ในการถ่ายภาพดวงดาวบนท้องฟ้า หลายคนก็มักจะกล่าวถึงการถ่ายภาพทางช้างเผือกกันส่วนใหญ่ แต่จริงๆแล้ว บนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่นั้น ก็ยังมีดวงดาวอีกมากมายให้เราได้ชื่นชมกับความงดงามของฟ้าในยามค่ำคืน และในช่วงนี้ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำเราก็ยังสามารถสังเกตกลุ่มดาวสว่างใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวในช่วงฤดูหนาวให้ได้สังเกตกันอีกมากมาย ใช้แล้วครับคอลัมน์นี้เราจะมากล่าวถึงการถ่ายภาพกลุ่มดาวสว่างบนท้องฟ้ากัน ซึ่งทางดาราศาสตร์เรามักจะเรียกกลุ่มดาวสว่างเหล่านี้ว่า “ดาวเรียงเด่น” ซึ่งในการถ่ายภาพเราก็ควรทราบความรู้เบื้องต้นก่อน เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้ากันก่อน
กลุ่มดาวเรียงเด่น
ดาวเรียงเด่น คือ ดาวฤกษ์ที่เรียงกันเป็นรูปร่างที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในท้องฟ้า ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของกลุ่มดาว ตัวอย่างเช่น กระบวยใหญ่ และดาวจระเข้ในกลุ่มดาวหมีใหญ่, กระบวยเล็กในกลุ่มดาวหมีเล็ก, กาน้ำชาในกลุ่มดาวคนยิงธนู, ดาวไถในกลุ่มดาวนายพราน, สามเหลี่ยมฤดูร้อน (ดาวเดเนบ ดาวตานกอินทรี และดาวเวกา ในกลุ่มดาวหงส์ กลุ่มดาวนกอินทรี และกลุ่มดาวพิณ ตามลำดับ), สี่เหลี่ยมม้าบินในกลุ่มดาวม้าบิน (รวมดาวแอลฟาแอนดรอเมดา), เหยือกในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ, เคียวในกลุ่มดาวสิงโต, หีบศพในกลุ่มดาวคนแบกงู, กระบวยใหญ่อีกอันในกลุ่มดาวมังกร, หลักหินในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส, วงแหวนในกลุ่มดาวปลา, กางเขนเทียมระหว่างกลุ่มดาวใบเรือและกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ
โดยในช่วงนี้ ตั้งแต่หัวค่ำเราจะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก คือ กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ และกลุ่มดาวสุนัขเล็ก หากลากเส้นเชื่อม ดาวบีเทลจุส (Betelgeuse) - ดาวสว่างสีแดงตรงหัวไหล่ของนายพรานไปยัง ดาวซิริอุส (Sirius) – ดาวฤกษ์สว่างที่สุดสีขาว ตรงหัวสุนัขใหญ่ และ ดาวโปรซีออน (Procyon) - ดาวสว่างสีขาวตรงหัวสุนัขเล็ก จะได้รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เรียกว่า "สามเหลี่ยมฤดูหนาว" (Summer Triangle) ซึ่งจะขึ้นในเวลาหัวค่ำของฤดูหนาว
ผมอยากแนะนำการเริ่มต้นถ่ายภาพกลุ่มดาว ด้วยกลุ่มดาวนายพราน กับกลุ่มดาวดาวสุนัขใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นมากที่สุด เนื่องจากประกอบด้วยดาวสว่าง ที่มีรูปแบบการเรียงตัว (pattern) ที่โดดเด่นจำง่าย และขึ้นตอนหัวค่ำของฤดูหนาว ซึ่งมักมีสภาพอากาศดี ท้องฟ้าใส ไม่มีเมฆปกคลุม
สัญลักษณ์ของกลุ่มดาวนายพรานก็คือ ดาวสว่างสามดวงเรียงกันเป็นเส้นตรง ซึ่งเรียกว่า "เข็มขัดนายพราน" (Orion’s belt) ทางทิศใต้ของเข็มขัดนายพราน มีดาวเล็ก ๆ สามดวงเรียงกัน คนไทยเราเห็นเป็นรูป "ด้ามไถ" แต่ชาวยุโรปเรียกว่า "ดาบนายพราน" (Orion’s sword) ที่ตรงกลางของบริเวณดาบนายพรานนี้ ถ้านำกล้องส่องดูจะพบ "เนบิวลา M42" เป็นกลุ่มก๊าซในอวกาศ กำลังรวมตัวเป็นดาวเกิดใหม่ ซึ่งอยู่ตรงใจกลางและส่องแสงมากระทบเนบิวลา ทำให้เรามองเห็น
ดาวสว่างสองดวงที่บริเวณหัวไหล่ด้านทิศตะวันออก และหัวเข่าด้านทิศตะวันตก ของกลุ่มดาวนายพราน มีสีซึ่งแตกต่างกันมาก ดาวบีเทลจุส มีสีออกแดง แต่ดาวไรเจล (Rigel) มีสีออกน้ำเงิน สีของดาวบอกถึงอุณหภูมิของดาว และใกล้กันคือ กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ (Canis Major) มีดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้ามีชื่อว่า ดาวซิริอุส (Sirius) ดาวซิริอุสมิได้มีขนาดใหญ่ แต่ว่าอยู่ห่างจากโลกเพียง 8.6 ล้านปีแสง ถ้าเทียบกับดาวไรเจลในกลุ่มดาวนายพรานแล้ว ดาวไรเจลมีขนาดใหญ่และมีความสว่างกว่าดาวซิริอุสนับพันเท่า หากแต่ว่าอยู่ห่างไกลถึง 777 ล้านปีแสง เมื่อมองดูจากโลก ดาวไรเจลจึงมีความสว่างน้อยกว่าดาวซิริอุส ซี่งกลุ่มดาวนี้เราสามารถมองภาพในจินตนาการเป็นรูปสุนัขได้ไม่ยากนัก
เทคนิคและวิธีการ
สำหรับเทคนิคที่จะนำมาแนะนำในการถ่ายภาพกลุ่มดาวนี้ ก็คือ การถ่ายภาพกลุ่มดาวผ่านแผ่นกรงแสงแบบ Soft Filter ซึ่งปัญหาของการถ่ายภาพกลุ่มดาวนั้น หากใครเคยทดลองถ่ายภาพโดยปกติเราก็มักจะได้ดาวฤกษ์พื้นหลังสว่างอยู่เต็มไปทั่วทั้งภาพจนอาจกลบกลุ่มดาวเรียงเด่น จนไม่โดดเด่นได้ง่ายๆ ดังนั่นวันนี้เราลองหาแผ่น Filter soft มาใส่หน้าเลนส์ดู คุณก็จะเห็นความแตกต่างของกลุ่มดาวได้อย่างชัดเจนครับ
นอกจากการใช้แผ่นกรองแสงแบบ Soft Filter แล้วนั้น ผมยังมีอีกวิธี ที่หากเราหาแผ่น Soft Filter ไม่ได้ ก็อาจลองใช้ไอปากเป่าที่หน้ากล้องก่อนถ่ายภาพ ก็จะพอทำให้ดาวเรียงเด่นบลูมและสว่างชัดได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ดีมากนักเท่ากับการใช้แผ่นฟิวเตอร์โดยตรงครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน