xs
xsm
sm
md
lg

นาซาปลุก “นิวฮอไรซอนส์” เตรียมสำรวจ “พลูโต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองอนาคตเมื่อยานนิวฮอไรซอนส์เข้าใกล้พลูโตและดวงจันทร์ของพลูโตในกลางปี 2015 (AFP PHOTO HANDOUT-NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute)
“นิวฮอไรซอนส์” ยานอวกาศสัญชาติอวกาศอเมริกันถูกปลุกขึ้นจากภาวะจำศีล เตรียมรับภารกิจสำรวจ “พลูโต” อดีตดาวเคราะห์ในวงนอกสุดของระบบสุริยะ หลังจากเดินทางยาวนานถึง 9 ปี และจะได้สำรวจดาวเคราะห์แคระที่อยู่ห่างไกลได้อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก

ยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ถูกปลุกให้ฟื้นจากภาวะจำศีลเพื่อเตรียมพร้อมการสำรวจ “พลูโต” ดาวเคราะห์แคระที่อยู่วงนอกของระบบสุริยะ โดย อลิซ โบว์แมน (Alice Bowman) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของยานจากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นสฮอพส์กิน (Johns Hopkins University) รัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ เผยว่า การพักของยานนิวฮอไรซอนส์ใกล้จะสิ้นสุดแล้ว

“นิวฮอไรซอนส์มีสภาพสมบูรณ์และท่องอวกาศไปเงียบๆ เป็นระยะทางราว 4.8 พันล้านกิโลเมตรจากโลก แต่การพักของยานใกล้จะสิ้นสุดแล้ว” เอเอฟพีระบุคำพูดของโบว์แมน

ทั้งนี้ ยานนิวฮอไรซอนส์ได้ฟื้นจากภาวะจำศีลและส่งข้อความกลับมายังโลก โดยยานถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่เดือน ม.ค.2006 และอยู่ในภาวะจำศีลนาน 1,873 วัน หรือ 2 ใน 3 ของระยะเวลาในการเดินทางทั้งหมด เพื่อรักษาพลังงานไฟฟ้าของยาน และจำกัดทรัพยากรในการตรวจตราสภาพของยานเท่าที่จำเป็น

ระหว่างการเดินทางของยานทางวิศวกรนาซาจะปลุกยานขึ้นมาทุก 2-3 เดือน เพื่อตรวจสอบระบบของยานว่ายังทำงานได้ ส่วนคอมพิวเตอร์ของยานก็ส่งข้อความมายังโลกทุกสัปดาห์ ซึ่งข้อความดังกล่าวต้องใช้เวลานาน 4 ชั่วโมงกว่าจะเดินทางมาถึงโลก

เป้าหมายของนิวฮอไรซอนส์คือศึกษาพลูโต วัตถุอวกาศที่หนาวเย็นและมีดวงจันทร์รายล้อมอยู่หลายดวงอยู่วงนอกระบบสุริยะ ซึ่งยานจะเริ่มสำรวจพลูโตในเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้ขณะอยู่ห่างประมาณ 260 ล้านกิโลเมตร และยานจะบินโฉบเข้าวงโคจรรูปวงรีและเข้าใกล้พลูโตมากที่สุดในเดือน ก.ค. ก่อนจะสิ้นสุดภารกิจวิจัยหลังจากนั้นไม่นาน

ระหว่างปฏิบัติภารกิจยานจะเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิประเทศของพลูโตและข้อมูลชารอน (Charon) ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของพลูโต เพื่อให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใกล้พื้นผิวสลัวๆ ของวัตถุทั้งสองที่ยากจะมองเห็นได้จากโลก

บนยานนิวฮอไรซอนส์ติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 7 ชิ้น ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ตรวจวัดอินฟราเรดและอัลตราไวโอเลต กล้องบันทึกภาพสี กล้องโทรทรรศน์ความละเอียดสูง และเครื่องตรวจวัดฝุ่นอวกาศ อุปกรณ์ทั้งหมดดึงพลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าความร้อนไอโซโทปรังสี ซึ่งให้กำลังไฟฟ้าน้อยกว่าหลอดไฟ 100 วัตต์คู่หนึ่ง

หลังจากสำรวจพลูโตครบ 6 เดือนตามภารกิจแล้ว ยานนิวฮอไรซอนส์จะผ่านเข้าใกล้วัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งเป็นวงซากที่หลงเหลือจากกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่ามีวัตถุ 3 ชิ้นในแถบไคเปอร์ที่อยู่ห่างจากพลูโตไป 1.5 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งยานนิวฮอไรซอนส์น่าจะสำรวจต่อได้

สำหรับพลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,300 กิโลเมตร และมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลก อีกทั้งมีมวลน้อยกว่าโลกประมาณ 500 เท่า โดยทั้งพลูโตและดวงจันทร์บริวารอีก 5 ดวงใช้เวลา 247.7 ปีโคจรครบรอบดวงอาทิตย์  และเมื่อปี 2006 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) ได้ถอดสถานะพลูโตจากดาวเคราะห์แล้วลดระดับไปเป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ทำให้ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ทั้งหมดเพียง 8 ดวง  
อีกภาพจำลองอนาคตเมื่อยานนิวฮอไรซอนส์เข้าใกล้พลูโตและดวงจันทร์ของพลูโตในกลางปี 2015 (AFP PHOTO HANDOUT-NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น