xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci : มีอะไรในป่าชายเลน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นแสมปรับตัวให้มีรากหายใจ
หากพูดถึงป่าชายเลน คนส่วนมากคงคิดถึงแค่ "ปลาตีน" และ "ต้นโกงกาง" ทั้งที่จริงแล้วสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในป่ามีมากกว่านั้น ร่วมสำรวจและทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับเรา



SuperSci สัปดาห์นี้พาออกมาสำรวจโลกกว้างกันที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จ.ชลบุรี เพื่อร่วมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตกับน้องๆ เยาวชนค่ายพาวเวอร์กรีน ปีที่ 10 ค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมโดยมหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทบ้านปู (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ประธานจัดค่ายฯ มาเป็นผู้นำทางกิตติมศักดิ์ให้กับเรา

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ป่าชายเลนคือป่าที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างป่าบกกับทะเล ปัจจัยที่กำหนดป่าชายเลนคือน้ำขึ้นน้ำลง, การผสมกันของน้ำจืดและน้ำเค็มจนเป็นน้ำกร่อย และลักษณะดินที่ต้องเป็นดินเลน สิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนจึงต้องมีการปรับตัวให้มีลักษณะพิเศษกว่าสิ่งชีวิตในที่อื่นเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ กล่าวว่า ป่าชายเลนมีการสะสมตะกอนจากต้นไม้ทับถมเป็นจำนวนมาก ดินในพื้นที่จึงเป็นแหล่งแร่ธาตุแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้อยใหญ่รวมถึงเป็นแหล่งหลบภัยและพักฟื้นของบรรดาสัตว์วัยอ่อน

พืชในป่าชายจะมีการปรับตัวให้มีรากค้ำยัน เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก บางชนิดเช่นแสมปรับตัวให้มีรากหายใจ และส่วนฝหญ่มักมีใบอวบน้ำและต่อมขับเกลือเนื่องจากในน้ำกร่อยมีเกลือเยอะ ส่วนสัตว์ที่พบในป่าชายเลจะเป็นพวกปูแสม ปูก้ามดาบเป็นส่วนใหญ่ โดยจะอยู่ตามรากของต้นโกงกาง ต้นแสม เช่นเดียวกับปลาตีนที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ส่วนนกที่มักมาหากินในป่าชายเลนส่วนใหญ่จะเป็นนกกินเปี้ยว ที่พบมากพอๆ กับลิงแสมและค้างคาวแม่ไก่

"ป่าชายเลนเป็นที่อยู่ เป็นแหล่งอนุบาล เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ทะเล ที่พวกเราควรช่วยกันดูแลรักษา เพราะที่ผ่านมาป่าชายเลนในไทยได้รับการรุกรานจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งมาเป็นเวลานาน แต่เป็นที่น่ายินดีที่หลายๆ ภาคส่วนเริ่มหันมาให้ความตระหนักและเห็นความสำคัญมากขึ้น เพราะถ้าหากไม่มีป่าชายเลน เราก็จะไม่มีอาหารทะเลกิน และยังเสี่ยงเมื่อมีคลื่นยักษ์ซัดฝั่งเพราะไม่มีที่พักแรงคลื่น" รศ.ดร.รัตนวัฒน์ กล่าว
ปลาตีน
เยาวชนค่ายพาวเวอร์กรีนปี 10 ฟังการบรรยายจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ
ใบโกงกางหนา ใบมัน อวบน้ำ
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล









กำลังโหลดความคิดเห็น