ART EYE VIEW----เพื่อร่วมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐอิตาลีและประเทศไทย ที่มีมายาวนานกว่า145 ปี ผลงานประติมากรรมตกแต่งอาคาร ออกแบบโดย กาลิเลโอ คีนิ(Galileo Chini)ศิลปินเอกชาวอิตาเลียนและจิตรกรหลวงผู้เคยสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมเฟรสโก( Fresco ) อันงดงาม ฝากไว้ภายในโดมท้องพระโรงของพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ถูกนำมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชม ในนิทรรศการ Galileo Chini The Jewels of Decorations (กาลิเลโอ คีนิ เดอะ จูเวลส์ ออฟ เดคอเรชั่นส์) ซึ่งจัดขึ้นโดย สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
จากภาพเฟรสโก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม สู่ประติมากรรมประดับสปา
กาลิเลโอ คินิ เกิดเมื่อค.ศ.1873 และถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ.1956 เป็นศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญต่อ ศิลปะแนวอาร์ตนูโว (Art Nouveau) เป็นทั้งมัณฑนากร นักออกแบบ ประติมากรและอาจารย์สอนศิลปะ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขามารับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะจิตรกรวาดภาพเฟรสโก ณ โดมท้องพระโรงของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสยามประเทศจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ค.ศ.1900 สปา หรือ โรงอาบน้ำสาธารณะ เป็นบริการสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากในยุโรป โดย เมืองซัลโซ่มัจจอเร่ (Salsomaggiore) เป็นเมืองสปาที่โด่งดังที่สุด เพราะอุดมด้วยน้ำแร่ธรรมชาติที่มีคุณสมบัติพิเศษในการบำบัดโรคต่างๆ จึงได้มีการก่อสร้างสปาขึ้นหลายแห่ง
ค.ศ.1917 เตอร์มาเอแบร์ซิเอรี่ (ThermaeBerzieri) เป็นสปาที่ ถูกสร้างขึ้น ณ เมืองซัลโซมัจจอเร่ ในแคว้นปาร์มา ทางตอนเหนือของอิตาลี โดยเทศบาลเมือง ได้มอบหมายให้ กาลิเลโอ คีนิ เป็นผู้แบบผู้ออกแบบประติมากรรมตกแต่งอาคาร และให้ช่างผู้เชี่ยวชาญของ โรงผลิตในบอร์โก ซาน ลอเรนโซ (Manufacturing of Borgo San Lorenzo)ใกล้เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งกาลิเลโอ คีนิและ คีโน่ คีนี่ (Chino Chini) ลูกพี่ลูกน้องร่วมก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างสรรค์ศิลปะประดับคุณภาพสูง รังสรรค์ผลงานประติมากรรมตกแต่งอาคารแต่ละชิ้นขึ้นมา
กระทั่งปัจจุบันใครได้ที่ได้มีโอกาสไปเยือนสปาแห่งนี้ ซึ่งยังเปิดบริการอยู่ และถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง ก็จะได้พบผลงานประติมากรรมแต่ละชิ้นที่ยังคงอวดความงามวิจิตร และถูกขนานนามให้เป็นสปาน้ำแร่ชั้นนำที่มีหรูหรา งดงาม และมีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป และแห่งหนึ่งของโลก
ยลประติมากรรมตกแต่งอาคารสปาสไตล์อาร์ตนูโว
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพิ่งมีผู้ค้นพบชิ้นสำรองของผลงานประติมากรรมตกแต่งอาคารสปา เตอร์มาเอแบร์ซิเอรี่ โดยบังเอิญ ณ ห้องใต้ดินของอาคารสปาดังกล่าว ซึ่งแต่ละชิ้นผลิตขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นยุค 20s มีเพียงแค่แบบละชิ้น และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แม้จะมีอายุกว่า 90 ปีแล้วก็ตาม
