ช่วงนี้ก็เข้าสู่หน้าหนาวอย่างเต็มตัวกันแล้ว...ซึ่งหากใครคิดจะถ่ายทางช้างเผือกก็ยังคงต้องรอต่อไปถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่อย่างไรก็ตามท้องฟ้าก็ยังคงมีกลุ่มดาวที่น่าสนใจอีกหลากหลายให้เราได้ถ่ายกัน ดังเช่นกลุ่มดาวนายพรานที่ผมกำลังแนะนำนี้ หรือที่คนเราเรียกกันว่า “กลุ่มดาวเต่า” ซึ่งมีดาวไถ เป็นดาวสว่างสามดวงเรียงกันอยู่ระหว่างกลางกลุ่มดาวเต่านั่นเอง
สำหรับหนาวนี้ใครยังคิดไม่ออกจะถ่ายอะไร หรือกำลังเริ่มต้นหัดถ่ายดาวแล้วหล่ะก็ผมขอแนะนำ อาจเริ่มต้นถ่ายดาวด้วยกลุ่มดาวนายพรานดูก็ไม่เลวนะครับ เพราะแค่กลุ่มดาวเดียวนี้ก็มีอะไรหลายอย่างให้เราค้นหากันมากมาย เอาหล่ะก่อนอื่นเรามาดูว่ากลุ่มดาวนี้มันน่าสนใจอย่างไรบ้าง
กลุ่มดาวนายพราน
กลุ่มดาวนายพราน (Orion Constellation) เป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียง คนไทยเรียกว่า ดาวเต่า มีดาวฤกษ์สว่างหลายดวงเป็นสมาชิก และมีตำแหน่งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า ทำให้เป็นกลุ่มดาวที่คนทั่วโลกรู้จัก เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ทั่วโลกนั่นเอง และอาจเป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุดในบรรดากลุ่มดาวบนท้องฟ้า ดาวสามดวงที่ประกอบกันเป็น "เข็มขัดของนายพราน" เป็นดาวที่มีความสว่างปานกลางแต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย สำหรับคนไทยเรียกดาวสามดวงนี้ว่า กลุ่มดาวไถ โดยในประเทศไทยจะสามารถมองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นของเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะสามารถเห็นได้ในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม
วัตถุท้องฟ้าในกลุ่มดาวนายพราน
เทคนิคสำหรับการถ่ายภาพ
สำหรับเทคนิคในการถ่ายภาพกลุ่มดาวตามแบบฉบับของนักดาราศาสตร์ ก็มีอุปกรณ์ง่ายและเทคนิคไม่กี่ขั้นตอนดังนั้น
1. โฟกัสดาวให้คมชัดก่อนเสมอ โดยการใช้ Live view ในการช่วยปรับโฟกัสให้ดาวคมชัดที่สุด
2. ใช้ความไวแสง ISO : 2000-3200 เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพกลุ่มดาวและรายละเอียดต่างของกลุ่มดาวได้ดี
3. เลือกใช้เลนส์ไวแสงและรูรับแสงที่กว้างที่สุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุดในการถ่ายภาพ
4. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อช่วยในการจัดการสัญญาณรบกวนได้ดีขึ้นเมื่อใช้ ISO สูงๆ
5. คำนวณเวลาการถ่ายภาพให้สัมพันธ์กับช่วงเลนส์ จากสูตร Rule of 400/600 รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/J8t2cr
6. ถ่ายภาพผ่าน Soft filter เพื่อทำให้ได้ภาพกลุ่มดาวที่เด่นชัดมากขึ้น หรือหากไม่มีก็ง่ายๆ ไอปากนี่แหล่ะพอใช้ได้เช่นกัน แต่มันจะพุ้งๆมากไปหน่อย
สำหรับคอลัมน์นี้ ก็ถือเป็นการซ่อมมือการถ่ายภาพกลุ่มดาวกันไปก่อนนะครับ เพราะโอกาสที่ท้องฟ้าใสเคลียร์นั้น จะพบได้บ่อยในช่วงหน้าหนาว และหากมีช่วงวันหยุดที่ได้ออกไปพักแรมตามยอดดอยหรือยอดภูต่างๆ แล้วล่ะก็ ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนนอนอาจลองฝึกฝีมือการถ่ายภาพกลุ่มดาวกันได้ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน