ขนมแสนอร่อย ไม่ว่าใครก็คงอยากเก็บไว้กินนานๆ แต่ด้วยอากาศร้อนชื้นบ้านเราทำให้การถนอมอาหารเป็นเรื่องยาก นักวิจัยไทยจึงพัฒนาซองยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ในซองขนมจากธรรมชาติ เพื่อให้ทุกคนลิ้มรสเบเกอรี่ชิ้นโปรดได้นานขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งสารกันบูด
ดร.ดวงพร พลพานิช นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในยุคที่คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตรีบเร่ง ทำให้อุปนิสัยการกินเปลี่ยนไป จากคนไทยที่นิยมกินข้าวราดแกง หันไปบริโภคขนมปังและเบเกอรี่มากขึ้นด้วยเหตุผลของความรวดเร็วและวัฒนธรรม ส่งผลให้ตลาดเบเกอรี่ยุคปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 35 ล้านบาทต่อปี ซึ่งครอบคลุมทุกสัดส่วนตลาด ตั้งแต่ตลาดบนหรือซูเปอร์พรีเมียมที่จำหน่ายในโรงแรม, ตลาดกลาง หรือพรีเมียมตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ และตลาดล่างที่เป็นเบเกอรี่โฮมเมด โดยตลาดกลางและตลาดล่างมีสัดส่วนอยู่ที่ 64%
ทว่าในสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย กลับไม่เอื้ออำนวยต่อการเก็บอาหารสดเป็นเวลานาน ทำให้ขนมและอาหารทั่วไปมีอายุและคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคแค่เพียง 2 วันหลังจากผลิต ก่อนจะเริ่มมีกลิ่นเหม็น มีเชื้อราและแบคทีเรียขึ้นตามที่เห็นกันจนชินตา ทำให้ผู้ค้าจำนวนมากเลือกที่จะใช้สารกันบูดมาเป็นส่วนหนึ่งในส่วนผสม เพื่อยืดอายุการขายโดยไม่ได้คำนึงถึงผลทางสุขภาพระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค จากการรับประทานกินสารเคมีติดต่อกันเป็นเวลานาน
นาโนเทคจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรม สำหรับยืดอายุขนมโดยไม่ใช่สารที่ผสมลงไปกับเนื้อขนม จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ซองบรรจุสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ ที่มีชื่อทางการค้าว่า "B Fresh Anti-microbial Sachet" ขึ้น สำหรับใช้บรรจุลงในบรรจุภัณฑ์คู่กับตัวผลิตภัณฑ์ ที่สามารถยืดอายุขนมหรือเบเกอรี่น้ำหนัก 25-40 กรัมได้เพิ่มจากเดิมอีก 2 วัน ด้วยจุดเด่นของซองบรรจุสารที่ใช้วัสดุโครงสร้างระดับนาโนเมตรในการคัดเลือกและควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญ ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกบรรจุอยู่ภายใน
สำหรับการทำงานของซองยับยั้งจุลินทรีย์ ดร.ดวงพรอธิบายว่า สารสำคัญจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยจากซองบรรจุขนาดเล็กออกไปยังซองขนมในรูปของการระเหย มีฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์โดยไม่ทำให้รสสัมผัสของขนมเปลี่ยนไป อีกทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเพราะผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข, เป็นสารสกัดที่มีความปลอดภัยได้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์จากองค์การอาหารและยา (อย.) ของทั้งไทยและสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนของสถานภาพวัตกรรมอยู่ระหว่างการขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณชิ้นละ 1 บาท แต่อาจถูกลงอีกเมื่อมีการผลิตจำนวนมากในเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ศูนย์ลงทุน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร 02-564-7000 หรือที่อีเมล์ nid2015@nstda.or.th หรือเว็บไซต์ www.nstda.or.th/investorsday2015