xs
xsm
sm
md
lg

Giovanni Domenico Cassini นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ยุคเรเนซองส์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Giovanni Domenico Cassini นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ยุคเรเนซองส์
ในปี ค.ศ.1650 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) Giovanni Domenico Cassini หนุ่มวัย 25 ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยสันตะปาปา Clement ที่ 9 ให้เป็นศาสตราจารย์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Bologna ผลที่ตามมาคือ ชีวิตทำงานของ Cassini ในมหาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นเลย เพราะเขาถูกเพื่อนร่วมงานอิจฉา และกลั่นแกล้งตลอดเวลา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สันตะปาปาโปรดปราน Cassini มาก เพราะเขาได้ทำงานถวายหลายเรื่อง เช่น ออกแบบสร้างป้อมปราการรอบพระราชวังของสันตะปาปา ขุดคลอง และสร้างเขื่อนระบายน้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านพรมแดนระหว่างอิตาลีกับฝรั่งเศส แต่ผลงานที่ทำให้สันตะปาปาชื่นชมสุดๆ คือ เมื่อ Cassini ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองครักษ์พิทักษ์ราชินี Christina แห่งสวีเดน ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างพระนางกับ Cassini ได้ชักนำให้พระนางทรงเปลี่ยนศาสนามานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิก

ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ Cassini ทำงานหลายด้านเช่น เป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ วิศวกร และโหรผู้มีผลงานมากมาย เช่น พบช่องว่างในแถบวงแหวนของดาวเสาร์ (Cassini Division) ตระหนักชัดว่า ความเร็วแสงมีค่าจำกัดจึงมีทางจะวัดความเร็วได้ เป็นนักทำแผนที่ และเป็นนักการเมืองผู้มีความสามารถสูงในการเล่นการเมือง

ณ วันนี้ชื่อของ Cassini ก็ยังมีปรากฏว่า เป็นชื่อของหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์และดาวอังคาร ชื่อของบริเวณที่มีสีมืดคล้ำบนดวงจันทร์ Iapetus ของดาวเสาร์ (บริเวณนั้นชื่อ Cassini Regio) และเมื่อ NASA มีโครงการส่งยานอวกาศไปเยือนดาวเสาร์และดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์ NASA ได้ตั้งชื่อโครงการว่า Cassini – Huygens Mission ชื่อนี้ยังได้เป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อย 24101 Cassini ด้วย

G.D.Cassini เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.1625 ที่เมืองPerunaldo ในแค้วน Genoa ของอิตาลี เข้ารับการศึกษาที่ The Jesuit College ในเมือง Genoa เพื่อเรียนคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์กับโหราศาสตร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ไปทำงานที่หอดูดาว Panzano ต่อจากนั้นได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Bologna ตามบัญชาของสันตะปาปา Clement ที่ 9

ในช่วงเวลานั้นที่ประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 14 ซึ่งได้รับพระฉายาว่า สุริยะกษัตริย์ทรงดำริจะจัดตั้ง Academy of Sciences and Arts และจัดสร้างหอดูดาวที่ดีที่สุดในโลก เพื่อให้นักวิชาการฝรั่งเศสได้ทำงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่ พระองค์จึงทรงกำหนดให้นายกรัฐมนตรี Jean – Baptiste Colbert เป็นผู้รับผิดชอบในการแสวงหานักดาราศาสตร์ที่เก่งที่สุดมาประจำที่หอดูดาว รวมถึงหานักวิทยาศาสตร์และศิลปินที่มีความสามารถสูงสุดมาทำงานที่สถาบันของพระองค์ด้วย

เมื่อรับทราบราชประสงค์ของผู้บังคับบัญชา บุคคลแรกที่ Colbert นึกถึงคือ Giovanni Cassini ผู้มีผลงานที่โดดเด่นด้านดาราศาสตร์มากมาย เช่น ในปี 1665 Cassini ได้เห็นจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสบดีพร้อมๆ กับ Robert Hooke และเคยทำงานสร้างเขื่อนป้องกันน้ำจากแม่น้ำ Po ไหลท่วม เพื่อถวายองค์สันตะปาปา Clement ที่ 9 แต่ขณะนั้น Cassini กำลังเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Bologna ดังนั้น Colbert จึงขอซื้อตัวโดยนำเสนอเงินประจำตำแหน่งมากเป็น 3 เท่าของเงินเดือนที่ Cassini กำลังรับ และได้รับความสะดวกสบายมากมาย จน Cassini ตอบปฏิเสธไม่ได้เลย แต่ก็ต้องขออนุญาตจากองค์สันตะปาปาก่อน

เพราะขณะนั้นสันตะปาปาประสงค์จะมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับฝรั่งเศส และไม่ต้องการให้มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านการศาสนาหรือการเมือง ดังนั้นสันตะปาปาจึงไม่ขัดข้องที่จะให้ Cassini ไปทำงานที่ปารีสในปี 1669 ในตำแหน่งองคมนตรีแห่งราชสำนักฝรั่งเศส โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการสร้างกล้องดูดาว และร่วมทำงานวิทยาศาสตร์กับนักวิชาการฝรั่งเศสคนอื่นๆ ที่ Academy
ภาพวาดหอดูดาวปารีสในอดีต
ในเบื้องต้น Cassini ตั้งใจว่าจะรับงานนี้เป็นงานชั่วคราว จึงขอให้สันตะปาปาจ่ายเงินเดือนให้ขณะที่ไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่มหาวิทยาลัย Bologna จนกระทั่งกลับถึงอิตาลี แต่อยู่ไปๆ Cassini ก็ไม่หวนกลับบ้าน แม้บรรดาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจะคัดค้านการให้เงินเดือนของ Cassini มากสักปานใด สันตะปาปาก็ไม่ฟัง เพราะทรงถือว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีค่ายิ่งกว่าความเดือดร้อนในมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว

หลังจากที่ทำงานในฝรั่งเศสได้นานประมาณ 1 ปี ในปี 1675 Cassini ก็เป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นว่า แถบบรรยากาศต่างๆ ของดาวพฤหัสบดีมีความเร็วแตกต่างกัน และได้เห็นช่องว่าง Cassini ในแถบวงแหวนรอบดาวเสาร์ ผลงานเหล่านี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดปราน Cassini มาก ดังนั้น เมื่อหอดูดาวที่ปารีสถูกสร้างเสร็จในปี 1682 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงทรงโปรดเกล้าให้ Cassini เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของหอดูดาวที่ปารีส และ Cassini ได้อยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1712

เมื่อผลงานเป็นที่ประทับใจองค์กษัตริย์มาก ในปี 1673 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าให้ Cassini แปลงสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศส ความผูกพันระหว่างกษัตริย์กับคนต่างด้าวในลักษณะนี้ ได้ทำให้เหล่านักวิชาการฝรั่งเศสหลายคนรู้สึกตาร้อน ในทำนองเดียวกับนักวิชาการที่ Bologna กระนั้น Cassini ก็ไม่สนใจและมุ่งหน้าทำงานเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสต่อไป

แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่ความสำเร็จในการทำงานของ Cassini ได้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงผิดหวัง คือในปี 1672 Cassini กับเพื่อนๆ ชื่อ Jean – Felix Picard และ Philippe de La Hire ได้อาสาจะทำแผนที่ของฝรั่งเศสใหม่ โดยใช้เทคนิคดาราศาสตร์ของ Galileo ซึ่งใช้วิธีสังเกตเวลาบดบังโดยดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ณ ตำแหน่งต่างๆ ในฝรั่งเศส เพื่อบอกระยะทางระหว่างเส้นรุ้งที่ลากผ่านสถานที่สังเกตเหล่านั้น ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าพื้นที่จริงของฝรั่งเศสมีค่าน้อยกว่าพื้นที่ๆ นักภูมิศาสตร์เคยคาดคะเนไว้ถึง 20% ตัวเลขนี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ตรัสทำนองน้อยพระทัยว่านี่คือ การตอบแทนที่พระองค์ทรงได้จาก Cassini ผู้ที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ Cassini ยังได้จัดให้ Jean Richer เดินทางไปยังเมือง Payenne ใน French Guiana ในขณะที่ Cassini ยังอยู่ที่ Paris เพื่อสังเกตดาวอังคารพร้อมกัน และใช้ข้อมูลที่ได้จากการวัดคำนวณหาระยะทางที่ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกด้วย และเมื่อรู้ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ก็สามารถรู้ระยะทาง ทรงโปรดเกล้าให้ หลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดปราน าความเดือดร้อนในมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวงเศสคนอจากดวงอาทิตย์ถึงดาวอังคารได้

