ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2558 นี้ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน ก็ถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของปีนี้แล้วที่จะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกกัน ในโค้งสุดท้ายนี้
สำหรับใครที่อยากเก็บภาพทางช้างเผือกช่วงนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากในช่วงดังกล่าวท้องฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็จะเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้ว ทำให้สภาพท้องฟ้าโดยทั่วไปใสเคลียร์สามารถถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี
การสังเกตแนวทางช้างเผือก
ในการสังเกตแนวทางช้างเผือก เราสามารถใช้กลุ่มดาวเรียงเด่นเป็นตัวช่วยในการสังเกตบริเวณใจกลางทางช้างเผือก คือกลุ่มดาวคนยิงธนู และกลุ่มดาวแมงป่อง โดยตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวทั้งสองนี้ หากท้องฟ้าใสเคลียร์มืดสนิท ก็จะสามารถสังเกตได้ไม่ยากนัก
ทำไมเราถึงถ่ายทางช้างเผือกได้ถึงแค่ช่วงเดือนพฤศจิกายน
ในทุกๆ วัน ดวงอาทิตย์จะมีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งประมาณเกือบ 1 องศา (ตามมุมมองจากโลก) ทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวจักรราศี 12 กลุ่มดาวละ 1 เดือน และในการกำหนดเดือนนั้น ก็ใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เทียบกับกลุ่มดาว คือ หากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปอยู่ในกลุ่มดาวราศีใด ก็จะตรงกับเดือนนั้น เช่น ในเดือนพฤศจิกายน ดวงอาทิตย์ก็จะเริ่มเคลื่อนที่มาอยู่ในกลุ่มดาวราศีพิจิก โดยดวงอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่งในช่วงกลางๆ เดือน
นั่นหมายถึงว่าเราจะยังพอเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้บ้างจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากนนั้นดวงอาทิตย์ก็จะเคลื่อนที่มาอยู่ตรงกลางราศีพิจิกจนไม่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกอีกเนื่องจากถูกแสงดวงอาทิตย์กลบ และจะไปเห็นได้อีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า ประมาณปลายๆ เดือนกุมภาพันธ์อีกครั้ง
อุปสรรคของการถ่ายทางช้างเผือกในเดือนพฤศจิกายน
1. แสงจักรราศี (Zodiacal Light)
เนื่องจากแสงจักรราศีจะปรากฏหลังหมดแสงสนธยาไปแล้วในทางทิศตะวันตก ตามแนวเส้นสุริยะวิถี ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับแนวทางช้างเผือก ทำให้ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกก็มักจะมีแสงจักรราศีติดมาบ้าง ซึ่งอาจทำให้รายละเอียดในส่วนบริเวณใจกลางทางช้างเผือกจืดจาง เนื่องจากถูกแสงจักรราศีรบกวนได้
เพิ่มเติม: แสงจักรราศี (Zodiacal Light) เป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืน เกิดขึ้นจากอนุภาคของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือ ฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสงจากดวงอาทิตย์ จะปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยะวิถี (Ecliptic) ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเย็นทางทิศตะวันตกหลังจากที่แสงสนธยาจางหายไปหมด หรือในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนแสงอาทิตย์จะมาถึง
2. เมฆและความชื้น
เนื่องจากในบางพื้นที่ก็อาจจะยังเมฆและความชื้นอยู่บ้างเนื่องจากเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ดังนั้นจาประสบการณ์ส่วนตัวผมแนะนำว่า หากฟ้าเปิดเมื่อไหร่อย่าได้รอช้า รีบถ่ายให้ได้มากที่สุด เพราะในเวลาเพียงไม่กี่นาทีฟ้าก็อาจปิดได้เสมอ
นอกจากนั้น ความชื้นยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค และหากหน้ากล้องของเราเริ่มมีฝ้าขึ้นแล้ว “อย่าเอาผ้าเช็ด เพราะยิ่งเช็ดมันจะยิ่งเกิดฝ้าเร็วขึ้น ทางเลือกที่ดีกว่าคือ การใช้ลมพัดให้ฝ้าลดลงจะดีกว่า หรือทางออกที่ดีกว่าคือการติดอุปกรณืป้องกันการเกิดฝ้าหน้ากล้องก็จะตัดปัญหานี้ออกไป (แต่อันนี้คงต้องลงทุนกันสักหน่อย...)
วางแผนก่อนเสมอ
สำหรับการถ่ายภาพนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเตรียมตัวที่ดีก่อนเสมอ ซึ่งในการจะออกไปถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้ สิ่งที่ควรเตรียมตัวมีดังนี้
1. ตรวจสอบสถานที่ล่วงหน้า ว่าที่เราจะไปถ่ายภาพทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นั้น สถานที่เหมาะแก่การถ่ายภาพหรือไม่ มีอะไรบดบังมากแค่ไหน และควรไปถึงก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า เพราะหลังจากที่สิ้นแสงสนธยาไปแล้ว ก็สามารถเริ่มถ่ายแนวทางช้างเผือกกันได้แล้ว
2. ใช้แอพพลิเคชั่นช่วยในการวางแผนในการถ่ายภาพ โดยการปรับเวลาในแอพฯ หลังดวงอาทิตย์ตก จะสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกตรงบริเวณไหน และอยู่ในมุมสูงเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้การจัดองประกอบภาพได้ง่ายขึ้น
3. อย่าลืมคำนวณเวลาถ่ายภาพ โดยใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/5fUlJF) มาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพให้ดาวยังเป็นจุดในเวลาที่นานที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกใช้ค่า ISO ที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพ และทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดี
4. ใช้รูรับแสง (Aperture) ที่กว้างที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับแสงมากยิ่งขึ้น
5. อย่าใช้ค่าความไวแสง (ISO) สูงมากเกินไป เนื่องจากการใช้ ISO สูง นั้นเป็นการขยายสัญญาณ รวมทั้งขยายสัญญาณรบกวน (Noise) ด้วย ดังนั้นการลด ISO ก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนอีกด้วย ทำให้ภาพถ่ายใสเคลียร์ขึ้นกว่าการใช้ค่า ISO
ดังนั้น หลังจากที่ได้เวลาถ่ายภาพที่นานที่สุดแล้ว และใช้รูรับแสงกว้างสุดแล้ว ในการเลือกใช้ค่า ISO นั้น เราอาจเริ่มจาก ISO 1600 ถ่ายภาพดูก่อนว่าได้รายละเอียดที่ดีไม่มืด หรือ อันเดอร์มากเกินไป หากภาพยังอันเดอร์ก็ค่อยๆเพิ่มค่า ISO ขึ้นเรื่อยๆ
6. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง
7. ถ่ายภาพให้ได้มุมที่กว้างขึ้น หรือการใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเพิ่มเวลาในการถ่ายภาพให้นานขึ้น ซึ่งเมื่อมีเวลาถ่ายได้นานขึ้น เราก็จะสามารถลดค่า ISO ให้ต่ำลงได้อีกด้วย
นอกจากเทคนิคและวิธีการข้างต้นแล้ว เรายังสามารถวางแผนการถ่ายภาพทางช้างเผือกได้อีกหลากหลายวิธีดังนี้
การถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบใช้ขาตั้งกล้องแบบตามดาว (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/65tQWZ)
การถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามา (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/CK9EKT)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน