xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คนต่อไปเป็นใคร? : คำถามที่โหรตอบได้จริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านที่เป็นโหรหรือไม่เป็นโหร แต่สนใจเรื่องโหราศาสตร์อยู่บ้าง ก็พอจะรู้ว่าโหราศาสตร์อันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการพยากรณ์ หรือการคาดการณ์เหตุการณ์ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต และย้อนไปดูเหตุการณ์ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต รวมถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นศาสตร์ที่ประกอบด้วยศาสตร์ 3 ศาสตร์ คือ

1. ดาราศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยดวงดาวบนท้องฟ้าตามนัยแห่งแนวคิดและความเชื่อของโหราศาสตร์ในยุคโบราณ ซึ่งมีสมมติฐานแตกต่างไปจากดาราศาสตร์สมัยใหม่อยู่บ้างในเรื่องจุดเริ่มต้นของดวงดาวในจักรวาล กล่าวคือ ในความเชื่อของโหราศาสตร์โบราณถือว่าโลกเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และดาวพระเคราะห์ทุกดวง รวมทั้งดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกโดยที่โลกอยู่กับที่ ซึ่งตรงกันข้ามกับดาราศาสตร์สมัยใหม่ที่ถือว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และดาวทุกดวง รวมทั้งโลกหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบดวงอาทิตย์

แต่เมื่อลงลึกไปถึงรายละเอียดของการโคจรก็พบว่ามีความจริงที่ตรงกันในเรื่องของโลก กล่าวคือ ในตำราโหราศาสตร์ได้แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ราศี และแต่ละราศีมี 30 องศา รวม 12 ราศีประมาณ 360 องศา และดวงอาทิตย์จะโคจรผ่าน 12 ราศีในรอบ 1 ปีหรือประมาณ 360 กว่าวัน ซึ่งก็เท่ากับว่าองศาละวันนั่นเอง

โดยนัยนี้จึงอนุมานได้ว่าแท้จริงแล้วดวงอาทิตย์ที่โหราศาสตร์แทนด้วยเลข ๑ นั้นก็คือโลกนั่นเอง แต่ที่โหราจารย์โบราณตั้งสมมติฐานก็ด้วยเห็นดวงอาทิตย์โคจร แต่ไม่เห็นโลก

แต่อย่างไรก็ตาม นักโหราศาสตร์ในรุ่นหลังก็ได้เพิ่มดาวราหูอันเป็นเงาของโลกเข้ามา จึงทำให้โลกอยู่ในโหราศาสตร์ด้วยโดยปริยาย

2. สถิติศาสตร์ เป็นศาสตร์ว่าด้วยการเก็บข้อมูล และนำมาศึกษาเปรียบเทียบด้วยการเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันแล้วอนุมานเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดหรือไม่เกิดในอนาคต โดยใช้หลักที่ว่า อะไรที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีลักษณะเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคต ในทำนองเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต และมีผลถึงปัจจุบัน

3. ตรรกศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการหาความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เป็นเหตุกับสิ่งที่เป็นผล และถ้าพบว่ามีการเชื่อมโยงถึงกันก็สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกันในลักษณะเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน โดยมีวิธีอนุมาน 2 วิธี คือ

1. จากผลไปหาเหตุ คืออนุมานจากสิ่งที่ได้เห็นแล้วเชื่อมโยงไปหาสิ่งที่เป็นเหตุ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการสอบสวนหาความจริงว่าใครหรืออะไรเป็นต้นเหตุของสิ่งที่เป็นผลในปัจจุบัน

2. จากเหตุไปหาผล อันเป็นการคาดการณ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือที่เรียกว่า การพยากรณ์ นั่นเอง

ถ้าท่านใดจะศึกษาโหราศาสตร์เพื่อการเป็นผู้พยากรณ์เหตุการณ์แล้วจะต้องศึกษา 3 ศาสตร์นี้ควบคู่ไปพร้อมกัน จึงจะเป็นนักพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำพอจะใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจได้

อีกประการหนึ่ง ในการพยากรณ์จะต้องแยกการพยากรณ์ปัจเจกบุคคลออกจากการพยากรณ์เกี่ยวกับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับบ้านเมือง ออกจากกันก่อนแล้วค่อยนำมาพิจารณาคู่กันเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการเป็นผู้นำองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำประเทศจะต้องอาศัยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. พื้นดวงของบุคคลที่จะเป็นผู้นำ

ดวงที่จะเป็นนักการเมืองหรือนักธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ในดวงเดิมจะต้องมีดาว 3 ดวงคือ พฤหัสบดี (๕) ศุกร์ (๖) และราหู (๘) ทำมุมถึงกันคือเป็น ๓, ๕ หรือ ๗ แก่กัน และลัคนาจะต้องไม่เป็น ๖, ๘ หรือ ๑๒ ของดวงองค์กรที่จะดำรงตำแหน่ง เช่น ถ้าจะดูว่าเป็นผู้นำประเทศไทยได้หรือไม่ ก็จะต้องดูลัคนาอยู่ในราศีกันย์ พิจิก หรือมีหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าอยู่ราศีใดราศีหนึ่ง ก็อนุมานได้ว่าเป็นได้ยากหรือถ้าเผอิญได้มาเป็นอยู่ได้ไม่นาน และลงจากอำนาจด้วยการถูกโค่นล้มแน่นอน

2. ดวงองค์กรหรือดวงฤกษ์ที่ก่อตั้งนิติบุคคล

ในที่นี้จะนำเพียงดวงกรุงเทพมหานครมาเป็นบรรทัดฐาน โดยคัดลอกจากหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดีซึ่งรวบรวมโดย อ.เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งมีข้อความบางตอนดังนี้

“พระฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง ณ วันอาทิตย์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัดวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ สุริยกาลกำหนด วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ น. เฉลิมรูปดวงพระฤกษ์ฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานครดังนี้

เมื่อนำดวงเมืองกับดวงคนที่คาดว่าจะเป็นผู้นำประเทศ และนำความเจริญมาสู่ประชาชนได้เป็นอย่างดีก็สามารถกำหนดเป็นสูตรได้ดังนี้

1. ดวงบุคคล จะต้องมีดาว ๕, ๘, ๖ ทำมุมถึงกัน แบะดาวพฤหัสบดีจะต้องไม่เป็น ๖, ๘ หรือ ๑๒ กับลัคนา

ดาวศุกร์ก็ทำนองเดียวกัน จะต้องไม่เป็นประหรือนิจ และจะต้องไม่อยู่เรือน ๖, ๘ หรือ ๑๒ ในทำนองเดียวกันกับดาวพฤหัสบดี

ส่วนดาวราหู ถ้าเป็นไปได้ควรจะอยู่ในเรือนหรือตำแหน่งที่ด้อยจะทำให้ความโลภลดลง และจะเกื้อหนุนให้ทำงานเพื่อส่วนรวมได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนว่าผู้ที่มีคุณสมบัติที่ว่านี้จะมีพยัญชนะ ป. นำหน้าหรือไม่ มิใช่ข้อกำหนดในทางโหราศาสตร์

2. ในส่วนของดวงเมือง จะเป็นเงื่อนไขกำหนด คือลัคนาของผู้ที่มีคุณสมบัติตามจะต้องไม่เป็น ๖, ๘ หรือ ๑๒ กับลัคนาดวงเมือง

แต่ถ้าจะให้กำหนดได้แน่นอนลัคนาของบุคคลควรจะอยู่ราศีเมษ สิงห์ หรือธนูมากกว่าราศีอื่น

ส่วนลัคนาที่ครองราศีอื่น เช่น เมถุน ตุลย์ หรือกุมภ์ ก็มีโอกาสรองลงมา และที่มีโอกาสน้อยหรือไม่มีโอกาสก็คือ ลัคนาในราศีที่เหลือ ถึงแม้ถ้าบังเอิญได้เป็นก็อยู่ได้ไม่นาน

ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพื่อจะบอกว่าโหราศาสตร์ตอบคำถามว่าใครจะเป็นนายกฯ ได้ แต่จะต้องมีดวงของบุคคลและดวงเมืองอยู่ในมือ และนำมาเปรียบเทียบกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น