xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมตัวให้ฟิต เพื่อพิชิต Workshop ถ่ายภาพดาราศาสตร์มาราธอน

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ในคอลัมน์นี้ผมขออนุญาตประชาสัมพันธ์โครงการถ่ายภาพดาราศาสตร์น่าสนใจ ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดขึ้น ได้แก่ “Workshop ถ่ายภาพดาราศาสตร์มาราธอน” ในปีนี้กำหนดจัดในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 ยาวไปจนถึงรุ่งเช้า 26 มีนาคม 2560 สถานที่ฝึกปฏิบัติใน Workshop ครั้งนี้ คือ บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ที่มีท้องฟ้าดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

Workshop ถ่ายภาพดาราศาสตร์มาราธอน ปี 2560 นี้ กำหนดรับสมัครในวันที่ 9 มีนาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 09:00 น. เป็นต้นไป ที่ www.facebook.com/NARITpage กติกาคือ สมัครก่อนมีสิทธิ์ก่อน รับจำนวนจำกัดเพียง 80 ท่านเท่านั้น

“รูปแบบการสมัครคือ ผู้สมัครต้องตอบคำถามง่ายๆ กับทางระบบ จากนั้นก็ลงชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เพียงเท่านี้”

แล้วรอการยืนยันจากทางสถาบันฯ พร้อมกับโทรยืนยันการเข้าร่วมเป็นอันเสร็จขั้นตอนการลงทะเบียน ฟรี!!! ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม เพียงนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ใน Workshop และเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง เท่านั้น

อุปกรณ์ในการเข้าร่วมมีอะไรบ้าง

คำถามยอดฮิตสำหรับทุกปี ง่ายๆ เลยครับ 5 อย่างที่ต้องนำติดตัวมาเข้าร่วม Workshop มีดังนี้

1. กล้องดิจิตอล – แบบคอมแพ็ค แบบมิลเลอร์เลส หรือ D-SLR ที่มีโหมดการถ่ายภาพแบบโหมด M หรือ Manual พร้อมกับเลนส์มุมกว้างสักตัว หรือเลนส์ที่ติดมากับกล้องก็ได้ (แต่ถ้ามีมากว่านั้น ควรเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ จะดีมาก)

2. ขาตั้งกล้อง – ควรเป็นขาตั้งกล้องที่มั่นคง แนะนำเป็นขาตั้งที่แข็งแรงไม่สั่นไหวง่าย เพราะการถ่ายภาพในเวลากลางคืน จำเป็นต้องบันทึกภาพเป็นเวลานานๆ บนขาตั้งกล้องที่มั่นคง (หากไม่มีแนะนำให้หยิบยืมเพื่อนๆ มาใช้ก่อน)

3. สายลั่นชัตเตอร์ – สิ่งนี้ก็จำเป็นต่อการถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือการถ่ายภาพวัตถุอวกาศในห้วงลึก เช่น เนบิวลา กาแล็กซี เพราะต้องเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานานหลายนาที จึงจำเป็นต้องมีไว้ครับ

4. เมมโมรี่การ์ด – ที่มีหน่วยความจำเยอะๆ จะดีมากเพราะการถ่ายภาพเราจะถ่ายด้วยรูปแบบไฟล์ RAW จำเป็นต้องมีพื้นที่เก็บไฟล์ภาพที่มีขนาดใหญ่ และจำนวนมากพอสมควรใน Workshop ครั้งนี้

5. ที่ชาร์ตแบตเตอรี่ – กรุณานำติดมาด้วย เพราะแบตเตอรี่อาจหมด เนื่องจากเราจะตั้งกล้องถ่ายภาพกันทั้งคืน ทางผู้จัดจะได้จัดเตรียมปลั๊กไฟไว้สำหรับชาร์ตแบตเตอรี่ไว้ให้

นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คงจะเป็นอุปกรณ์กันหนาว ซึ่งสถานที่ในการ Workshop หนาวมากๆ อุณหภูมิประมาณ 5-8 องศา และหากมีเลนส์หลายๆ ช่วงทางยาวโฟกัสก็จะดีมาก เช่น เลนส์มุมกว้าง เลนส์ฟิกส์ 50 mm. ที่มีรูรับแสงกว้างๆ F 1.4, F 2.8 อะไรประมาณนี้ก็จะได้เปรียบมากๆครับ

เราจะมาถ่ายภาพอะไรกันบ้าง ใน Workshop นี้

เอาล่ะครับ มาถึงตอนนี้เราจะมาดูกันว่า ผู้เข้าร่วม “Workshop ถ่ายภาพดาราศาสตร์มาราธอน” ครั้งนี้จะได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง ตามกันมาเลยครับ

บ่าย (25 มี.ค) : แนะนำการถ่ายภาพดาราศาสตร์ : อุปกรณ์ เทคนิค ความรู้เบื้องต้น ฯลฯ

เย็น : ลงสนามปฏิบัติจริง

เวลา 18.00 – 19.00 น.แสงสนธยา (Twilight)

ภาพถ่ายในช่วงแสงสนธยา ทางทิศตะวันตก บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่  (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS 7D Mark II / Lens : Canon EF 24mm f/1.4L ll USM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 400 / Exposure : 1.3 sec)
แสงสนธยา หรือที่เรียกกันว่า “แสงทไวไลท์” ก็เป็นการถ่ายภาพที่น่าสนใจสำหรับการเริ่มต้นถ่ายภาพ เพราะในช่วงต้นฤดูหนาวมีสภาพท้องฟ้าใสเคลียร์ ขอบฟ้าที่ไร้เมฆรบกวน เราก็มักได้ภาพแสงสนธยาที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเย็นหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วประมาณ 10 – 15 นาที ทางทิศตะวันตก ขณะนั้นจะเห็นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสี ท้องฟ้าจะเปลี่ยนสีจากสีโทนอุ่นเป็นสีโทนเย็น คือสีม่วงอมน้ำเงิน ช่วงนี้จะมีเวลาให้ถ่ายภาพประมาณ 5 นาที และหลังจากนั้นท้องฟ้าก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำมืดสนิท หรือที่เรามักคุ้นหูกันว่าเป็นช่วง “นาทีทอง” (Golden minute)

เวลา 19.00 – 20.00 น. แสงจักรราศี (Zodiacal Light)
ตัวอย่างภาพถ่ายแสงจักรราศี ทางทิศตะวันตก บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm.F1.4 DG HSM Art / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 2500 / Exposure : 8sec.)
หลังจากสิ้นแสงสนธยาแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท เราจะมาถ่ายภาพต่อไปกับ “แสงจักราศี” (Zodiacal Light) ซึ่งเป็นแสงเรืองจางๆ ลักษณะคล้ายโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากแสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้ว แสงจักราศีจะปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี มีความสว่างน้อยกว่าทางช้างเผือก เกิดขึ้นจากอนุภาคของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสงจากดวงอาทิตย์ ปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยวิถี

เราสามารถเห็น Zodiacal Light บนฟากฟ้าที่มืดสนิทไม่มีแสงจันทร์ และมลภาวะทางแสงจากขอบฟ้ารบกวน ทางด้านทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และด้านทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

เวลา 20.00 – 20.30 น. กลุ่มดาวเรียงเด่น (Constellation)
การถ่ายภาพกลุ่มดาวในช่วงต้นฤดูหนาว เช่น กลุ่มดาวนายพราน ทางทิศตะวันออก  (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 16-35mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)
หลังจากสิ้นแสงจักราศีไปแล้ว ก็มาต่อกันด้วยการถ่ายภาพกลุ่มดาวเรียงเด่นทางทิศตะวันออกกันบ้าง ในทิศตะวันออกนี้ เราจะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างที่น่าสนใจในช่วงฤดูหนาวต่างๆ เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวหมาใหญ่ กลุ่มดาวหมาเล็ก กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวสารถี และกลุ่มดาววัว ซึ่งสามารถถ่ายภาพกลุ่มดาวสว่างต่างๆเหล่านี้ได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น หากเราถ่ายภาพกลุ่มดาวนายพราน เราก็จะได้ภาพที่มีสีสันของดาวฤกษ์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งบริเวณกลุ่มดาวเดียวกันนี้เรายังสามารถบันทึกภาพเนบิวลาสว่าง M42 และเนบิวลามืดได้อีกด้วย

เวลา 21.00 – 23.30 น. กาแล็กซีและเนบิวลา
ภาพเนบิวลา M42 ในกลุ่มดาวนายพราน ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi Epsilon 180ED / Focal length : 500 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 56 min)
กาแล็กซีและเนบิวลา เป็นวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Object) วัตถุที่อยากแนะนำให้ลองฝึกถ่ายภาพเป็นลำดับแรก คือ เนบิวลาสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน หรือที่มักเรียกกันคุ้นหูว่า เนบิวลา M42 หลังจากช่วงเวลา 21.00 น. ตำแหน่งของเนบิวลา M42 จะปรากฏบริเวณกลางท้องฟ้า ซึ่งเป็นเป็นตำแหน่งที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีที่สุด และยังเป็นตำแหน่งที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์นิยมเลือกบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าเพื่อให้ภาพที่ดีที่สุดอีกด้วย

การถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึกนี้ ทาง สดร. ได้เตรียมกล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์สำหรับต่อกล้องถ่ายภาพกับกล้องโทรทรรศน์ไว้ให้ด้วย (ตอนนี้เราเตรียมไว้ให้เพียง 2 ค่ายเท่านั้น คือ Canon และ Nikon เท่านั้นนะครับ)

กล้องโทรทรรศน์ที่ทางสถาบันฯ เตรียมไว้สำหรับผู้ร่วมกิจกรรมจะมีหลากหลายประเภท จำนวนกว่า 10 ตัว ผู้เข้าร่วม Workshop สามารถนำกล้องดิจิทัลของท่านไปเชื่อมต่อเพื่อบันทึกภาพได้ตามต้องการ นอกจากนี้เราได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์คอยให้คำแนะนำในการถ่ายภาพอีกด้วย

เวลา 23.30 – 03.30 น. เส้นแสงดาว (Star Trails)
ภาพเส้นแสงดาวในทางทิศเหนือ โดยใช้ตำแหน่งดาวเหนือเป็นจุดอ้างอิงในการหาตำแหน่งขั้วเหนือของท้องฟ้า (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/4.5 / ISO : 400 / Exposure : 300 sec x 44 Images)
สำหรับภาพชุดต่อไปที่เราจะถ่ายภาพกันก็คือ “เส้นแสงดาว” ซึ่งการบันทึกภาพเส้นแสงดาวจำเป็นต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพอย่างน้อย 1-3 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เราสามารถเลือกทิศทางในการถ่ายภาพได้หลากหลายทิศทางไม่ว่าจะเป็นทิศเหนือ หรือทิศใต้ ก็จะได้ภาพดาวหมุน หรือหากเลือกทิศตะวันออกหรือตะวันตก ก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวที่มีทิศทางพุ่งแบบเฉียงๆ หลังจากการตั้งค่าถ่ายภาพและลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้ว สามารถใช้ช่วงเวลานี้พักผ่อนสายตาสัก 3-4 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมลุยศึกหนักในช่วงต่อไปครับ

ในการถ่ายภาพเส้นแสงดาวนี้ จำเป็นต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์ (จำเป็นมากๆ) หากกิจกรรมบรรยายในช่วงเช้า ท่านใดโชคดีได้รับแถบความร้อนกันฝ้า หรือไอน้ำเกาะหน้ากล้อง ก็สามารถนำมาใช้ตอนนี้ได้เลยครับ

ตัวอย่างอุปกรณ์แถบความร้อนสำหรับกันฝ้าหน้ากล้อง ซึ่งใช้แหล่งพลังงานจาก Power Bank เท่านั้น หากใครโชคดีอาจได้รับเป็นของรางวัลในกิจกรรมนี้ครับ ซึ่งผมได้เตรียมไว้หลายสิบอันเลยทีเดียว

เวลา 03.30 – 05.30 น. ทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy)
ภาพทางช้างเผือกสะท้อนน้ำ บริเวณพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ นับเป็นจุดถ่ายภาพทางช้างเผือกในฝันของหลายๆ ท่าน ที่อยากมีโอกาสมาเก็บภาพทางช้างเผือกในมุมนี้กันสักครั้ง บริเวณดังกล่าวนับว่าเป็นจุดที่มีท้องฟ้าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 16-35mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)
ปิดท้าย Workshop ด้วยไฮไลท์การล่า “ทางช้างเผือก” ที่คุณรอคอย ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีขนาดใหญ่ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มืดสนิท ไม่มีแสงเมืองรบกวน คืนที่ฟ้าใส ไร้เมฆ จะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกเป็นแถบฝ้าขาวจางๆ พาดเป็นแนวยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ สำหรับช่วงเช้ามืดของเดือนมีนาคม

ใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏทางขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ตั้งแต่เวลาประมาณ 03:30 น. ใจกลางทางช้างเผือกนับเป็นส่วนสว่างที่สุดของทางช้างเผือก สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุดของแนวทางช้างเผือก บริเวณใจกลางทางช้างเผือกประกอบไปด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย เช่น ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา ฯลฯ และนอกจากนั้ ในช่วงวันที่จัดกิจกรรม เรายังสามารถใช้ตำแหน่งของดาวเสาร์ช่วยในการบอกตำแหน่งของใจกลางทางเผือกได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ขอให้เตรียมข้อมูลให้พร้อม เกาะติดหน้าจอให้มั่น เจอกัน 9 มีนา เวลา 9:00 น. มารอดูว่าปีนี้จะเต็มเร็วลบสถิติปีที่แล้วหรือไม่ แล้วเจอกันครับ!

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น