ล่าสุดผลงานชิ้นสำรองของประติมากรรมตกแต่งอาคารสปา จำนวน 26 ชิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาที่ถูกค้นพบทั้งหมด ถูกนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย และถือได้ว่าเป็นการนำออกนอกประเทศอิตาลีครั้งแรก
มีทั้งงานประติมากรรมประดับตกแต่งภายนอกและภายในตัวอาคาร ซึ่งเป็นศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาที่สร้างสรรค์จากดินสโตนแวร์ (Stone ware) มีความแข็งแกร่งทนทาน และศิลปะไมออลิกา (Maiolica) ซึ่งเป็นเครื่องเคลือบดินเผาเอกลักษณ์เฉพาะของอิตาลี บางชิ้นประดับด้วยทองคำบริสุทธิ์ สีที่พบหลักๆ คือ “สีทอง” อันแสดงถึง “ความหรูหรา” และ “สีฟ้า” ซึ่งสื่อถึง “น้ำ”
เหตุผลที่คนไทยไม่ควรพลาดไปชมผลงานประติมากรรมตกแต่งอาคารเหล่านี้ เพราะ กาลิเลโอ คีนิ ได้สร้างสรรค์ขึ้น หลังกลับจากสยามประเทศ ทำให้รูปแบบของประติมากรรมสะท้อนให้เห็นกลิ่นอายของโลกตะวันออกอย่างชัดเจนโดยเฉพาะลวดลายโค้งมนต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่อยู่ทั่วตัวอาคารได้สื่อถึงน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ และแม่น้ำลำคลองต่างๆในเมืองไทย รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ประติมากรรมรูปดอกไม้ และลูกสน
วิเอรี่ คีนิ วัย 80 กว่าปี ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของ กาลิเลโอ คีนิ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นนักออกแบบเครื่องเคลือบและดูแลการผลิตผลงานศิลป์ของตระกูลคีนิ ณ บอร์โก ซาน ลอเรนโซ ใกล้กับเมืองฟลอเรนซ์ บอกเล่าให้ฟังเพิ่มเติมในวันที่เดินทางมาร่วมงานเปิดนิทรรศการที่ประเทศไทยว่า
ขณะที่ กาลิเลโอ คีนิ เป็นคนคิดโครงการและออกแบบผลงานประติมากรรมตกแต่งอาคารแต่ละชิ้น คีโน่ คีนี่ ปู่ของเขาซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของ กาลิเลโอ คีนิ จะเป็นคนที่ทำงานทางด้านเทคนิค ทำให้งานที่กาลิเลโอ คีนิออกแบบเสร็จออกมาเป็นชิ้นงาน
ตอนที่กาลิเลโอ คีนิ มาทำงานที่เมืองไทย ได้เห็นสไตล์การทำงานของทางด้านเอเชีย และจากการทำงานให้กับพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างผลงานประติมากรรมประดับสปาที่อิตาลี ซึ่งสร้างเมื่อปี 1917 กระทั่งสร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี 1923
ตอนแรกสปาถูกออกแบบไว้ไม่ใหญ่มาก แต่ภายหลังงานก็เริ่มขยายออกไป จนมีคนงานประมาณ 200 กว่าคน
ปัจจุบัน สปาแห่งนี้ก็ยังเปิดใช้อยู่ ซึ่งในเวลาที่มีผู้ไปใช้บริการจะเสมือนได้พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมในยุค คริสต์ศตวรรษที่ 19
เด็กเลี้ยงควายผมแดง
ความน่าสนใจอีกส่วนหนึ่งภายในนิทรรศการ Galileo Chini The Jewels of Decorations (กาลิเลโอ คีนิ เดอะ จูเวลส์ ออฟ เดคอเรชั่นส์) ยังได้มีการจัดแสดงเครื่องประดับจิวเวอรี่จากแบรนด์เครื่องประดับอิตาเลี่ยนชั้นนำ คาซาโต้ (Casato) ที่นำแรงบันดาลใจจากรูปแบบประติมากรรมของสปาแห่งนี้ มาสร้างสรรค์ชุดเครื่องประดับเงิน ทอง และ ทองประดับเพชร ประกอบด้วยแหวน จี้ และ ต่างหู
พร้อมด้วยการจัดแสดงผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดย ไมตรี ศิริบูรณ์ ศิลปินรุ่นใหม่ของไทยชาวจังหวัดอุบลราชธานี ศิษย์เก่าภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเคยมีผลงานจัดแสดงมาแล้วในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส,อิตาลี, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, บราซิล, สิงคโปร์, มาเลเซีย และ ลาว
ภาพหญิงสาวที่กาลิเลโอ คีนิ เขียนไว้บนแผ่นกระเบื้องเคลือบ ได้ถูก ไมตรีนำมาใช้เป็นภาพต้นแบบ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเทคนิคภาพโมเสกกระจกสีขื่อ “เด็กเลี้ยงควายผมแดง” ขนาดความกว้าง 1 เมตรและสูง 2 เมตร ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาชอบที่จะทำควบคู่มากับการทำงานภาพถ่าย
“ตอนผมทำงานศิลปะนิพนธ์ตอนที่จะจบจากภาควิชาศิลปะไทย ผมทำงานศิลปะเทคนิคประดับกระจกสี โดยมีอาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน เป็นที่ปรึกษา มันเป็นอะไรที่เราทิ้งไม่ได้ เพราะเราชอบจริง ซึ่งหลายคนก็รู้ว่าผมทำทั้งงานประดับกระจกและงานภาพถ่าย มันก็เลยต่อเนื่องมาถึงงานนี้”
ไมตรียอมรับว่าเขามีความทรงจำที่ลางเลือนมากเกี่ยวกับ กาลิเลโอ คีนี และไม่เคยมีโอกาสไปชมภาพเฟรสโกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
“Camillo Pellegatta ซึ่งเขาเป็นโปรดิวเซอร์ของนิทรรศการนี้ เขาไปเจองานศิลปะของผมที่ สิงคโปร์ อาร์ต สตรีท เมื่อต้นเดือนมกราคม เมื่อเขาสนใจ จากนั้นเราก็มาคุยงานกัน และเขาได้เล่าประวัติ รวมถึงการทำงานออกแบบประติมากรรมตกแต่งสปาของ กาลิเลโอ คีนิ ให้ฟัง
ผมก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและดูภาพผลงานของกาลิเลโอ คีนิ เยอะมาก เพื่อหาแรงบันดาลใจมาสร้างงานชิ้นนี้ ตอนที่กาลิเลโอ คีนิ มาเมืองไทยแล้วกลับไปที่อิตาลี เขาได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศไทยไปเยอะมาก และได้เอาไปพัฒนาต่อ
ผมจึงคิดว่า มันจะเป็นไปได้ไหมที่ ศิลปินไทยคนหนึ่งจะไปได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของ กาลิเลโอ คีนิ อีกทีนึง แล้วเอามาทำงานในเชิงของความเป็นไทย และโชว์ในกรุงเทพฯ”
มองจากระยะไกล เด็กเลี้ยงควายผมแดงของไมตรี จึงดูคล้ายภาพวาดหญิงสาวบนกระเบื้องภาพนั้นของ กาลิเลโอ คีนิ แต่เมื่อมองในระยะประชิด จะพบว่า ไมตรีได้ใส่เรื่องราวอันแสดงถึงวิถีชีวิตของไทย ลงไปในรายละเอียดของผลงานเทคนิคภาพโมเสกประดับกระจกสีที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ อาทิ แม่น้ำ เรือ วัว ควาย และปลา
“เพราะผมชอบความผูกพันของคนไทยกับแม่น้ำ”
จากความทรงจำอันเลือนลางสู่ความแจ่มชัดเกี่ยวกับ กาลิเลโอ คีนิ ...ไมตรีกล่าวว่า ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า กว่าศิลปินคนหนึ่งจะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาสักชิ้น ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเป็นอย่างดี
"ก่อนที่กาลิเลโอ คีนิ จะเขียนภาพที่พระที่นั่งอนัตสมาคม เขาต้องไปศึกษาทุกอย่าง ไม่ได้เขียนขึ้นมาเองจากจินตนาการ ขณะที่ผมจะใช้จินตนาการ ในการทำงานศิลปะเป็นส่วนใหญ่ แต่กาลิเลโอ คีนิ งานของเขามีพื้นฐานมาจากเรื่องจริง และต้องรู้เยอะมากเกี่ยวกับประเทศไทย ถึงจะเขียนงานออกมา เพราะงานที่เขาสื่อออกมามันจะต้องอยู่ไปอีกนานมาก เขาพยายามจะดึงความเป็นไทยร่วมสมัยในยุคนั้นเอามาใช้ แล้วรู้สึกจะดึงมาได้อย่างพอดี เข้าใจดึงเอกลักษณ์ในเรื่องสี การออกแบบชุด เขาทำหลายอย่างมาก ทั้งเขียน ทั้งออกแบบ ทำเยอะ ผมก็เลยคิดว่าการที่เราศึกษาก่อนลงมือทำงาน เป็นอะไรที่สำคัญ”
และในมุมมองของไมตรี เหตุผลที่คนไทยที่สนใจศิลปะต้องมาชมนิทรรศการครั้งนี้เพราะ กาลิเลโอ คีนิ ถือเป็นศิลปินในประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยคนหนึ่ง
