที่จริง เหตุใดจึงไม่มีใครรู้สึกว่าโลกเคลื่อนที่ และถ้าโลกหมุนได้จริง เหตุใดสรรพสิ่งบนโลก จึงไม่กระเด็นหลุดจากโลก เมื่อมีข้อโต้แย้ง แนวคิดของโคเปอร์นิคัสจึงเป็นความคิดนอกรีตที่ถูกสถาบันศาสนาแห่งโรมสั่งห้ามเผยแพร่อย่างเด็ดขาด
เมื่ออายุ 22 ปี กาลิเลโอประสบปัญหาด้านการเงิน จึงขอลาออกจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ยังเรียนไม่จบ และเริ่มหาเงิน เพราะเป็นคนที่มีความสามารถในการออกแบบอุปกรณ์ จึงได้ประดิษฐ์ตาชั่งเพื่อใช้เปรียบเทียบความหนาแน่นของวัตถุต่างชนิด และได้พบวิธีหาจุดศูนย์กลางมวลของกรวยตัน
เมื่อกาลิเลโอพบ Christopher Clavius นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้วยผลงานการสร้างปฏิทินถวายสันตะปาปา Gregory ที่ 13 Clavius รู้สึกประทับใจในความสามารถของกาลิเลโอมาก ดังนั้นเมื่อตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปิซาว่างลง Clavius จึงได้เขียนคำรับรองให้กาลิเลโอไปสมัครทันที
กาลิเลโอรู้สึกไม่สบายใจนักกับความคิดที่จะกลับไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ตนเคยเรียน เพราะจำได้ดีว่าเคยถูกอาจารย์กล่าวหาว่าเป็นคนชอบเถียงครู แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยโบโลนญา (Università di Bologna) และมหาวิทยาลัยปาดัว (Università degli Studi di Padova) ที่สมัครไป ตอบปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน กาลิเลโอจึงจำต้องไปสมัครงานที่มหาวิทยาลัยปิซา และได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1589 – 1592 โดยได้รับค่าจ้างปีละ 60 ฟลอริน ซึ่งนับว่าน้อย แต่มีเกียรติ
เมื่อได้งาน กาลิเลโอจึงให้สัญญากับบิดาว่าจะหาสินสอดมาให้ Virginia ผู้เป็นน้องสาวได้แต่งงานกับบุตรชายของทูตแห่งแคว้นทัสคานีซึ่งอยู่ประจำที่โรม
ชีวิตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยปิซาของกาลิเลโอไม่สนุก เพราะบรรดาอาจารย์ที่เคยสอนยังจำได้ดีถึงคำถามยากๆ ที่กาลิเลโอเคยถาม และอาจารย์ไม่สามารถตอบได้ นอกจากนี้กาลิเลโอยังมีความเห็นว่าเทคนิคการสอนของอาจารย์วิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นไม่เหมาะสม คือพยายามท่องจำข้อมูลและเนื้อหามาบอกให้นิสิตจดและจำ ดังนั้นนิสิตคนใดก็ตามที่สามารถอ่านตำรากรีก ละติน รู้ภาษาอารบิก ท่องกลอน และจดจำรายชื่อของกลุ่มดาวต่างๆ ได้หมด ก็ถือว่าเป็นบัณฑิตแล้ว
แต่เวลากาลิเลโอสอน เขาจะให้นิสิตออกมาแสดงความคิดเห็นและให้เหตุผล เช่นถามว่าระหว่างเพลโตกับอริสโตเติล ใครเก่งกว่ากัน หรือโง่ทั้งสองคน ทั้งนี้เพราะกาลิเลโอรู้ดีว่าคำสอนของอริสโตเติลและเพลโตหลายเรื่องไม่มีหลักฐานสนับสนุน และบางเรื่องมาจากจินตนาการ คำสอนจึงอาจเป็นความเชื่อที่เหลวไหล เช่น เวลาวัตถุตกในน้ำและในอากาศ คนทั่วไปจะรู้ว่าวัตถุที่ตกในอากาศมีความเร็วมากกว่า เพราะอากาศมีแรงต้านน้อยกว่าน้ำ ดังนั้นอริสโตเติลจึงอธิบายว่าแรงต้านมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของวัตถุ เช่นถ้าแรงต้านมาก