ถ้านึกถึงของฝากจากแดนใต้ นาทีนี้ต้องยกให้กับ “มะม่วงเบาแช่อิ่ม” ของยอดฮิตจากสงขลา ที่ไม่ว่าใครจะมาก็ต้องพากันซื้อกลับ เพราะไม่อาจต้านทานกับรสชาติที่แซ่บเด็ดดวงของมะม่วงลูกจิ๋ว ที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปให้มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน แถมกรอบโดนใจ ที่วันนี้ถูกนำมาพัฒนายกระดับด้วยวิทยาศาสตร์กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ จนชาวบ้านผลิตขายแทบไม่ทัน
นางอุไรวรรณ หอมจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์มะม่วงเบาบ้านนาออก ต.สทิงพระ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าวว่า การทำมะม่วงแช่อิ่ม เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านทำเพื่อถนอมอาหารสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เพราะแทบทุกหลังคาเรือนใน จ.สงขลา ปลูกมะม่วงพันธุ์เบาไว้เป็นต้นไม้ประจำบ้าน เพราะมีความจำเพาะกับดินในพื้นที่และออกผลตลอดทั้งปีจนมีปริมาณมากเกินความต้องการ
นางอุไรวรรณ เผยว่า จุดเด่นที่ทำให้มะม่วงเบาแช่อิ่มของชาวบ้าน อ.สทิงพระ โด่งดังมีชื่อเสียงน่าจะมาจาก “สูตรเด็ด” ที่ชาวบ้านส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มะม่วงยังคงความกรอบและมีรสชาติกลมกล่อมเข้าเนื้อ แต่ด้วยความที่ “สูตรเด็ด” ถูกทำขึ้นจากการกะประมาณของคนทำ ทำให้ผลผลิตแต่ละรุ่นที่ออกมามีรสชาติ สีสัน ความกรอบ และอายุการเก็บที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับการทำกินในครัวเรือน แต่เป็นปัญหาชิ้นใหญ่สำหรับการค้า
“มะม่วงเบาสงขลาบ้านเรามีเยอะมาก บ้านป้ามีทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน ขึ้นดีเหลือเกิน ลูกก็ดก แถมออกตลอดทั้งปี มันก็ดีอยู่หรอก แต่มันเยอะไปจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ถ้าไม่เก็บมันก็สุกเน่าคาต้น แมลงก็มาอีก กลายเป็นปัญหา จะเอาไปขายก็ไม่มีใครซื้อ เพราะทุกบ้านก็มี เก่งสุดก็กิโลกรัมละ 5 บาท เขาเลยนิยมเอาผลดิบมาทำแช่อิ่มกัน แต่ต่างคนก็ต่างมีสูตร แล้วก็ใช้วิธีกะๆ เอา ไม่มีสูตรตายตัว (หัวเราะ) ความอร่อยและคุณภาพของมะม่วงแต่ละรอบเลยไม่เท่ากันนี่คือปัญหาใหญ่ ส่วนอีกปัญหาหนึ่งคือเราไม่รู้จะทำยังไงกับมะม่วงผลสุก” นางอุไรวรรณ กล่าว
เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มะม่วงเบามีคุณภาพดีสม่ำเสมอ นางชะอุ่ม ดุจชาตบุษย์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสมาชิกแปรรูปฯ จึงนำปัญหาดังกล่าวไปปรึกษากับคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นสถาบันที่เธอจบการศึกษามาให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการผลิตในกลุ่มฯ เพราะทราบว่ามีนักวิจัยที่กำลังดำเนินโครงการเพิ่มคุณค่าผลผลิตมะม่วงเบาเพื่อความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดเป็นการจับคู่วิจัยระหว่างชาวบ้านและสถานศึกษา โดยการนำทีมของ ผศ.พงษ์เทพ เกิดเนตร หัวหน้าสาขาคหกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา และนักศึกษาในหลักสูตร
ผศ.พงษ์เทพ เผยว่า เขาทำวิจัยเกี่ยวกับมะม่วงเบามานานกว่า 3 ปี เพราะเห็นว่าในพื้นที่มีมะม่วงมาก และไม่เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ประกอบกับเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมานี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ ร่วมกับนักวิจัยและสถานศึกษา ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่า "มะม่วงเบา" เป็นผลผลิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นสินค้าทำเงิน และยังเป็นผลไม้สุขภาพเพราะในผลดิบมีวิตามินสูงกว่ามะนาวถึง 3 เท่า ส่วนในผลสุกก็มีน้ำตาลและเบตาแคโรตีนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
