เผยภาพใหม่ “เนบิวลาอินทรี” จากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล คมชัดกว่าเดิม ปรับคอนทราสต์ดีขึ้น ช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาได้ดีขึ้นว่า “เสาหลักแห่งการสร้าง” หนึ่งในเนบิวลาที่มีชื่อเสียงที่สุดนี้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไรบ้าง
เอเอฟพีเผยภาพเนบิวลาอินทรี (Eagle Nebula) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสาหลักแห่งการสร้าง” (Pillars of Creation) ซึ่งบันทึกขึ้นใหม่ด้วยกล้องโทรทรรศน์องกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) และเพิ่งเผยแพร่ออกมาในวันที่ 6 ม.ค.2015 นี้
ภาพดังกล่าวนับเป็นวัตถุอวกาศที่มีชื่อเสียงและเป็นสัญลักษณ์ที่โด่งดังภาพหนึ่ง โดยภาพล่าสุดบันทึกด้วยย่านแสงที่ตามองเห็น และเผยให้เห็นกลุ่มเมฆก๊าซที่เรืองแสงหลากสี พร้อมกับกลุ่มเส้นสีดำของฝุ่นอวกาศที่เลื้อยไปรูปเสาของเนบิวลาที่เป็นสีงาช้างเปื้อนฝุ่น
ทั้งฝุ่นและก๊าซในเนบิวลาเสาหลักนี้ ถูกเผาไหม้ด้วยรังสีที่มีความเข้มสูงจากดาวฤกษ์อายุน้อย และถูกกร่อนจากลมที่รุนแรงของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า ภาพใหม่นี้ให้ความเปรียบต่างของสีที่ดีกว่า และยังให้มุมมองที่ชัดเจนเพื่อให้นักดาราศาสตร์ศึกษาว่าโครงสร้างเสาของเนบิวลาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไรบ้าง
นอกจากภาพเนบิวลาที่มีชื่อเสียงแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์จากอีซาและนาซายังได้เผยแพร่ภาพวัตถุอื่นๆ ที่บันทึกด้วยกล้องฮับเบิล ซึ่งรวมถึงภาพเอ็ม 31 (M31) หรือกาแล็กซีแอนโดรมีดา (Andromeda) กาแล็กซีข้างเคียงกับกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่
ภาพของกาแล็กซีแอนโดรมีดาที่เผยแพร่ออกมานั้นเป็นภาพตัดจากภาพเต็ม และมีความละเอียดถึง 1.5 พันล้านพิกเซล ซึ่งต้องใช้จอโทรทรรศน์ความละเอียดสูง (HD) ถึง 600 เครื่องเพื่อแสดงภาพทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นภาพขนาดใหญ่ที่สุดจากกล้องฮับเบิลที่เผยแพร่ออกมา ซึ่งในภาพบันทึกดาวฤกษ์ไว้กว่า 100 ล้านดวง และกลุ่มดาวอีกหลายพันกลุ่มดาวที่ฝั่งอยู่ในแถบกาแล็กซีรูปแพนเค้ก ซึ่งมีความกว้างทั้งหมดกว่า 40,000 ปีแสง
*** คลิกชมภาพขยายเพื่อความละเอียดที่มากขึ้น ***
*******************************