ความเร็วของวัตถุจะน้อย ด้วยเหตุนี้อริสโตเติลจึงสรุปว่า ถ้าตัวกลางไม่มีแรงต้านเลย ความเร็วของวัตถุจะมากถึงอนันต์ หรืออีกนัยหนึ่ง ในการตกของวัตถุในสุญญากาศ ความเร็วของวัตถุที่ตกจะเร็วถึงอนันต์ แต่อริสโตเติลไม่เคยเห็นวัตถุใดเคลื่อนที่เร็วขนาดนั้น จึงแถลงเพิ่มเติมว่าธรรมชาติไม่มีสุญญากาศ และสำหรับกรณีวัตถุตก ถ้าวัตถุหนึ่งหนักกว่าอีกวัตถุหนึ่ง 10 เท่า อริสโตเติลสอนว่า เมื่อวัตถุทั้งสองตกพร้อมกันจากที่สูงระดับเดียวกัน เมื่อจะถึงพื้น วัตถุหนักจะมีความเร็ว 10 เท่าของวัตถุเบา และในกรณีการยิงปืนใหญ่ ตำราของอริสโตเติลจะแสดงวิถีกระสุนที่พุ่งเป็นเส้นตรงก่อน จนกระทั่งกระสุนพุ่งถึงจุดสูงสุดแล้วก็จะตกดิ่งลงสู่พื้นดิน วิถีการเคลื่อนที่ของกระสุนจึงมีลักษณะเป็นเส้นตรงสองเส้นที่เอียงทำมุมกัน เป็นต้น
“ความรู้” เหล่านี้กาลิเลโอคิดว่าไม่เคยมีใครตรวจสอบ ดังนั้นจึงให้ลูกศิษย์ขึ้นไปที่ยอดหอเอนแห่งเมืองปิซา เพื่อปล่อยวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันลงมาพร้อมกัน แล้วกาลิเลโอก็พบว่าวัตถุทั้งสองตกถึงพื้นพร้อมกันทุกครั้งไป ด้วยเหตุนี้กาลิเลโอจึงแถลงว่า เมื่อระยะทางเท่ากัน เวลาที่วัตถุใช้ในการตกไม่ขึ้นกับน้ำหนักของวัตถุ การทดลองนี้จึงให้ผลที่ขัดแย้งกับคำสอนของอริสโตเติล และเพื่อให้ทุกคนประจักษ์ในความจริงนี้ กาลิเลโอจึงเชิญขุนนาง นักบวช และประชาชนมาเป็นพยาน ถึงทุกคนจะเห็นกับตาว่าวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันตกถึงพื้นพร้อมกัน แต่หลายคนก็ยังปฏิเสธสิ่งที่ตาเห็น โดยอ้างว่ากาลิเลโอเล่นมายากลให้ดู
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการทดลองนี้อยู่ที่ข้อสรุปว่า วัตถุที่มีน้ำหนักต่างกัน หากถูกปล่อยพร้อมกันจากที่สูงระดับเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอไป นี่เป็นการล่วงรู้ระดับเทพยดา ทั้งๆ ที่กาลิเลโอไม่มีนาฬิกาปรมาณูที่สามารถจับเวลาที่แตกต่างกันในระดับเศษเสี้ยวของวินาทีได้ แต่ก็รู้ว่าถึงพร้อมกันทุกครั้งไป เพราะในการทดสอบเรื่องนี้เมื่อปี 2006 นักฟิสิกส์ได้ทดลองปล่อยอะตอมของไอโซโทป Rb-85 กับ Rb-87 ของรูบิเดียม (Rubidium) ที่มีมวลต่างกัน ลงในหลอดสุญญากาศ และพบว่าอะตอมทั้งสองตกถึงก้นหลอดพร้อมกัน โดยใช้เวลาที่แตกต่างกันไม่เกิน 0.00001% ของเวลาทั้งหมด นอกจากนี้เวลาที่ใช้ในการตกยังไม่ขึ้นกับสถานะควอนตัมของอะตอมทั้งสองด้วย
การทดลองของกาลิเลโอเรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีวัตถุตกของอริสโตเติลผิด ดังนั้นไม่สมควรใช้สอนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป
การพิสูจน์ลักษณะนี้ทำให้กาลิเลโอมีศัตรูเพิ่มขึ้นมากมาย เพราะคนที่ศรัทธาว่าอริสโตเติลเป็นมหาปราชญ์ได้เห็นชัดว่ากาลิเลโอตั้งใจลบหลู่อริสโตเติล โดยได้พยายามล้มล้างคำสอนของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยปิซาจึงออกมาต่อต้านกาลิเลโอ เช่น ยุไม่ให้นิสิตเข้าฟังกาลิเลโอสอนและไม่ร่วมวงสังสรรค์เสวนาด้วย
เมื่อกาลิเลโอถูกบีบบังคับจิตใจมากเข้าๆ จึงตัดสินใจลาออก ในช่วงที่ว่างงาน กาลิเลโอได้ทราบข่าวว่าบิดาถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก ในฐานะที่เป็นบุตรคนหัวปีของครอบครัวจึงต้องรับภาระดูแลครอบครัวแทนบิดา และได้สัญญากับมารดาว่าเมื่อได้งานใหม่จะแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งมาให้ทุกเดือน สำหรับเงินหมั้นของ Virginia นั้นก็จะจัดหามาให้ ส่วนน้องชายที่ชื่อ Michelangelo ผู้เป็นนักดนตรีที่มีนิสัยสุรุ่ยสุร่าย กาลิเลโอก็จะรับภาระดูแลเช่นกัน
ในช่วงเวลานั้น หนุ่มกาลิเลโอมีอายุ 28 ปี รูปร่างสูงปานกลาง มีผมสีแดงและจมูกบาน ได้ข่าวว่ามหาวิทยาลัยปาดัวซึ่งอยู่ในความปกครองของแคว้นเวนิส ต้องการศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ กาลิเลโอซึ่งมีภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบมากจึงเดินทางโดยม้าไปเมืองปาดัว
การเดินทางที่ใช้เวลา 2 วันนำกาลิเลโอถึงมหาวิทยาลัยปาดัวอันเป็นสถานที่ที่โคเปอร์นิคัสเคยสอนและกวีดังเตเคยเรียน และกาลิเลโอก็ได้พบว่าบรรยากาศวิชาการในมหาวิทยาลัยปาดัวดีกว่ามหาวิทยาลัยปิซามาก เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่ที่นี่ทุ่มเทกับการวิจัยหาความรู้ใหม่ๆ กาลิเลโอได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1592 โดยได้รับค่าจ้างปีละ 180 ฟลอริน ซึ่งมากกว่าเงินที่ได้รับจากที่เดิมถึง 3 เท่า และมีหน้าที่สอนเรขาคณิต กลศาสตร์ กับดาราศาสตร์
ถึงจะได้เงินมากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ดังนั้นกาลิเลโอจึงต้องหาเงินเพิ่มเติมโดยการสอนพิเศษ ความเหน็ดเหนื่อยและความรับผิดชอบที่มากนี้ทำให้กาลิเลโอครุ่นคิดหนักเรื่องจะมีครอบครัวของตนเอง แต่ในที่สุดกาลิเลโอก็ตัดสินใจอยู่กินอย่างไม่เป็นทางการกับ Marina Gamba ทั้งนี้เพราะครอบครัวฝ่ายหญิงไม่มีเงินมากพอจะหมั้นกาลิเลโอ
การที่คนทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนสมรสอย่างเป็นทางการทำให้บุตรสาวของกาลิเลโอ 2 คนที่ชื่อ Virginia กับ Livia และบุตรชาย 1 คนชื่อ Vincenzio อยู่ในสภาพเป็นลูกนอกสมรส นั่นหมายความว่า ลูกสาว 2 คนจะสมรสกับใครไม่ได้ ครั้นจะให้ลูกสาวทั้งสองครองโสดก็จะเป็นที่ครหา ดังนั้นกาลิเลโอจึงจัดการให้ Virginia และ Livia บวชชีตั้งแต่อายุ 13 ปีไปจนตลอดชีวิตที่โบสถ์ San Matteo ในเมือง Arcetri
โดย Virginia ใช้ชื่อเป็นทางการว่า Maria Celeste ซึ่งมีหน้าที่จ่ายยาและเป็นนางพยาบาลในสำนักแม่ชี ส่วน Livia นั้นมีสุขภาพไม่ดีจึงเจ็บออดๆ แอดๆ และเสียชีวิตหลังจากบวชได้ไม่นาน สำหรับ Vincenzio ในที่สุดได้รับการยอมรับว่าเป็นบุตรของกาลิเลโอ และได้แต่งงานกับ Sestilia Bocchineri จึงห่างเหินกับบิดา
ด้วยเหตุนี้ กาลิเลโอจึงสนิทสนมกับ Maria Celeste มากที่สุด และเธอคือคนที่คอยพยาบาลจิตใจบิดาในยามชรา ด้วยการให้กำลังใจและเขียนจดหมายติดต่อตลอดเวลาที่กาลิเลโอถูกกักบริเวณในบั้นปลายของชีวิต
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์