เพื่อส่งต่อนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มะม่วงเบาที่วิจัยไว้เรียบร้อยให้ชาวบ้านผศ.ดร.พงษ์เทพ จึงของบประมาณไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์จำนวน 3 แสนบาท สำหรับการซื้ออุปกรณ์และจัดสอนการแปรรูปมะม่วงเบาทั้งผลดิบและผลสุกเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 7 รูปแบบให้แก่ตัวแทนชุมชน 60 คน 4 รุ่น ครอบคลุมกลุ่มแม่บ้านตั้งแต่ หมู่ 1, 2 และ 3 ของ ต.สทิงพระ จนมีรายได้เสริมเป็นกอบเป็นกำ และยังช่วยแก้ปัญหามะม่วงเบาล้นตลาดได้ครบวงจร เพราะผลิตภัณฑ์ที่นำมาสอนจะใช้ทั้งมะม่วงแบบดิบและแบบสุก
"ปัญหามะม่วงแช่อิ่มอยู่ที่ชาวบ้านไม่มีสูตรที่ตายตัว เราก็นำสูตรมาให้ เป็นสูตรที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าถ้าทำแบบนี้จะได้มะม่วงเบาแช่อิ่มที่กรอบ สะอาดและอร่อย นอกจากนี้ยังทำได้อีกหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งการเอาผลดิบมาคั้นแยกกากสำหรับใช้แทนน้ำมะนาวในน้ำยำ รับรองว่าเปรี้ยวถึงใจเหมือนกัน มีน้ำมะม่วงพร้อมดื่มทั้งแบบดิบแบบสุก แบบดิบจะออกเปรี้ยว แบบสุกจะเปรี้ยวอมหวานมีทั้งที่บรรจุขวดพลาสติกและใส่กระป๋องสเตอริไล ส่วนผลสุกจากที่เดิมต้องโยนทิ้งเราก็นำมาทำเป็นแยมมะม่วงทาขนมปังอร่อยดีนัก มีไวน์มะม่วงด้วยแต่ไวน์นี้ยังไม่อยากให้ผลิตเพื่อขาย เพราะมีผลทางกฎหมาย" ผศ.พงษ์เทพ อธิบาย
นอกจากนี้ ผศ.พงษ์เทพ ยังพูดถึงเป้าหมายต่อไปด้วยว่า จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม น่าใช้ น่ารับประทานยิ่งขึ้น และจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และยกระดับให้ผลิตภัณฑ์มะม่วงเบาเป็นสินค้าโอทอป ของดีประจำ จ.สงขลาให้ได้ และเริ่มผลักดันให้ชาวบ้านปลูกมะม่วงเพิ่ม จากเดิมที่ปลูกไว้เพียงแค่ประดับในบริเวณบ้าน เพื่อเตรียมตัวรองรับกับความต้องการที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต เพราะมะม่วงเบาเป็นมะม่วงพันธุ์เล็กที่ปลูกด้วยเมล็ดเพียงแค่ 3 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
ด้านนางชะอุ่ม ดุจชาตบุษย์ สมาชิกกลุ่มสมาชิกแปรรูปฯ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การนำมะม่วงเบามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้สมาชิกกลุ่มแปรรูปซึ่งส่วนมากเป็นแม่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละหลายพันบาท เพราะมะม่วงเบาเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อหามาโดยเฉพาะในหน้าร้อนที่ผลมะม่วงออกมาก ยกเว้นในหน้าฝนที่ผลผลิตไม่ค่อยออกจึงจะมีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งชาวบ้านเลือกที่จะไม่ผลิตมะม่วงแช่อิ่มในช่วงนี้โดยจะหันไปทำน้ำพริกและผลิตภัณฑ์เบเกอรีอื่นๆ ขายแทน
"มะม่วงเบา 1 กิโลแทบไม่มีราคา บางทีก็ซื้อกันเพราะน้ำใจกิโลละ 5 บาท เอามาปอกเปลือกเอาเมล็ดออกแล้วจะได้เนื้อมะม่วงสำหรับแช่อิ่มครึ่งกิโล ซึ่งมะม่วงเบาแช่อิ่มกิโลนึงเราขายได้ 200 บาท แต่ต้นทุนไม่ถึง 60 บาท มีบ้างก็แค่ค่าน้ำตาล ค่าแก๊ส ค่าขนส่ง อาศัยประณีตหน่อยก็ได้เงิน และจากการนำไปเสนอขายยังที่ต่างๆ ของลูกหลานเรา ทำให้ตอนนี้มีออเดอร์จากที่ต่างๆ ครั้งละ 100-200 กิโลกรัม ส่งไปถึงเชียงใหม่ก็มี แต่หลักๆจะส่งขายที่สนามบินหาดใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนแย่แน่ๆ กะกันไม่ถูก แต่ตอนนี้เราทำได้ เพราะอาจารย์เขามาวางระบบ สอนวิธีการฆ่าเชื้อ การอัดกระป๋อง แล้วก็เทคนิคทางวิทย์เล็กๆ น้อยๆ เราแค่ทำตามให้ได้มาตรฐาน ซึ่งมันทำให้พวกเรารู้ว่าวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว และมันสร้างเงินให้เราได้" ชาวบ้านสมาชิกกลุ่มแปรรูปมะม่วงเบา กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์