xs
xsm
sm
md
lg

กาลิเลโอ: ผู้ถูกศาสนาคุกคาม (3)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจำลองเหตุการณ์เมื่อกาลิเลโอเข้าพิจารณาคดีในศาลศาสนา วาดโดย Cristiano Banti
บทความตอนจบของ ซีรีส์ "กาลิเลโอ กาลิเลอี บิดาของดาราศาสตร์ยุคใหม่" 3 ตอนจบ

เมื่อมีหลักฐานและคำอธิบายที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ในปี 1616 กาลิเลโอวัย 52 ปีจึงตัดสินใจเดินทางไปโรมในฐานะทูตวิทยาศาสตร์ของท่านดยุคแห่งทัสคานี เพื่อเข้าเฝ้าสันตะปาปา Paul ที่ 5 และจะได้บอกเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับเอกภพให้ประมุขของคริสตจักรฟัง และหวังว่าสันตะปาปาจะคล้อยตามความคิดเรื่องเอกภพของโคเปอร์นิคัส แต่กาลิเลโอต้องประสบความผิดหวัง เพราะบรรดาพระคาร์ดินัลและนักบวชในโรมยังศรัทธาและยึดมั่นในคำสอนของอริสโตเติลอย่างแรงกล้า

คนเหล่านั้นจึงกล่าวโจมตีกาลิเลโอว่ากำลังทำลายสถาบันศาสนา ด้วยการพยายามล้มล้างคำสอนทุกคำสอนที่มีในคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งยังได้จาบจ้วงอริสโตเติลด้วย และเมื่อกาลิเลโอเชื้อเชิญให้คนเหล่านั้นใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาว ทุกคนต่างปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเสียเวลา เพราะสามารถเห็นด้วยตาที่พระเจ้าประทานมาตั้งแต่เกิดแล้ว และการที่กาลิเลโออ้างว่าดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์เป็นบริวารนั้น บรรดานักบวชก็อ้างว่าทฤษฎีโหราศาสตร์ คัมภีร์ไบเบิล และตำราของอริสโตเติลต่างไม่เคยกล่าวถึงดวงจันทร์ที่ว่านี้เลย เมื่อไม่มีการกล่าวถึงในตำราใดๆ ดวงจันทร์เหล่านั้นก็ไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อมนุษย์ จึงไม่มีประโยชน์ และเมื่อไม่มีประโยชน์ใดๆ ดวงจันทร์เหล่านั้นก็ไม่มีจริง

ข้อโต้แย้งข้างๆ คูๆ เหล่านี้ทำให้กาลิเลโอต้องพยายามชี้แจงว่า คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ตำราวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นคำสอนต่างๆ ในไบเบิลจึงนำมาอ้างอิงในแวดวงวิชาการไม่ได้ กาลิเลโอยังได้กล่าวเตือนเหล่านักบุญให้ตระหนักว่า คัมภีร์ไบเบิลสอนคนให้รู้วิธีที่จะไปสวรรค์ หาได้บอกผู้คนให้รู้ว่าสวรรค์เคลื่อนที่อย่างไรไม่

กระนั้นสถาบันศาสนาแห่งวาติกันก็ยังยืนกรานไม่คล้อยตามกาลิเลโอ บุคคลสำคัญที่ต่อต้านกาลิเลโอมากที่สุดคือ Cardinal Bellarmine ผู้เคยตัดสินฆ่า จีออร์ดาโน บรูโน ด้วยการเผาทั้งเป็นมาแล้ว

Bellarmine ได้ห้ามกาลิเลโอมิให้สอนความคิดที่ว่าโลกเคลื่อนที่ได้ และดวงอาทิตย์อยู่นิ่ง มิฉะนั้นจะถูกลงโทษสถานหนัก เพราะกาลิเลโอไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่าโลกเคลื่อนที่ และถ้ากาลิเลโอจะเขียนหรือสอนเรื่องนี้ก็ให้แยกคำสอนทางศาสนาออกจากความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะต้องไม่โจมตีศาสนา

เมื่อถูกคาร์ดินัลขู่ลงโทษ กาลิเลโอจึงเดินทางกลับฟลอเรนซ์และทำงานวิทยาศาสตร์ต่ออย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็คิดจะเขียนเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงโดยใช้ชื่อเรื่องว่า “Dialogue on the Ebb and Flow of the Sea” และต้องระวังไม่เผยแพร่ความคิดของโคเปอร์นิคัสในที่สาธารณะใดๆ เพราะรู้ตัวดีว่ากำลังมีศัตรูที่มีอำนาจหลายคน

และศัตรูบางคนได้พยายามทำลายชื่อเสียงของกาลิเลโออย่างออกหน้าออกตา เช่น Christoph Scheiner นักบวชชาวเยอรมันซึ่งอ้างว่าได้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ก่อนกาลิเลโอ และจุดที่เห็นนั้นเป็นภาพลวงตา แต่กาลิเลโอยืนยันว่าดวงอาทิตย์มีมลทินจริง จึงกล่าวตำหนิติเตียน Scheiner ซึ่งทำให้ Scheiner รู้สึกแค้นมาก

ส่วนสาธุคุณ Orazio Grassi ซึ่งเคยเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมชาติของดาวหางในหนังสือชื่อ An Astronomical Disputation on the Three Comets of the Year 1618 และอ้างว่าวงโคจรของดาวหางเป็นวงกลมรอบโลก ดาวหางจึงอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางเท่าเดิมเสมอ แต่อยู่ไกลจากโลกยิ่งกว่าดวงจันทร์ ความคิดของ Grassi นี้ถูกกาลิเลโอโจมตีว่าเหลวไหล และดาวหางที่ Grassi เชื่อว่าเป็นดาวกาลกิณีนั้น แท้จริงแล้วดาวหางไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อคนบนโลก (แต่กาลิเลโอก็ไม่รู้ต้นกำเนิดของดาวหาง)

การตอบโต้บรรดานักบวชอย่างรุนแรงเช่นนี้ทำให้คนเหล่านี้ซึ่งเป็นที่เคารพของสังคมกลายเป็นศัตรูของกาลิเลโออย่างถาวร ยิ่งเมื่อกาลิเลโอย้ายมาทำงานที่ฟลอเรนซ์ซึ่งอยู่ในแคว้นทัสคานีที่สันตะปาปาทรงควบคุม บรรดานักบวชที่เป็นศัตรูของกาลิเลโอถือเป็นโชคดีมากที่จะได้กำจัดกาลิเลโอ จึงได้ยุยงสันตะปาปาให้เป็นศัตรูกับกาลิเลโอ

เมื่อความกังวลมีมากขึ้นเพราะกำลังกลัวภัยศาสนา กาลิเลโอจึงเขียนจดหมายถึง Grand Duchess Christina มารดาของท่านดยุคผู้อุปถัมภ์กาลิเลโอ และได้อธิบายนางให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา (จดหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกระทั่งปี 1636) ในช่วงเวลานั้นกาลิเลโอวัย 52 ปีได้ล้มป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบและรู้สึกเจ็บที่หน้าอกในบางเวลา ดังนั้นเมื่อเดินทางกลับจากโรม จึงฉวยโอกาสไปพักผ่อนที่วิลล่า Le Selve ของ Filippo Salviati ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่มีฐานะดีเป็นการชั่วคราว ก่อนจะย้ายไปที่วิลล่า Bellosquardo ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมือง Arcetri นัก

ความกังวลใจทำให้กาลิเลโอผลิตผลงานวิทยาศาสตร์น้อยลงมาก แต่ก็ยังสนใจหาวิธีปรับปรุงประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ และสนใจศึกษาอุปราคาของดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี

ในปี 1623 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือเรื่อง Il Saggiatore (The Assayer) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีแสวงหาความรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นการสังเกต การตั้งสมมุติฐาน การทดลองเชิงปริมาณ เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ และได้อุทิศหนังสือเล่มนี้แก่สันตะปาปา Urban ที่ 8 ซึ่งเดิมคือ Cardinal Maffeo Barberini ผู้เป็นเพื่อนสนิทของกาลิเลโอมาก Barberini ได้เคยทูลสันตะปาปา Paul ที่ 5 ไม่ให้ประณามกาลิเลโอว่าเป็นคนนอกรีตมาแล้ว และยังเป็นสมาชิกของ Accademia dei Lincei ซึ่งเป็นสมาคมเดียวกับกาลิเลโอด้วย

หลังจากสันตะปาปา Urban ที่ 8 ทรงดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึงปี พระองค์ทรงมีบัญชาให้กาลิเลโอเดินทางไปเข้าเฝ้าที่โรม และได้ตรัสชื่นชมผลงานเรื่อง The Assayer กาลิเลโอจึงทูลว่ากำลังเขียนหนังสือเรื่องการเปรียบเทียบเอกภพของปโตเลมีกับของโคเปอร์นิคัส และสันตะปาปาทรงเสนอแนะให้กาลิเลโอเขียนอย่างเป็นกลาง คือไม่ควรตำหนิไบเบิล เพราะพระองค์จะได้ช่วยปกป้องไม่ให้กาลิเลโอถูกประณาม และกาลิเลโอจะต้องไม่สนับสนุนโคเปอร์นิคัสอย่างออกหน้าออกตา เพราะกาลิเลโอยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างสมบูรณ์

กาลิเลโอรู้สึกยินดีมากที่สันตะปาปาพระองค์ใหม่ไม่ทรงขัดขวางเสรีภาพของนักวิทยาศาสตร์ในด้านความคิดและการแสดงออก จึงเดินทางกลับฟลอเรนซ์และลงมือเขียนหนังสือที่ได้ใฝ่ฝันมานานเป็นภาษาอิตาลีเพื่อให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ ในปี 1632 หนังสือเรื่อง Dialogo sopra i due massimi sistemi del mondo (Dialogue Concerning the Two Chief World Systems) ก็ปรากฏ

หนังสือนี้มีตัวละคร 3 คน คนแรกคือ Simplicio (Simplicus ในภาษาละตินแปลว่า “คนโง่”) ผู้ศรัทธาในคำสอนของอริสโตเติล ซึ่งสันตะปาปา Urban ที่ 8 ทรงเชื่อด้วย คนที่ 2 คือ Salviati ผู้ที่เชื่อคำสอนของโคเปอร์นิคัส และคนที่ 3 คือ Sagredo ซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่ตั้งคำถามต่างๆ ให้สองคนแรกตอบ และมีใจกว้าง แต่ในที่สุดก็ได้คล้อยตาม Salviati

ในปีที่หนังสือ Dialogue ออกวางขาย ผู้อ่านชาวอิตาลีได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ความนิยมชมชอบที่ประชาชนมีต่อกาลิเลโอทำให้บรรดาศัตรูของกาลิเลโอยิ่งโกรธแค้นมาก จึงลุกฮืออีกครั้งหนึ่ง และได้ยุยงสันตะปาปา Urban ที่ 8 ว่ากาลิเลโอเขียนเนื้อหาทำนองดูแคลนพระองค์ว่าโง่ และยังได้สนับสนุนความคิดของโคเปอร์นิคัสอย่างชัดแจ้งด้วย สันตะปาปาจึงทรงบัญชาให้กาลิเลโอเข้ามาชี้แจงด้วยข้อหาว่าเป็นคนที่ลบหลู่ศาสนาและเป็นคนนอกรีต

ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1633 กาลิเลโอวัย 69 ปีได้เดินทางไปที่ Convent of Minerva ในโรมเพื่อเข้าเฝ้าสันตะปาปา แม้ท่านดยุคทัสคานีจะทัดทานกาลิเลโอไม่ให้เดินทางไปโรม แต่ดยุคก็เกรงกลัวกองทัพของสันตะปาปาจะบุกรุกรานและยึดทัสคานี ในเบื้องต้นกาลิเลโอได้ทูลขอพระกรุณาจากสันตะปาปาว่าจะไปถวายคำชี้แจงใกล้ๆ คือเมืองที่ฟลอเรนซ์ เพราะกำลังป่วยและมีอายุมากแล้ว แต่สันตะปาปาทรงปฏิเสธ กาลิเลโอจึงต้องเดินทางไปโรมตามบัญชา และได้เข้าพักที่บ้านของทูตทัสคานีประจำวาติกัน

ตลอดเวลากาลิเลโอรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงที่ต้องเผชิญหน้าผู้กล่าวหาในศาลศาสนา ในความรู้สึกส่วนตัว กาลิเลโอคิดว่าสันตะปาปาเป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์จึงเป็นคนบ้านเดียวกับตน และเป็นนักปรัชญาผู้มีความคิดว่าศาสนามีความสำคัญต่อชีวิต นอกจากนี้ก็เป็นเพื่อนเก่า จึงไม่น่าที่เพื่อนจะรุนแรงกับเพื่อนเก่า และอาจสนับสนุนความเชื่อของตนก็ได้

ในขณะเดียวกันสันตะปาปาเองก็ทรงเชื่อว่ากาลิเลโอซึ่งเป็นเพื่อนเก่าจะไม่จาบจ้วงศาสนาคริสต์ที่พระองค์ทรงเป็นประมุข แต่จากหนังสือ Dialogue ที่พระองค์ทรงอ่านแล้วก็ทรงเห็นชัดว่ากาลิเลโอได้ลำเอียงเข้าข้างโคเปอร์นิคัส ทั้งๆ ที่ได้เคยสัญญาว่าจะวางตัวเป็นกลาง กาลิเลโอจึงได้ทรยศต่อคำมั่นสัญญาเดิม อีกทั้งยังได้ทำให้พระองค์ทรงเป็นตัวตลกโง่ในบทของ Simplicio ด้วย

ในวันที่ศาลศาสนาจะตัดสิน กาลิเลโอเลือกสวมเสื้อป่านสีขาว ซึ่งเป็นการแต่งกายของคนที่สำนึกบาป มีใบหน้าซีดเพราะกำลังป่วย และกลัวตายจนแข้งขาสั่น หลังจากที่ได้ฟังคำฟ้องว่ากาลิเลโอจงใจลบหลู่ศาสนาอย่างรุนแรง ในเบื้องต้นสันตะปาปาไม่ทรงดำริจะเอาผิดกับกาลิเลโอ แต่บรรดาศัตรูของกาลิเลโอได้เข้ามาเจรจาโน้มน้าวจนพระองค์เปลี่ยนพระทัย

สันตะปาปาจึงทรงตัดสินห้ามกาลิเลโอเผยแพร่ความเชื่อที่ว่าโลกเคลื่อนที่ได้ และให้ยอมรับว่าข้อความที่เขียนในหนังสือ Dialogue นั้นขัดกับคำสอนที่มีในไบเบิลทุกเรื่อง และบังคับให้กาลิเลโอยอมรับโดยดีว่าตนคิดผิด อีกทั้งให้สาบานว่าจะไม่เขียน ไม่พูด ไม่สอนความเชื่อผิดๆ นี้อีกจนตลอดชีวิต และถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ กาลิเลโอจะถูกขังคุกและจะถูกทรมานจนตายเหมือนจีออร์ดาโน บรูโน เมื่อ 33 ปีก่อน กาลิเลโอจึงจำใจลงนามให้คำมั่นสัญญาอย่างไม่เต็มปากเต็มคำ และถูกสันตะปาปาส่งไปกักบริเวณที่เมือง Siena ตามคำเชื้อเชิญของอาร์คบิชอปแห่ง Siena

ขณะเดินออกจากห้องพิพากษา กาลิเลโอได้พึมพำกับตัวเองว่า “Eppur si muove” ซึ่งแปลว่า “จะยังไงๆ โลกก็ยังเคลื่อนที่ได้อยู่ดี”

กาลิเลโอรู้สึกว่าตนถูกกระทำอย่างรุนแรงเกินเหตุโดย “เพื่อน” เก่า ที่สั่งห้ามไม่ให้ทำงานวิชาการทุกชนิดซึ่งต้องยอมทำตาม เมื่อเดินทางถึง Siena กาลิเลโอได้รับการต้อนรับที่ดีจากอาร์คบิชอป Ascanio Piccolomini แต่ศัตรูของกาลิเลโอก็ยังไม่สะใจและไม่ยอมเลิกรา จึงได้ระดมคนมาตะโกนประณามกาลิเลโอเวลาไปไหนมาไหน จนกาลิเลโอถึงกับร่ำไห้ และเดินไปมาเหมือนคนเสียสติ ยิ่งเมื่อรู้ในเวลาต่อมาว่าคำพิพากษาลงโทษตนได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วยุโรปแล้ว กาลิเลโอจึงตัดสินใจขออนุญาตสันตะปาปาเดินทางกลับเมือง Arcetri เพื่อจะได้อยู่ใกล้ที่พึ่งทางใจแหล่งสุดท้ายคือ Maria Celeste ผู้เป็นบุตรสาว ส่วนหนังสือ Dialogue นั้นได้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่จนกระทั่งถึงปี 1822 (หลังจากกาลิเลโอเสียชีวิตไปแล้ว 180 ปี)

การถูกกักบริเวณหมายความว่า เวลากาลิเลโอจะเดินทางไปที่ใดต้องขออนุญาตจากสันตะปาปาก่อน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้รับอนุญาต แต่ถึงสถานการณ์จะลำบากยากเย็นปานใด กาลิเลโอก็ยังคงทำงานวิทยาศาสตร์ต่อไปอย่างเงียบๆ

ในปี 1638 กาลิเลโอวัย 74 ปีได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Discourse on two New Sciences นี่เป็นการรวบรวมความคิดทางปรัชญาของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะกลศาสตร์ที่ตนได้เคยทดลองเมื่อ 40 ปีก่อน อีกหนึ่งปีต่อมาก็ได้เขียนบทความเรื่องลักษณะการเคลื่อนที่ที่ไม่ปรกติ (libration) ของดวงจันทร์ นี่คือผลงานดาราศาสตร์สำคัญชิ้นสุดท้ายของกาลิเลโอ เพราะขณะนั้นตาทั้งสองข้างเริ่มเป็นต้อหิน ทำให้เห็นไม่ค่อยชัด จึงต้องอยู่แต่ในบ้าน

เมื่อตาใกล้จะบอดสนิท ศิษย์ของกาลิเลโอสองคนคือ Vincenzo Viviani และ Evangelista Torricelli (ผู้ประดิษฐ์บารอมิเตอร์เป็นคนแรก) ได้ทำหน้าที่เลขานุการให้อาจารย์ เช่นช่วยเขียนตามคำบอก และปรนนิบัติอาจารย์ ในช่วงเวลานี้กาลิเลโอมีอาคันตุกะต่างชาติมาเยี่ยมบ้าง เช่น John Milton กวีแห่งอังกฤษ ผู้เห็นอกเห็นใจกาลิเลโอมากจนถึงกับกล่าวว่า อิสรภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่จะแสวงหาความรู้ และการบีบบังคับคือการทำลายความพยายามนั้น

ในปี 1638 กาลิเลโอได้ให้ลูกศิษย์สองคนทดลองวัดความเร็วแสง โดยให้คนทั้งสองยืนถือตะเกียงที่อยู่ห่างกัน กาลิเลโอตระหนักดีว่าถ้าให้คนแรกเปิดตะเกียง แล้วให้อีกคนจับเวลาทันทีที่เห็นแสงจากตะเกียงดวงแรก การรู้ระยะทางและเวลาจะทำให้รู้ความเร็วแสง และกาลิเลโอก็พบว่าไม่สามารถวัดเวลาที่เห็นแสงตะเกียงได้
 หลุมฝังศพของกาลิเลโอใน Santa Croce
ตลอดเวลาที่ถูกกักบริเวณ กาลิเลโอรู้สึกเหมือนตนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ได้อาศัย Maria Celeste ส่งยามาให้กินยามเจ็บป่วย แม้ในยามที่กาลิเลโอรู้สึกซึมเศร้าและนอนไม่หลับ Maria Celeste ก็จะเขียนจดหมายมาปลอบโยนและให้กำลังใจ ซึ่งกาลิเลโอก็ตอบจดหมายทุกครั้งไป Maria Celeste รู้สึกสงสารบิดามากจนถึงกับกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้เธอจะขออาสารับโทษแทนบิดา

ในที่สุด Maria Celeste วัย 33 ปีก็เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสมัยนั้น บรรดาแม่ชีร่วมสำนักจึงนำสมบัติส่วนตัวทุกชิ้นของเธอ รวมถึงจดหมายทุกฉบับที่กาลิเลโอเขียนถึงไปเผา เพราะถือว่าเป็นจดหมายจากบุคคลต้องห้าม

ทันทีที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของบุตรีสุดที่รัก กาลิเลโอวัย 77 ปีก็ยิ่งโศกเศร้าทอดอาลัยยิ่งขึ้นไปอีก แต่ก็ยังทำงานวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยเฉพาะด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ซึ่งกาลิเลโอได้พยายามเน้นให้เห็นความสำคัญของการทดลองว่าเป็นเกณฑ์ตัดสินความจริงในธรรมชาติทุกเรื่อง และนี่ก็คือหลักการที่นักวิทยาศาสตร์ยังยึดใช้มาจนทุกวันนี้และจะตลอดไป

ในส่วนของคณิตศาสตร์นั้น กาลิเลโอเชื่อมั่นว่า “เอกภพถูกกำหนดให้เป็นไปด้วยคณิตศาสตร์” ดังนั้นคนที่ไม่รู้คณิตศาสตร์จะไม่มีวันเข้าใจเอกภพ อนึ่งในการศึกษานั้น กาลิเลโอคิดว่าคนที่จะพบองค์ความรู้ใหม่ต้องเห็นแตกต่าง เพราะถ้าเห็นเหมือนคนอื่นตลอดเวลาก็จะไม่มีวันพบอะไรเป็นคนแรกเลย กาลิเลโอยังเชื่ออีกว่าอำนาจและอายุมิได้เป็นเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าใครรู้จริงหรือไม่จริง และคนเราได้ความรู้จากการแสวงหาเท่านั้น

สุขภาพของกาลิเลโอเริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว เพราะป่วยเป็นไส้เลื่อน นอนไม่หลับ และหัวใจเต้นผิดปรกติ ในที่สุดตาทั้งสองข้างของคนซึ่งเคยเห็นรายละเอียดบนสวรรค์เป็นคนแรกก็บอดสนิท กาลิเลโอเสียชีวิตในเวลากลางคืนของวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1642 สิริอายุ 78 ปี

ท่านดยุคทัสคานี Ferdinado ที่ 2 ต้องการฝังศพของกาลิเลโอที่ Basilica ในโบสถ์ที่ Santa Croce และตั้งใจจะสร้างรูปปั้นหินอ่อนบนโลงศพเพื่อเป็นเกียรติแก่กาลิเลโอ แต่ก็ต้องเปลี่ยนความตั้งใจ เพราะสันตะปาปา Urban ที่ 8 ทรงประท้วง ในที่สุดศพของกาลิเลโอก็ถูกนำไปฝังที่ Santa Croce ใกล้ๆ กับศพของ Maria Celeste โดยไม่มีพิธีสวดใดๆ จนถึงปี 1737 ทางการจึงสร้างอนุสาวรีย์ประดับหลุมฝังศพให้

ถึงกาลิเลโอจะเสียชีวิตไปเป็นเวลานานแล้ว แต่วิทยาศาสตร์ที่กาลิเลโอสร้างก็ไม่ได้ดับสูญตาม เมื่อสถาบันศาสนาในอิตาลีต่อต้านวิทยาศาสตร์ของกาลิเลโออย่างรุนแรง วิทยาศาสตร์จึงเดินทางออกจากอิตาลี ขึ้นทางเหนือไปอังกฤษ เพราะในปีที่กาลิเลโอเสียชีวิต เมื่อถึงวันที่ 25 ธันวาคม ไอแซก นิวตัน ก็ถือกำเนิด

เก้าสิบห้าปีหลังการเสียชีวิตของกาลิเลโอ คือในปี 1737 นิ้วกลางมือขวาของกาลิเลโอถูกตัดนำไปใส่ในขวดโหลเคลือบทองคำเพื่อแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Museo di Storia della Scienza ในเมืองฟลอเรนซ์

ในปี 1741 สันตะปาปา Benedict ที่ 14 ทรงอนุญาตให้มีการตีพิมพ์ผลงานฉบับสมบูรณ์ของกาลิเลโอ แต่ได้ดัดแปลงเนื้อหาและสำนวนบางตอนในหนังสือ Dialogue

ในปี 1758 คำสั่งให้ Dialogue เป็นหนังสือต้องห้ามถูกยกเลิกเป็นบางส่วน และคำสั่งห้ามถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ในปี 1835

ในปี 1810 เมื่อจักรพรรดินโปเลียนทรงทำสงครามชนะอิตาลีและยึดครองดินแดนบางส่วนได้ พระองค์ทรงมีบัญชาให้ทหารฝรั่งเศสยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนกาลิเลโอเพื่อนำไปปารีส โดยตั้งพระทัยจะเผยแพร่การสอบสวนที่ยิ่งใหญ่ให้โลกเข้าใจความขัดแย้งระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ แต่พระประสงค์ไม่บรรลุผลด้วยนโปเลียนทรงพ่ายแพ้ในสงคราม ทำให้ 2 ใน 3 ของเอกสารที่ยึดไปถูกทำลาย

ในปี 1939 สันตะปาปา Pius ที่ 12 ทรงยกย่องกาลิเลโอเป็นวีรบุรุษผู้กล้าหาญที่สุดคนหนึ่งของโลก เพราะเป็นผู้กล้าท้าทายบทลงโทษของฝ่ายศาสนาในสมัยนั้น

ในปี 1992 สันตะปาปา John Paul ที่ 2 ทรงแถลงว่าการไต่สวนกาลิเลโอโดยสำนักวาติกันเป็นการกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรม เพราะศาสนาไม่ควรตัดสินหรือพิพากษาวิทยาศาสตร์ และกาลิเลโอได้แปลความหมายต่างๆ ที่มีในคัมภีร์ไบเบิลได้เหมาะสม องค์สันตะปาปายังทรงชื่นชมว่ากาลิเลโอได้ทำให้ปราสาทมืดของอริสโตเติลมีแสงสว่าง หลังจากที่ถูกปิดสนิทมานานร่วม 2,000 ปี

ในปี 1995 ยานอวกาศ Galileo ได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี เพื่อสำรวจดวงจันทร์บริวารต่างๆ ของดาวพฤหัสบดี และดาวพฤหัสบดีเองที่ระยะใกล้

ในปี 2008 สันตะปาปา Benedict ที่ 16 ทรงเปิดอนุสาวรีย์กาลิเลโอในมหาวิหาร St.Peter ที่วาติกัน

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2002 Wallace Hager แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนาที่ Bloomington ในสหรัฐอเมริกา ผู้ต้องการจะรู้ว่ากาลิเลโอพบกฎการตกของวัตถุเมื่อใด เพราะในหนังสือ On Motion ที่กาลิเลโอเขียนในปี 1590 กฏนี้ไม่ปรากฏ แต่ใน Dialogue ที่กาลิเลโอเขียนในปี 1632 กฎนี้มีปรากฏความไม่แน่นอนในปีเกิดจากการที่กาลิเลโอไม่ชอบเขียนวันหรือปีที่ทำงานค้นคว้าองค์ความรู้ต่างๆ ดังนั้นการจัดเรียงลำดับเหตุการณ์การค้นพบจึงสร้างปัญหาให้นักประวัติศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ Wallace Hager กับคณะนักวิจัยแห่ง National Institute of Nuclear Physics ที่เมืองฟลอเรนซ์ จึงวิเคราะห์เวลาโดยการระดมยิงบันทึกเรื่องการตกของวัตถุที่กาลิเลโอเขียนด้วยอนุภาคโปรตอน ซึ่งเมื่อปะทะหยดหมึกในบันทึก รังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้นสามารถบอกปริมาณของธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี และตะกั่วที่มีในหมึกได้ ข้อมูลที่ได้จากการทดลองแสดงว่าหมึกที่กาลิเลโอใช้ในการบันทึกกฎการตกและสถานภาพทางการเงินของกาลิเลโอขณะนั้น มีอายุ 396 ปี นั่นคือบันทึกถูกเขียนเมื่อปี 1606 และการค้นพบนี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nuncius ของอิตาลีเมื่อปี 2003 Hager จึงคิดใช้เทคนิคนี้จัดเรียงลำดับเวลาของผลงานทั้งหมดของกาลิเลโอ

ทุกวันนี้ กาลิเลโอได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาคนหนึ่งของดาราศาสตร์ยุคใหม่ โดยการนำหลักฐานจากการทดลองเพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนความคิดคาดคะเนและจินตนาการ และเป็นผู้ใช้เสรีภาพทางความคิดส่วนบุคคลท้าทายอำนาจของศาสนา ด้วยการเขียน สอน และปราศรัยความเชื่อของตนจนถูกศาลศาสนาลงโทษ แม้ในขณะที่กาลิเลโอยังมีชีวิตอยู่จะไม่มีคนยอมรับว่าเขาเป็นอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในถึงปัจจุบัน คนทั้งโลกยอมรับและชื่นชมกาลิเลโอแล้ว เพราะกาลิเลโอได้ทำให้ทุกคนเห็นความงามและความมีเหตุผลของวิทยาศาสตร์ ที่ทุกคนสามารถเข้าใจและซาบซึ้งได้

กาลิเลโอได้วางรูปแบบการทำงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์และการทดลองเพื่อแสวงหาความรู้ และอาศัยใจที่เปิดกว้างอย่างปราศจากอคติ โดยกาลิเลโอได้เน้นว่า ปราชญ์มิใช่คนที่เป็นนักอ่านหรือเป็นคนที่มีจินตนาการเพียงอย่างเดียว ถ้าสิ่งที่อ่านหรือรู้นั้นไม่มีการทดลองสนับสนุน ความคิดนี้จึงตรงกับที่ไอน์สไตน์คิด และไอน์สไตน์ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่มีความศรัทธาในกาลิเลโอมากที่สุด จึงได้เจริญรอยตามความเชื่อของกาลิเลโอที่ว่า “ความรู้เกี่ยวกับความจริงในธรรมชาติทุกรูปแบบ เริ่มและสิ้นสุดด้วยประสบการณ์” (All knowledge of reality starts from experiences and ends in it)

นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา และนักประพันธ์ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้เพราะความคิดต่างๆ จะถูกท้าทายอยู่เสมอ และการท้าทายนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีชีวิต เพราะเมื่อใดที่ความเชื่อที่เหลวไหลถูกทำลายไปเพราะถูกหลักฐานคัดค้าน วิทยาศาสตร์iก็จะเจริญ แต่ถ้าความเชื่อได้รับการยืนยันเพราะมีหลักฐานสนับสนุนเพิ่มเติม วิทยาศาสตร์ก็จะยืนยงต่อไป

ดังนั้น การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ดี ชอมสกีคิดว่าควรเป็นไปในแนวต่อต้านและสงสัย ไม่ใช่สอนให้ท่องจำและเชื่อตลอดเวลา เฉกเช่นที่กาลิเลโอได้กระทำไปเมื่อ 4 ศตวรรษก่อนนี้

อ่านเพิ่มเติมจาก Aristotle, Galileo, and the Tower of Pisa. โดย Lane Cooper จัดพิมพ์โดย Cornell University Press, ปี 1935

และเรื่อง The Natural Philosophy of Galileo. โดย Maurice Clavelin ที่จัดพิมพ์โดย MIT Press, ในปี 1974

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น