xs
xsm
sm
md
lg

จุดสว่างนั่นคือ “พลูโต” และ “ชารอน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพพลูโต (ล่าง) และดวงจันทร์ชารอน (บน)  เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ซึ่งยานนิวฮอไรซอนส์บันทึกขณะอยู่ห่างกว่า 202 ล้านกิโลเมตร (NASA/JHU APL/SwRI)
นาซาเผยภาพใหม่ของ “พลูโต” และ “ชารอน” ดวงจันทร์บริวาร ที่บันทึกด้วยยาน “นิวฮอไรซอนส์” ในระยะใกล้ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างมุ่งหน้าสู่ดาวเคราะห์แคระที่ปลายระบบสุริยะ และกำลังเข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลางปีจะได้ภาพที่ปรากฏขนาดชัดขึ้น

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้เผยภาพแรกของดาวเคราะห์แคระพลูโต (Pluto) และชารอน (Charon) ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวาร ที่บันทึกด้วยยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ของนาซา และเพิ่งส่งกลับมาถึงโลกหลังจากยานได้รับคำสั่งให้เริ่มบันทึกภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2015



ภาพที่เผยแพร่ออกมานั้นเป็นภาพที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์ลอง-เรนจ์รีคองเนซองส์อิเมเจอร์ (Long-Range Reconnaissance Imager) หรือลอร์รี (LORRI) ของยานนิวฮอไรซอนส์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.และ 27 ม.ค. ระหว่างที่ยานอวกาศเข้าสู่ระบบดาวเคราะห์แคระพลูโต และจะเข้าใกล้พลูโตกับดวงจันทร์บริวารทั้งหลายในวันที่ 14 ก.ค.นี้

ขณะที่ยานเริ่มบันทึกภาพนั้นอยู่จากพลูโตประมาณ 203 ล้านกิโลเมตร และภาพถูกส่งมาถึงโลกเมื่อ 4 ก.พ.ซึ่งตรงกับวันเกิดของ ไชลด์ ทอมบอก (Clyde Tombaugh) ผู้ค้นพบพลูโตเมื่อปี 1930 และเสียชีวิตเมื่อปี 1997

จากข่าวประชาสัมพันธ์ของนาซา อลัน สเติร์น (Alan Stern) หัวหน้าทีมตรวจสอบประจำปฏิบัติการนิวฮอไรซอนส์จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute: SwRI) ในโบลเดอร์ โคโลราโด ระบุว่า ภาพดังกล่าวเป็นของขวัญวันเกิดแก่ทอมบอกและครอบครัวของเขา เพื่อเป็นเกียรติในการค้นพบของเขาและความสำเร็จในชีวิตในฐานะผู้นำด้านดาราศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งศตวรรษที่ 21

“ภาพของพลูโตเหล่านี้ ชัดกว่าและถายในระยะใกล้กว่าภาพที่นิวฮอไรซอนส์ที่บันทึกเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่ผ่านมาเป็นระยะ 2 เท่า และเป็นก้าวแรกของเราในการเปลี่ยนจุดสว่างที่ไคลด์เห็นจากกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวลอเวลล์ (Lowell Observatory) เมื่อ 85 ปีก่อน ให้เป็นภาพดาวเคราะห์ปรากฏแก่สายตาชาวโลกในหน้าร้อนนี้” สเติร์นกล่าว  

จากนนี้ไปอีกหลายเดือนกล้องลอร์รีจะบันทึกภาพพลูโตอีกหลายร้อยภาพโดยภาพดาวฤกษ์อื่นๆ เป็นพื้นหลัง ซึ่งภาพเหล่านี้ทีมตรวจสอบยานจะใช้ประเมินระยะทางระหว่างนิวฮอไรซอนส์กับพลูโต แต่ภาพที่ได้จะเป็นภาพจุดสว่างที่จ้าขึ้นเล็กน้อย ซึ่งไม่ต่างจากภาพแรกที่ส่งมานัก แต่คณะทำงานในปฏิบัติการจะใช้ภาพเหล่านี้จัดการเครื่องยนต์ปรับแก้ระยะทาง เพื่อให้ยานอวกาศเข้าใกล้พลูโตในตำแหน่งที่แม่นยำขึ้น โดยมีกำหนดจัดการครั้งแรกด้วยภาพถ่ายจากแสงที่ตามองเห็นในวันที่ 10 มี.ค.
 
“ในที่สุดพลูโตก็เป็นมากกว่าจุดแสงสว่าง ตอนนี้ลอร์รีได้ปรับความละเอียดของพลูโตมากขึ้น และดาวเคราะห์แคระดวงนี้จะเป็นภาพใหญ่ขึ้นๆ เมื่อยานนิวฮอไรซอนส์พุ่งเข้าสู่เป้าหมาย และภาพจากกล้องลอร์รียังแสดงให้เห็นว่า สมรรถนะของกล้องไม่เปลี่ยนแปลงนับแต่ถูกส่งขึ้นเมื่อกว่า 9 ปีก่อน” ฮัล เวฟเวอร์ (Hal Weaver) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการนิวฮอไรซอนส์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ในลอเรล แมรีแลนด์ ให้ความเห็น  

ยานนิวฮอไรซอนส์ถูกส่งขึ้นไปเมื่อ 19 ม.ค.2006 มุ่งหน้าสู่พลูโตด้วยความเร็ว 50,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และท่องอวกาศเป็นระยะทางกว่า 4.8 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งผ่านวงโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ ตั้งแต่ดาวอังคารไปจนถึงดาวเนปจูน และขณะนี้เข้าสู่ขอบเขตพลูโตในระยะแรก ซึ่งยานได้บันทึกภาพถ่ายระยะไกล ตั้งแต่ฝุ่นอวกาศ อนุภาคพลังงานสูง และลมสุริยะ เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมในอวกาศรอบพลูโต   
ภาพเปรียบเทียบภาพถ่ายพลูโตและดวงจันทร์เมื่อ 23 ก.ค.2014 และภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2015 (NASA/APL/Southwest Research Institute)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น