xs
xsm
sm
md
lg

ภาพอย่างนี้ชนะใจกรรมการ

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

จากการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2556 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ที่ผ่านมานั้นหลายท่านคงได้ชมภาพที่ชนะการประกวดซึ่งมีความหลากหลายของภาพถ่ายแต่ละประเภทกันแล้ว ซึ่งในโครงการนี้ผมเองก็ได้มีส่วนเข้าร่วมในการตัดสินภาพถ่ายครั้งนี้ด้วย ผมจึงขออนุญาตยกเอาตัวอย่างภาพที่ชนะเลิศได้รางวัลที่ 1 ของแต่ละประเภทมาพูดคุยกัน เกี่ยวกับความสวยงาม คุณค่าและเทคนิคการถ่ายภาพของช่างภาพแต่ละท่านมาให้อ่านกัน

ภาพถ่ายที่เราได้เห็นกันนี้ หลายคนก็คงมีข้อสงสัยว่าเขาถ่ายกันมาได้อย่างไร ด้วยเทคนิคอะไร และวิธีการไหนบ้าง และทำไมถึงชนะใจกรรมการหลายท่าน วันนี้ผมขออนุญาตเอาเทคนิคของช่างภาพแต่ละท่านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาเผยให้ดูกันว่า ถ่ายภาพดาราศาสตร์อย่างไรถึงจะชนะใจกรรมการ มาดูกันเลยครับ

ประเภท Deep Sky Objects

ชื่อภาพ : Rho Ophiuchus Nebula ภาพชนะเลิศ ประเภท Deep Sky Objects
สถานที่ : ไร่พอฟ้าเพียงดาว อ.ไทรโยค จ.กาญจนบรี
วัน/เดือน/ปี : 12 เมษายน 2556, เวลา 01:00 - 03:00 น.
(ภาพโดย : นายสิทธิ์ สิตไทย)

ภาพ Rho Ophiuchus Nebula เป็นภาพเนบิวลามืดที่อยู่ใกล้ๆ กับดาว Antares หรือหัวใจแมงป่อง ซึ่งอยู่ใกล้ใจกลางทางช้างเผือก ซึ่งเป็นเป็นเนบิวลาที่มีสีสันสวยงาม รวมถึงกระจุกดาว M4 ที่อยู่ภายในอีกด้วย ผู้ถ่ายใช้เทคนิคการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องตามดาว Skywatcher EQ6Pro ไกด์ผ่านกล้องเล็ง 8 x 50 CCD Meade DSI Pro โดยถ่ายภาพหลายๆ ภาพ แบบ RAW File แล้วนำมา Stack กันกับโปรแกรม DeepSkyStacker และตกแต่งเพิ่มด้วยโปรแกรม Photoshop

ภาพนี้นอกจากสีสันที่สวยงามของเนบิวลา Rho Ophiuchus Nebula แล้วนั้น ภาพยังแสดงถึงความหนาแน่นของดาวฤกษ์ในบริเวณทางช้างเผือกได้ดี รวมทั้งรายละเอียดของเนบิวลามืดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย รวมทั้งเรียกได้ว่า “มีคุณค่าทางด้านความงามศิลปะ และสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วยครับ”

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : ขาตั้งกล้องตามดาว Skywatcher EQ6Pro ไกด์ด้วยกล้อง CCD Meade DSK Pro ผ่านกล้องเล็ง 8x50
- กล้องถ่ายภาพ : กล้อง Canon 450D (ปรับปรุงโดยถอด UV/IR Cutoff ออก และติดตั้ง Cooling โดยจำกัดอุณหภูมิ CCD ประมาณ 18-20องศาเซลเซียส)
- เลนส์ : Nikor 105 Macro
- เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 134 นาที (โดยรวมภาพถ่ายจำนวน 23 ภาพ ภาพละ 8 นาที)
- ความยาวโฟกัส : 105 มม. ในระบบ 35 mm.
- ความไวแสง : ISO 800
- ฟิลเตอร์ : UV/IR Block ของ Astronomik

ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

ชื่อภาพ : Geminids Meteor Shower 2012 ภาพชนะเลิศ ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
สถานที่ : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า พิษณุโลก
วัน/เดือน/ปี : 14 ธันวาคม 2555, เวลา 0.10-1.19 น. (0.57 น. ภาพที่ใช้เป็นหลัก)
(ภาพโดย : นายกีรติ ดำคงอยู่)

ภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ภาพนี้ผู้ถ่ายนำภาพถ่ายฝนดาวตกซึ่งให้เป็นภาพหลักที่มีฝนดาวตก แล้วแต่งเติมจากภาพหลักที่มีฝนดาวตกในนาทีที่ 0.57 น. เพื่อแสดงให้เห็นถึงฝนดาวตกที่มาจากทิศทางที่ต่างกันของฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยใช้เทคนิคการซ้อน Layer บน Photoshop จากรูปทั้งหมดที่คัดมาจาก 140 ภาพ ที่มีฝนดาวตกเจมินิดส์ รูปนี้จึงเป็นความตั้งใจของผู้ถ่ายภาพเพื่อเจตนาให้เห็นว่าช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 0.10 - 1.19 น. มีฝนดาวตกเจมินิดมากหรือน้อยเพียงใด ผู้ถ่ายเลือกถ่ายเป็น shot สั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงดาวไหลและ noise เพราะต้องดัน ISO สูงเพื่อติดภาพดาวตกที่ผ่านไปชั่ววินาทีทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยง ISO สูง

ภาพนี้หากสังเกตของเส้นดาวตกแล้ว จะเห็นว่าฝนดาวตกเจมินิดส์มาจากศูนย์กลางการเกิดเดียวกัน นั่นก็คือกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งภาพนี้สามารถสื่อให้เห็นถึงแหล่งที่มาของฝนดาวตกได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นภาพที่มีคุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้อธิบายการเกิดปรากกฏการณ์ฝนดาวตกได้ดีเลยทีเดียวครับ

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้องประเภท DSLR CanonEOS 60D ,Tokina SD 11-16mm F2.8 (IF) DX
- เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 49sec x 140 ภาพ
- ความยาวโฟกัส : 11 mm.
- อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : F2.8
- ความไวแสง (ISO) : 3200

ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

ชื่อภาพ : สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์ ใต้ฟ้าประเทศไทย ภาพชนะเลิศ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะสถานที่ : หน้าองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตีนนก ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
วัน/เดือน/ปี : 25 มกราคม 2556, เวลา 23:13:58 น.
(ภาพโดย : นายพรชัย รังษีธนะไพศาล)

ภาพถ่ายสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์ ใต้ฟ้าประเทศไทย ผู้ถ่ายใช้กล้องโทรทรรศน์เป็นเลนส์รับภาพดวงจันทร์แล้วใช้กล้อง DSLR เป็นกล้องถ่ายภาพโดยจัดระบบการถ่ายเป็นแบบ Prime Focus แล้วใช้ Adobe Photoshop รวมภาพ 3 ภาพเข้าเป็นภาพเดียว ภาพดวงจันทร์เกิดจากการรวมกันของภาพ 3 ลักษณะ คือ Under พอดี และ Over exposure แล้วนำภาพทั้ง 3 ภาพ มารวมกันในแบบ High Dynamic Range เพื่อรักษารายละเอียดส่วนเงามืดและส่วนสว่างให้คงอยู่เหมือนเดิม
โดยในการวางแผนการถ่ายภาพ ผู้ถ่ายเดินทางไปตามแนว center line ของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่ใกล้ที่สุดไม่ไกลจากกรุงเทพฯ โดยใช้แผนที่โปรแกรม Google Earth ที่มีแนว Center line ของ ISS เป็นตัวนำทางจึงได้ตำแหน่งที่ถนนสาย 3304 หน้าสถานที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตีนนก ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พิกัด ละติจูด 13°36′15.57″เหนือ ลองจิจูด 101 06 48.23 ตะวันออก เดินทางถึงจุดหมาย 2 ชั่วโมงก่อนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์ ซึ่

หากเราลองเปรียบเทียบการถ่ายภาพแนวนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการตามล่าถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงนั่นเอง ที่ผู้ถ่ายจะต้องรู้เวลา รู้สถานที่ เป็นอย่างดี ประกอบกับการรอคอยช่วงเวลาและที่สำคัญทัศนวิสัยของท้องฟ้ายังต้องเป็นใจอีกด้วย เรียกได้ว่าภาพนี้ผู้ถ่ายนอกจากฝีมือแล้วความรู้และความพยายามก็ต้องสุดยอดอีกด้วย ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยครับว่าภาพนี้ทำไมภาพนี้ถึงชนะใจกรรมการทุกท่าน

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้องโทรทรรศน์ชนิดหักเหแสง ต่อผ่านกล้อง DSLR Canon EOS 60D Prime Focus ติดตั้งบนขาตั้งกล้องตามดาวแบบ German Equatorial System
- กล้องถ่ายภาพ : กล้อง Canon EOS 60D
- ขนาดหน้ากล้อง : 140 มม.* Edited
- เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1/2000 วินาที
- ความยาวโฟกัส : 980 mm. - อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : F/7
- ความไวแสง : ISO 1600
- ฟิลเตอร์ : UV/IR cut with Anti-aliasing filter ที่ติดอยู่ในกล้อง EOS 60D

ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

ชื่อภาพ : แสงดาวที่ดอยสามหมื่น ภาพชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
สถานที่ : หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยน้ำรู ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่
วัน/เดือน/ปี : 9 ธันวาคม 2555, เวลา 19.43 น.
(ภาพโดย : นายวิศว จงไพรบูลย์)

ภาพแสงดาวที่ดอยสามหมื่น ภาพนี้ผู้ถ่ายเลือกถ่ายภาพเส้นแสงดาวทางทิศตะวันออก ในช่วงหัวค่ำ ซึ่งบริเวณกลางภาพสามารถสังเกตเห็นเป็นแสงดาวของกลุ่มดาวนายพรานได้อย่างชัดเจน ประกอบกับกลุ่มดาวนี้มีดาวฤกษ์ที่มีสีของดาวแตกต่างกัน ทั้งดาวบีเทลจูทที่ให้สีสันออกทางแดง และดาวไรเจลที่ สีสันออกทางน้ำเงิน ประกอบกับแสงดาวบริเวณเข็มขัดนายพรานและกลุ่มดาวข้างๆ ที่สามารถ่ายทอดให้เห็นถึงสีสันของเส้นแสงดาวได้เป็นอย่างดี ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพเปิดชัตเตอร์ค้างไว้เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อเก็บภาพเส้นแสงดาว ทำให้ภาพนี้นอกจากจะสวยสะดุดตาแล้วยังแฝงไปด้วยความรู้ทางดาราศาสตร์ได้ดีอีกด้วย

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้องดิจิตอล SLR บนขาตั้งกล้อง และสาลั่นชัตเตอร์
- กล้องถ่ายภาพ : กล้อง Nikon D5100
- เลนส์ : Nikor 18-55 mm.
- เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 3,929 วินาที
- ความยาวโฟกัส : 18 mm.
- อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : F/4
- ความไวแสง : ISO 100

ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรกาศของโลก

ชื่อภาพ : Midnight Eye ภาพชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
สถานที่ : บ้านดินจี่ ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
วัน/เดือน/ปี : 25 พฤศจิกายน 2555, เวลา 22:08 น.
(ภาพโดย : นายสุรเวช สุธีธร)

ภาพ Midnight Eye คือภาพปรากฏการณ์ดวงจันทร์ทรงกลดที่สวยงามและมีรังสีสดใส เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ทรงกลด เพียงแต่ว่าดวงจันทร์ทรงกลดมีลักษณะของสีสัน และรังสีจางกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์เท่านั้น แต่ดวงจันทร์ทรงกลดนั้น มักมีผู้สังเกตเห็นน้อยกว่า เพราะเกิดในเวลากลางคืน นอกจากนั้น เราสามารถมองดูดวงจันทร์ทรงกลดได้ด้วยตาเปล่าได้อีกด้วย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าหาชมค่อนข้างยากครับ

ดวงจันทร์ทรงกลด (Halo) เป็นปรากฎการณ์ที่มีลักษณะคล้ายรุ้งกินน้ำ ที่มีลักษณะเป็นวงกลม เกิดจากผลึกน้ำแข็งภายในเมฆเซอร์โรสตราตัส ซึ่งเป็นเมฆชั้นสูงแผ่นบางๆ ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนแท่งแก้วปริซึมหักเหลำแสงจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์เป็นมุม 22° เข้าสู่แนวสายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนพื้นโลก ทำให้ปรากฏเป็นแถบสีสเปกตรัมของเส้นรอบวงล้อมรอบดวงจันทร์ ซึ่งผู้ถ่ายภาพ ใช้เทคนิคการตั้งกล้องบนขากล้อง เปิดหน้ากล้องไม่ให้นานเกินเพื่อไม่ให้ดาวเป็นเส้น

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้องดิจิตอล SLR บนขาตั้งกล้อง
- กล้องถ่ายภาพ : กล้อง Nikon D800E
- เลนส์ : Fish Eye 16 mm.
- เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 15 วินาที
- ความยาวโฟกัส : 16 mm.
- อัตราส่วนทางยาวโฟกัส : F/5.6
- ความไวแสง : ISO 500

ทั้ง 5 ภาพที่ผมนำมาเผยเทคนิคนี้ก็ถือเป็น ภาพที่ผู้ถ่ายภาพมีความตั้งใจในการถ่ายภาพ ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ และอดทนในการถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพสวยๆ ออกมาให้เราได้ชื่นชมกัน ก็ต้องขอยกนิ้วให้กับความพยายามและความสามารถของทุกท่าน ที่สุดยอดกันทุกภาพครับ และผมแอบหวังในใจลึกๆ ว่าปีหน้าคงจะคนหันมาสนใจการถ่ายภาพดาราศาสตร์กันมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนการส่งภาพเข้าร่วมประกวดเช่นนี้อีก





เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น