ในเบื้องต้น Cassini เชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของระบบสุริยะ แต่การสังเกตวิถีโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ ในเวลาต่อมาได้ทำให้ Cassini เปลี่ยนใจไปเชื่อทฤษฎีของ Copernicus ในที่สุด

เพราะหอดูดาวปารีสตั้งอยู่ในชนบทที่อยู่ไกลจากปารีสมาก ดังนั้นบรรดานักวิทยาศาสตร์จึงรู้สึกว่า การเดินทางไปประชุมไม่สะดวก และเสียเวลามาก แม้จะเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ตาม นักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างก็ต่อต้าน และพากันจัดประชุมที่ปารีสแทน นอกจากเหตุผลนี้แล้วตัวหอดูดาวในสายตาของ Cassini เองก็รู้สึกว่ามีสภาพเหมือนพระราชวังไม่ใช่ห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์เลย
หอดูดาวปารีสในปัจจุบัน
ถึงไม่มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมาเยือน และอยู่ปฏิบัติงาน แต่หอดูดาวปารีสภายใต้การอำนวยการของ Cassini ก็ได้สร้างผลงานที่สำคัญไว้มากมาย เช่น ในปี 1676 ได้พบว่า แสงมีความเร็วที่สามารถจะวัดค่าได้ และเมื่อได้สังเกตดูวงโคจรที่มีลักษณะไม่ปกติของดาวยูเรนัส ข้อมูลได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้ตำแหน่งของดาว Neptune ซึ่งยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนด้วย

Cassini รู้สึกสนุกสนานกับการใช้ชีวิตทำงานในฝรั่งเศสมาก หลังจากที่ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสแล้ว Cassini ก็ได้เปลี่ยนชื่อแรกจาก Dominique เป็น Jean – Dominique แต่ชื่อท้ายก็ยังคงเดิมคือ Cassini

ในบั้นปลายชีวิต คือในปี 1711 ตา Cassini เป็นต้อหิน และในเวลาต่อมาได้บอดสนิท เป็นการจบชีวิตทำงานของนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1712 สิริอายุ 87 ปีที่กรุงปารีส

หลังจากที่ Cassini ได้จากไปแล้วในปี 1785 หอดูดาวปารีสได้จัดสร้างห้องสมุดประจำหอดูดาว โดยเหลนของ Cassini ได้มอบข้อมูลดาราศาสตร์ของบรรพบุรุษตั้งแต่ทวด-ปู่ และบิดา ซึ่งต่างก็ได้เคยเป็นผู้อำนวยการของหอดูดาวให้แก่มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ห้องสมุดยังมีเอกสารต้นฉบับที่ Joseph Nicolas Deliste ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งได้รวบรวมมาจากที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและรัสเซียมาด้วย โดยชิ้นที่มีค่ามากที่สุดคือกล่องเอกสาร 16 กล่องของนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ชื่อ Johannes Hevelius ผู้วาดภาพผิวของดวงจันทร์อย่างละเอียดเป็นคนแรก และได้ศึกษาจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ห้องสมุดนี้ยังเก็บภาพวาดผิวของดวงจันทร์ที่ Cassini วาดด้วย และจากรูปที่วาดก็จะเห็นได้ชัดว่า Cassini มิได้มีฝีมือด้านนี้เลย

ณ วันนี้หอดูดาวที่ปารีสยังคงมีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บอุปกรณ์ดาราศาสตร์ โดยมีอุปกรณ์ร่วม 500 ชิ้น บางชิ้นมีขนาดมโหฬารมาก รวมถึงมีกล้องโทรทรรศน์ของ Léon Foucault ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นคนแรกที่สาธิตให้ทุกคนเห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง เพราะกล้องของ Foucault กล้องนี้ใช้กระจกสะท้อนแสงที่เคลือบด้วยเงิน เป็นกล้องแรกและเป็นต้นแบบของกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่เรายังใช้ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติมจาก “The Cassini Family and the Paris Observatory” ใน Astronomical Society of the Pacific Leaflets : 146-153 Bicode 1947

*** เนื่องจากความขัดข้องทางเทคนิค ทำให้ก่อนหน้านี้เนื้อหาบางช่วงติดขัด ทีมงานได้แก้ไขให้เรียบร้อยแล้ว ***

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น