“บุกป่าเขาเขียว-เขาชมภู่” สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมรู้จักนานาทักษะและเครื่องมือสำรวจของเหล่านักชีววิทยาที่จะมาบอกเล่า เรื่องราวแห่งวิถีการสำรวจสิ่งมีชีวิตในพงไพรให้เราฟัง
ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับค่ายพาวเวอร์กรีน ปี 10 ค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมสำหรับนักเรียน ม.ปลายสายวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และ บ.บ้านปู (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความรู้ความสามารถและสนใจการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากทั่วประเทศมาเข้า ร่วมกิจกรรมแบบได้ความรู้คู่ความสนุกเป็นเวลาถึง 8 วันเต็ม
ไฮไลท์เด่นของค่ายจึงอยู่ที่การทำกิจกรรมสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใน พื้นที่ เขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับ เหล่าเยาวชนทั้ง 70 คนด้วย โดยการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพถูกแบ่งออกเป็นฐาน 4 ฐาน โดยแต่ละฐานจะมีกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่แตกต่าง
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ติดตามเยาวชนกลุ่มสุดท้าย จาก 7 กลุ่ม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในทุกๆ ฐาน โดยเริ่มต้นจากฐาน “ผีเสื้อ” ที่นำกิจกรรมโดย รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พยายามให้ทุกคนสังเกตสิ่งมีชีวิตรอบตัว ผ่านการเดินเทรล (trail) หรือการเดินริมเส้นทางสำรวจพร้อมกับการจดบันทึก เพื่อไม่ให้ลืมสิ่งที่เคยเจอมาก่อนหน้าแล้ว ยังทำให้การสำรวจไม่น่าเบื่อ
กิจกรรมที่เยาวชนชื่นชอบและสนใจมากที่สุดในฐานนี้เห็นจะไม่พ้นการได้สวม วิญญาณเป็นโนบิตะถือสวิงจับแมลงวิ่งไปมาอย่างสนุกสนานเพราะเยาวชนบางคน แอบกระซิบกับทีมข่าวว่า เคยเห็นแต่ในภาพแต่ไม่เคยจับของจริง โดย รศ.ดร.นันทศักดิ์ ระบุว่า สวิงจับแมลงถือเป็นเครื่องมือหากินอย่างหนึ่งของนักกีฏวิทยา เพราะแค่เพียงโฉบสวิงขึ้นไปในอากาศตามตำแหน่งที่เห็นก็จะสามารถจับตัวแมลง ได้อย่างง่ายดาย
ในกลุ่มที่ทีมข่าวตามมาด้วยนี้ น้องๆ มือใหม่ก็สามารถเก็บแมลงได้แล้วถึง 5 ชนิด ได้แก่ ผีเสื้อตาลพุ่ม, มด, แมลงสาบป่า, เพลี้ยปีกสามเหลี่ยม และตั๊กแตนปีกสั้น นอกจากนี้ รศ.ดร.นันทศักดิ์ ยังนำหนอนผีเสื้อปีกไข่ใหญ่และหนอนผีเสื้อถุงทองตัวเขื่องมาให้ลองสัมผัสแบบ เป็นๆ ทำเอาเยาวชนหลายคนถึงกับเคลิบเคลิ้มไปกับความน่ารัก แต่หลายคนก็กลัวจนไม่กล้าแม้แต่ที่จะมอง
สำหรับฐานต่อมาเป็นฐานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของ "มด" ในพื้นที่ป่าที่นำกิจกรรมโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่สอนให้เด็กๆ รู้จักการจับมดด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้สวิงจับเพื่อเก็บตัวอย่างมดที่อยู่ตามต้นไม้หรือพื้นดิน ส่วนการใช้เหยื่อล่อ และกับดักจะนิยมใช้กับการเก็บตัวอย่างในพื้นที่แคบ
ดร.วียะวัฒน์ ระบุว่า การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของมด มีความสำคัญเพราะปริมาณของมดสามารถระบุได้ว่าในบริเวณเดียวกันย่อมมีสัตว์ ชนิดอื่นอยู่ด้วย และมดบางชนิดยังเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานทางการแพทย์ได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาเรื่องของพืชพรรณในป่าที่อาจนำมาใช้ในแง่สมุนไพร
ส่วนฐานสำรวจความหลากหลายของพืช ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การศึกษาสังคมพืชจะศึกษาเป็นแปลงสุ่มตัวอย่าง (quadrat) หรือการศึกษาในแปลงขนาด 1 ตารางเมตร เพื่อนับจำนวนพืชล้มลุกและกล้าไม้ต่างๆ เพื่อนำค่าที่ได้มาคำนวณความหลากหลายทางชีวภาพ และความหนาแน่นว่าในพื้นที่มีมากหรือน้อย
“ข้อมูลเหล่านี้จะ บอกอนาคตของป่าได้ว่าในอนาคต 10 ปีข้างหน้าป่าแห่งนี้จะเป็นเช่นไร โดยวิธีการศึกษาก็ทำได้ง่ายเพียงวางแปลงสุ่มตัวอย่างลงบนพื้นที่ที่ต้องการ ศึกษาแล้วนับปริมาณพืชแต่ละชนิดที่อยู่ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ว่าเป็นพืชชนิดใด มีปริมาณเท่าไรแล้วจดบันทึกจำนวนเพื่อนำไปคำนวณตามสูตรในทฤษฎีทางนิเวศวิทยา” ดร.ธรรมรัตน์อธิบาย
ท้ายสุดสำหรับ “ฐานดิน” ฐานนี้เป็นฐานเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้กันกับฐานพืชบริเวณใต้ต้นไม้เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักกับความ เป็นมาและกระบวนการเกิดดิน วิทยากรอธิบายว่า ดินในพื้นที่ จ.ชลบุรี ส่วนใหญ่เกิดจากการสลายของหินแกรนิตมาเป็นดินทราย ทำให้ดินเดิมของบริเวณนี้มีคุณภาพไม่ดีนัก แต่เมื่อผ่านไปเป็นเวลานานเกิดการสะสมตัวของอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายทับถมลง บนหน้าดิน ทำให้ดินที่เคยไร้คุณค่าอาหารกลับอุดมสมบูรณ์ขึ้น สังเกตได้จากดินที่มีสีคล้ำค่อนไปทางดำ
“การที่เด็กๆ ได้มาทำกิจกรรม และลงมือสัมผัสด้วยตัวเองแบบนี้ จะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้แบบเข้าใจไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำเหมือนในห้อง เรียน และยังเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายเชิงพันธุกรรม, ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต” รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ประธานโครงการค่ายพาวเวอร์กรีนกล่าว