“กาลิเลโอ คีนิ เป็นคนหนึ่งที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของศิลปะไทยเหมือนกันนะ ผลงานที่ฝากไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นงานที่จะอยู่กับคนไทยไปตลอด หลีกเลียงไม่ได้ว่าเขาไม่ได้เป็นศิลปินที่อยู่ในประวัติศ่าสตร์ของศิลปะไทย ดังนั้นถ้าคุณรักศิลปะ คุณก็ต้องมาทำความรู้จักเขา
และงานนี้มันแสดงให้เห็นว่าศิลปินคนนี้ไม่ได้เป็นแค่จิตรกรอย่างเดียว แต่ยังทำงานที่เป็นงานเชิงตกแต่ง เอางานไปอยู่ร่วมกับสถาปัตยกรรมที่เป็นสปาที่มีชื่อโด่งดังของยุโรป อาจจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของศิลปินหรือคนที่ทำงานศิลปะว่า นอกจากคุณจะทำงานเพื่อแสดงในแกลเลอรี่ คุณสามารถที่จะนำงานศิลปะของคุณไปเป็นส่วนหนึ่งกับงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ ทำงานร่วมกับสถาปนิกและดูเป็นตัวอย่างว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งศิลปินคนหนึ่งเขาทำงานอย่างไร”
กาลิเลโอ คีนิ ศิลปินแห่งชาติอิตาลี
ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีโอกาสไปร่วมชมนิทรรศการ และร่วมเป็นล่ามแปลภาษาอิตาเลียนให้เป็นไทย ร่วมกับประติมากร นที เกวกุล เพื่อให้สื่อมวลชนได้รู้จัก กาลิเลโอ คีนิ และผลงานมากขึ้น กล่าวถึงกาลิเลโอ คีนิ ในความทรงจำของตนเอง รวมไปถึงประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับจากการไปชมนิทรรศการว่า
“ครั้งแรกที่ไปอิตาลี ผมไปศึกษาต่อเรื่อง ประติมากรรมและงานออกแบบเครื่องประดับ ยังไม่มีโอกาสได้ไปศึกษาหอจดหมายเหตุของ กาลิเลโอ คีนิ
กระทั่งเมื่อสักสองสามปีนี่เอง หลังจากผมกลับมาจากอิตาลีและอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ (คณะบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)นำศิลปินไปแสดงงานที่เมืองลุคคา (Lucca) ซึ่งใกล้กับเมืองซัลโซ่มัจจอเร่ และได้พาเหล่าศิลปินไปเยี่ยมบ้าน Paola Chini หลานของกาลิเลโอ คีนี จึงได้ไปเห็นหอจดหมายเหตุที่เก็บรวบรวมงานทุกอย่างของเขาไว้ ตอนผมไปอยู่นุ่นผมไม่มีโอกาสเลย
เราอาจจะรู้จักเขาในแง่ที่เป็นจิตรกรเขียนภาพเฟรสโกในพระที่นั่งอนันตสมาคม และอาจจะรับรู้ว่าเขาเป็นจิตรกรในการเขียนภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยให้กับราชสำนักของเรา และมีผลงานบางส่วนเก็บไว้ที่อิตาลี
แต่ นอกจากเป็นจิตรกรแล้ว เขายังเป็นทั้งมัณฑนากร และ อะไรต่อมิอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า ยังมีผลงานออกแบบของเขาที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคอื่นๆเพื่อนำไปประดับตกแต่งอาคารสปาหลังนั้นที่เป็นโรงอาบน้ำสาธารณะ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขา ที่มีมากมายและเป็นมุมที่คนไทยอาจจะไม่รู้จัก แต่ที่อิตาลี เขาเปรียบ กาลิเลโอ คีนิ ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ คนหนึ่งเลย"
นิทรรศการ Galileo Chini The Jewels of Decorations (กาลิเลโอ คีนิ เดอะ จูเวลส์ ออฟ เดคอเรชั่นส์) วันที่ 16 - 29 กันยายน พ.ศ.2556 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ) โทร. 0-2610-8000
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วารี น้อยใหญ่
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews