ชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายคน แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีบิดาที่มีอาชีพแตกต่างจากบุตร เช่น Josiah Willard Gibbs ผู้บุกเบิกเคมีเชิงฟิสิกส์มีบิดาเป็นศาสตราจารย์วรรณคดี Max Born บิดาคนหนึ่งของกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1954 มีพ่อเป็นนักคัภพวิทยา (วิทยาศาสตร์ของตัวอ่อน) Niels Bohr ผู้สร้างทฤษฎีอะตอมของไฮโดรเจน และได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1922 เป็นลูกของศาสตราจารย์สรีรวิทยา Maria Goeppert – Mayer สตรีเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1963 ด้วยผลงานทฤษฎีโครงสร้างของนิวเคลียสมีบิดาเป็นศาสตราจารย์กุมารเวชศาสตร์ ด้าน Hideki Yukawa ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1949 ด้วยทฤษฎีแรงนิวเคลียร์ มีพ่อเป็นศาสตราจารย์ภูมิศาสตร์ แม้นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะมีความถนัดระดับสุดยอดไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนก็มีจุดร่วม คือ มีบิดาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้นความสำเร็จทางวิชาการของลูกจึงเป็นไปตามสูตรที่ว่า “เชื้อไม่ทิ้งแถว”
แต่ในขณะเดียวกันโลกก็มีอัจฉริยะนักวิทย์อีกหลายคนที่มีบิดาเป็นชาวบ้านธรรมดา เช่น Hermann von Helmholtz ผู้พบกฎทรงพลังงาน มีบิดาเป็นครู Paul Dirac ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1933 ด้วยผลงานทฤษฎี Quantum Electrodynamics (QED) ก็มีบิดาเป็นครูเช่นกัน ส่วน James Clerk Maxwell ผู้โด่งดังด้วยทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า มีพ่อเป็นนักกฏหมาย Hans Oersted ผู้พบว่าเวลากระแสไฟฟ้าไหลในเส้นลวดจะเกิดสนามแม่เหล็กในบริเวณโดยรอบเส้นลวด มีพ่อเป็นเภสัชกร Robert Millikan ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1923 จากความสำเร็จในการวัดประจุของอิเล็กตรอนเป็นบุตรของนักเทศน์ Peter Kapitza ซึ่งรับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1978 จากการพบของเหลวยวดยิ่งมีพ่อเป็นวิศวกร Galileo Galilei ผู้ปฏิรูปดาราศาสตร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่สร้างเอง เป็นลูกของนักดนตรี Christian Huygens ผู้สร้างทฤษฎีคลื่นของแสง มีพ่อเป็นกวี Joseph Thomson ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1906 จากการพบอิเล็กตรอนมีบิดาเป็นนักธุรกิจ Isaac Newton ผู้พบแรงโน้มถ่วงมีพ่อเป็นเจ้าของฟาร์ม Johannes Kepler ผู้พบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ เป็นลูกของนายทหาร Albert Einstein เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1921 จากทฤษฎีของปรากฎการณ์ photoelectric มีบิดาเป็นพ่อค้า George Ohm ผู้พบกฏของโอห์ม เป็นลูกของช่างทำกุญแจ Michael Faraday ผู้พบวิธีผลิตไฟฟ้าโดยการหมุนขดลวดให้ตัดสนามแม่เหล็ก เป็นลูกของช่างตีเหล็ก บิดาของ Ernest Rutherford ซึ่งพบนิวเคลียสในอะตอม และเป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 1908 มีพ่อเป็นช่างซ่อมรถยนต์ ด้าน Otto Hahn เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 1944 จากการพบปรากฏการณ์ fission ที่นิวเคลียสของยูเรเนียม -235 แยกตัว เมื่อได้รับนิวตรอน มีบิดาเป็นช่างตัดกระจก เหล่านี้คือตัวอย่างของลูกๆ ที่ได้ดี เพราะ “แหกคอก” และทำตัวเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น จนได้รับความสำเร็จที่น่าชื่นชม โดยไม่ได้อาศัยบารมีของบิดาที่เป็นคนโนเนมเลย
กลุ่มตัวอย่างแรกเป็นเรื่องของพ่อเก่ง และลูกก็จะเก่งตาม ส่วนรายชื่อในกลุ่มที่สองเป็นกรณีที่พ่อไม่เด่น แต่ลูกเก่ง และลูกเหล่านี้ส่วนใหญ่แทบไม่มีปัญหาในการดำรงชีวิตเลย คำถามที่ทุกคนใคร่รู้คำตอบคือ ในกรณีที่พ่อเก่ง แล้วลูกไม่เก่ง เหล่าทายาทของคนดังหรือลูกๆ ของอัจฉริยะบุคคลเหล่านี้ได้รับความกดดันจากสังคมมากเพียงใด และครองตัวอย่างไร คำตอบตัวอย่างมีทั้งบวกและลบ
ในกรณีที่ค่อนข้างดีได้แก่ Stephen Bragg ผู้มีปู่ชื่อ Lawrence Bragg และบิดาชื่อ William Bragg ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกันในปี 1915 จากการวิเคราะห์โครงสร้างของผลึกเกลือแกงด้วยรังสีเอ็กซ์ Stephen บอกว่าเมื่อปู่กับบิดาได้รับรางวัลโนเบล คนที่ตื่นเต้นที่สุด คือครูที่สอนตน ส่วนเพื่อนๆ ไม่สนใจเลย สำหรับตัวเขาเองได้ตัดสินใจไม่เรียนฟิสิกส์ เพราะไม่ต้องการให้ใครคาดหวังว่าเขาจะได้รางวัลโนเบลด้วย จึงหันไปทำงานเป็นวิศวกรเครื่องกล สำหรับ Gari Giaver ก็เล่าว่า เมื่อพ่อ Ivar Giaver ปลุกเธอในตอนเช้า แล้วบอกว่าพ่อได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1973 จากการพบปรากฏการณ์ทะลุทะลวงในตัวนำยวดยิ่ง ขณะนั้นเธอซึ่งมีอายุเพียง 10 ขวบ และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ่อกับแม่ตื่นเต้นด้วยเรื่องอะไร แต่เมื่อเธอจะไปโรงเรียนในตอนเช้าวันนั้น ทางบริษัท General Electric ที่พ่อทำงานอยู่ได้ส่งรถ limousine มารับที่บ้าน และมีพรมแดงวางลาดให้พ่อกับเธอเดินขึ้นรถ ณ วินาทีนั้น เธอรู้ทันทีว่า พ่อเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกแล้ว ด้าน Rena Lederman ซึ่งมีพ่อชื่อ Leon Lederman ผู้พบความแตกต่างระหว่าง electron neutrino กับ muon neutrino และพบควาร์กชนิด bottom ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1988 เธอเล่าว่า นามสกุล Lederman ทำให้เธอได้งานเป็นอาจารย์สอนวิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Princeton สำหรับ Tobi Delbrück บุตรีของ Max Delbrück เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ปี 1969 จากการศึกษาพันธุกรรมของไวรัส เล่าว่า การมีพ่อที่มีชื่อเสียงทำให้เธอได้พบและรู้จักคนที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่น ได้เคยเดินป่ากับ Richard Feynman เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1965 จากผลงาน QED และ Feynman ได้เล่าวิธีถอดรหัสกุญแจให้ฟังจนแจ่มแจ้ง บิดายังได้พาเธอไปที่ Cold Spring Harbor และที่นั่นเธอได้พบ James Watson กับ Francis Crick เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์และสรีรวิทยาปี 1962 จากการพบโครงสร้างของ DNA อีกทั้งยังได้สนทนากับ Barbara Mclintock ผู้พบ jumping gene ซึ่งทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ประจำปี 1983 ด้วย
เหล่านี้คือประสบการณ์ด้านดีของของเหล่าทายาทคนดัง แต่ในบางคนความสามารถที่มากเกินคนปกติของพ่อได้ทำให้สังคมตั้งความหวังว่า ลูกจะยิ่งใหญ่เท่าพ่อ เพราะคิด (ไปเอง) ว่า สติปัญญาเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และความกดดันนี้ได้สร้างเงาที่บดบังชีวิตของลูกจนมืดสนิท
เช่น Lucia Joyce ซึ่งเป็นลูกสาวของ James Joyce นักประพันธ์เจ้าของเรื่อง Ulysses ที่โด่งดัง เธอได้พบว่านามสกุลของเธอไม่ได้ช่วยให้เธอประสบความสำเร็จในงานอาชีพใดๆ ที่เธอเลือกเลย จนเธอมีอารมณ์แปรปรวน และยามใดที่เข้าใกล้พ่อ เธอจะรู้สึกไร้คุณค่าจนต้องระบายออกด้วยการขว้างปาสิ่งของ และมีอาการคลุ้มคลั่งจนต้องหาทางออกโดยการสำส่อนกับคนที่มีชื่อเสียงเช่น นักประพันธ์รางวัลโนเบล Samuel Beckett และจิตรกร Alexander Calder เป็นต้น จนในที่สุดจิตแพทย์ Carl Jung ต้องเข้ามารักษาเธอแต่ก็ไม่หาย ทำให้เธอต้องเข้ารับการดูแล และรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต ในที่สุดเธอได้ฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาพิษ
หรือในกรณีทายาทของ Einstein ซึ่งมีลูก 3 หลาน 2 และเหลน 5 คน แต่บรรดาลูก (ณ วันนี้) ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว โดยเริ่มจากลูกสาว Lieserl แล้วตามด้วย Hans Albert จนถึงคนสุดท้องชื่อ Edouard ซึ่งทั้งสามคนเกิดในช่วงปี 1902 – 1910 การศึกษาประวัติของเด็กทั้งสามได้พบว่าเมื่ออายุ 2 ขวบ Lieserl ได้เสียชีวิตด้วยไข้ดำแดง ด้าน Edouard ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลโรคจิตที่ Zurich จนกระทั่งอายุ 38 ปีแพทย์ได้วิเคราะห์พบว่าป่วยเป็นโรคจิตเภท ติดยา และได้เสียชีวิตในโรงพยาบาล สำหรับ Hans Albert ลูกคนกลางได้พยายามจะมีชีวิตและเจริญรอยตามพ่อ แต่ทำไม่ได้ กระนั้นก็นับว่าได้ประสบความสำเร็จเป็นวิศวกร hydraulics เมื่อเข้าพิธีสมรสกับ Frieda Knecht ผู้มีอายุมากกว่า Hans 9 ปี ประเด็นอายุนี้ได้ทำให้ Einstein ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง (เพราะ Einstein เองก็ได้แต่งงานกับ Mileva Maric ผู้มีอายุมากกว่าเช่นกัน และได้ทายาทที่มีปัญหาด้านจิตใจหลายคน) อย่างไรก็ตาม Hans Albert กับ Frieda ก็ได้ให้กำเนิด Bernhard Einstein ในปี 1930 (หลานคนแรกของ Einstein) และอีก 2 ปีต่อมาก็ได้ลูกชายอีกคนชื่อ Klaus หลังจากนั้นครอบครัวได้อพยพจากสวิสเซอร์แลนด์ไปอเมริกา และ Klaus ได้เสียชีวิตด้วยโรคคอตีบ
ด้าน Bernhard Einstein เล่าว่า มีครั้งหนึ่งที่เขาเดินเข้าหาปู่และ Einstein ได้เอ่ยถามว่า หลานรู้อะไรเกี่ยวกับพลังงานบ้าง เมื่อ Bernhard ตอบ ปู่ไม่ได้พูดอะไรต่อ ขณะนี้ครอบครัว Bernhard มีลูก 5 คน ทุกคนมีปัญหาไม่มากก็น้อยสืบเนื่อง จากการมีนามสกุลว่า Einstein และจนทุกวันนี้ไม่มีใครต้องการให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยจะขอใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ
สำหรับหลานอีกคนหนึ่งของ Einstein ซึ่งเป็นลูกบุญธรรมของ Hans Albert ชื่อ Evelyn ซึ่งเกิดเมื่อปี 1941 และได้ทำงานเป็นตำรวจหญิง แล้วแต่งงานแต่หย่าในเวลาต่อมา กลับมีฐานะยากจนมากจนต้องเดินเก็บเศษขยะขาย ในที่สุดก็ได้จบชีวิตอย่างขมขื่น
นี่คือตัวอย่างที่แย่ของลูกที่มีพ่อที่มีชื่อเสียง
ถึงวันนี้สังคมก็กำลังมีปัญหาในลักษณะที่คล้ายกัน เช่น พ่อแม่มีชื่อเสียงมาก แต่ลูกๆ กำลังเครียดจัด เพราะพ่อแม่และสังคมมีความคาดหวังสูงในตัวลูกจึงทั้งผลักทั้งดันให้ลูกเรียนเก่งโดยต้องการให้ชนะเพื่อนทุกคนในการสอบทุกครั้ง และเก่งในทุกๆ เรื่องจึงถวายความสะดวกสบายทุกรูปแบบให้ เช่น อุปกรณ์ความสะดวกสบาย เงินและคนใช้ จนลูกสุดที่รักทำอะไรอื่นใดในชีวิตไม่เป็น นอกจากเรียนๆๆๆ ชีวิตจึงเหงามาก และรู้สึกขาดความมั่นใจว่าตนคงไม่มีวันทำให้พ่อแม่พึงพอใจได้ และอาจเริ่มมีอาการซึมเศร้า กังวล กินอาหารไม่ปกติ เริ่มเกลียดตัวเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย
ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในชีวิต จึงไม่ควรกำหนดเกณฑ์ที่สูงมากให้ลูกทำ เพราะลูกมักต้องการเสรีภาพในการเลือกวิถีชีวิตของตนเอง และควรให้เขารับผิดชอบชีวิตตนเองบ้าง จึงควรปล่อยให้ลูกพยายามทำให้ดีที่สุด แม้จะไม่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ก็ตาม แต่ถ้าดีที่สุดสำหรับลูกเองก็นับว่าดีพอแล้ว
ในหนังสือ The Price of Privilege ของ Madeline Levine ที่จัดพิมพ์โดย Harper Collins ปี 2006 เธอได้กล่าวถึงพ่อแม่ที่มีชื่อเสียงว่า ลูกๆ อาจได้ยีนหน้าตา และบุคคลิกบางส่วนจากบิดามารดา แต่ลูกมักไม่ได้จิตใจจากพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ต้องยอมรับข้อจำกัดนี้ และปล่อยให้ลูกมีเวลาที่เป็นของตัวเอง เพื่อค้นหาว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร แต่ไม่ควรอยู่ไกลเกินที่ลูกจะเข้าหา เวลาเขาต้องการคำปรึกษา และไม่ควรทำตัวเป็นแบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ตามจับตาดูลูกตลอดเวลา เช่นไปถามครูเรื่องคะแนนสอบของลูก เป็นต้น เพราะการกระทำเช่นนี้ จะทำลายพัฒนาการทางจิตใจของลูก พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เผชิญสถานการณ์ที่ลำบากบ้าง เพื่อให้ลูกได้ฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
Levine ได้เสนอแนะว่า พ่อแม่ที่มีชื่อเสียงไม่ควรเสียเวลาสร้างลูกที่ perfect (เพราะจะไม่สำเร็จ) ไม่ควรผลักไสลูกหรือวิพากษ์วิจารณ์ลูกบ่อย เพราะจะทำให้ลูกเกลียดตัวเอง ควรให้ความอบอุ่น เช่น กอด หรือปลอบโยนทุกโอกาสที่เหมาะสม เน้นให้ลูกมีวินัยในการใช้ชีวิต แนะให้ลูกเล่นกีฬาและเข้าสังคมบ้าง
สำนวนโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” นั้น เป็นสำนวนที่ใช้ในการดูแคลนผู้หญิง ที่แม่ทุกคนในสมัยนี้ก็มักยอมรับว่า ลูกสาวมักมีนิสัยใจคอไม่เหมือนแม่เลย ดังนั้น การยอมรับในเรื่องนี้จะลดโอกาสการต้องจบชีวิตอย่างขมขื่นของลูกสาวได้ เพราะถ้าเธอมีแม่ที่เก่งมากและพูดมาก เธออาจวางเฉยเป็นการแสดงออกในทางตรงข้าม เพราะได้รับความกดดันมาก จึงกระทำในสิ่งตรงข้าม เช่น แม่แต่งตัวแบรนด์เนม ลูกสาวนุ่งยีน แม่เป็นคุณระเบียบ แต่ลูกสาวท้องไม่มีพ่อ หรือแม่ผอม ลูกก็จะกินจนอ้วน นี่คือการกบฎในครอบครัวที่ลูกสาวจะสร้างความกดดันให้พ่อแม่เป็นการเอาคืน
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์