xs
xsm
sm
md
lg

เก็บมาฝาก “นวัตกรรมเพื่อข้าว” จากภาคเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 “นวัตกรรมเพื่อข้าว” จากภาคเหนือ
เพิ่งผ่านพ้นไปสำหรับมหกรรมนวัตกรรมไทยจากภาคเหนือ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นโดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อการปลูกและแปรรูปข้าว อาทิ พันธุ์ข้าวก่ำที่คาดว่าจะตีตลาดได้ในอนาคต เครื่องจักรลดความชื้นข้าวพร้อมกำจัดไข่มอดได้ในตัว เครื่องจักรเพื่อช่วยเตรียมต้นกล้าสำหรับนาโยน หรืองานวิจัย “แป้งทนย่อย” ในข้าวหุงสุกที่ช่วยให้บริโภคอิ่มได้นาน และควบคุมน้ำหนัก

ภายในงานมหกรรมนวัตกรรมภาคเหนือ ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ส.ค.58 ณ เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ มีผลงานนวัตกรรมไทยหลายส่วน แต่นวัตกรรมเกี่ยวกับข้าวหลายผลงานดูโดดเด่นกว่าหลายๆ ผลงาน โดยเฉพาะแบบจำลองโรงงานต้นแบบลดความชื้นและกำจัดแมลงในข้าวด้วยความร้อนคลื่นวิทยุถือเป็นไฮไลท์ของงาน

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และผู้รับชอบหลักของในการจัดงาน กล่าวถึงโรงงานต้นแบบลดความชื้นในข้าวว่า เป็นผลงานที่ต่อยอดจากงานของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งใช้ความถี่คลื่นวิทยุกำจัดแมลงและเชื้อราในเมล็ดข้าว และได้ผลพลอยได้เป็นความร้อนที่ช่วยลดความชื้นข้าวไปในตัว และผลงานดังกล่าวทางอุทยานฯ ได้ช่วยผลักดันจนสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนจนสำเร็จ

นอกจากนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังได้ สำรวจนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ พันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 พันธุ์คือ “ข้าวเหนียวพันธุ์ก่ำหอม มช.” และ “ข้าวเหนียวก่ำดอยสะเก็ด” เพื่อเน้นให้มีคุณค่าทางโภชนาการ สารแอนโทไซยานิน แกมม่าออไรซานอล ธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสี และความหอมมากกว่าข้าวก่ำพันธุ์อื่นๆ และคาดว่าจะมีอนาคตไกลในตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ

อีกงานที่น่าสนใจคือการศึกษาแป้งทนย่อยในข้าวไทยโดย ดร.สยาม ภพลือชัย จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งได้รับโจทย์จากเอกชนรายหนึ่งหลังสังเกตพบตัวเองมีน้ำหนักลดลงหลังกินข้าวชนิดหนึ่ง จึงตั้งโจทย์ให้เขาศึกาษาว่าเป็นเพราะเหตุใด แรกเริ่มเข้าสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะข้าวดังกล่าวมีดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่เมื่อศึกษากลับพบว่าข้าวดังกล่าวและข้าวไทยหลายชนิดมีดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลาง จึงสงสัยว่า “แป้งทนย่อย” ในข้าวอาจเป็นสาเหตุช่วยในการควบคุมน้ำหนัก

โดยปกติในข้าวโพด มันหรือพืชที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบจะมีแป้งทนย่อยอยู่ ซึ่งแป้งดังกล่าว ดร.สยามระบุว่า ทำให้แป้งไม่ถูกย่อยในลำไส้เล็ก และเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ แล้วถูกแบคทีเรียนำไปผลิตเป็นกรดไขมันที่ช่วยลำไส้ทำงานเป้นปกติ อีกทั้งยังช่วยให้อิ่มนานและกินข้าวได้น้อยลง ซึ่งจากการศึกษาพันธุ์ข้าวไทยกว่า 50 ชนิด พบว่า “ข้าวเหนียวลืมผัว” มีแป้งทนย่อยมากกว่าข้าวอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนากระบวนการหุงที่ช่วยให้ข้าวมีแป้งทนย่อยมากขึ้น ซึ่งถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนได้

ส่วนนวัตกรรมเครื่องเพาะกล้านาโยนแบบครบวงจรโดย สารัลย์ กระจง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นอีกผลงานที่น่าสนใจซึ่งช่วยให้เกษตรกรเตรียมกล้าได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น อีกทั้งลดปริมารการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวได้ 50-60% เมื่อเทียบกับนาหว่าน โดยหลักการทำนาโยนคือการไม่ลงไปอยู่ในนา แต่ใช้การโยนต้นกล้าลงนาเพื่อให้แตกกอจนเต็มนาเอง

ปกติเกษตรกรต้องเพาะต้นกล้าในถาดหลุมเอง แต่ต้องใช้เวลานานถาดละ10 นาที และอาจควบคุมปริมาณเมล็ดข้าวต่อหลุมไม่ได้ ขณะที่เครื่องเพาะกล้านาโยนใช้เวลาเตรียมถาดเมล็ดพันธุ์เพียง 30 วินาที โดยกลไกมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนโรยดินลงถาดครึ่งหลุม ขั้นสองคือโรยเมล็ดข้าวปริมาณ 3-5 เมล็ด และขั้นสุดท้ายคือโรยดินกลบถาดหลุม แต่อนาคตนักวิจัยจะพัฒนาให้เครื่องโรยเมล็ดพันธุ์เหลือหลุมละ 1 เมล็ด และขณะนี้มีเกษตรกรใน จ.อุตรดิตถ์ได้ทดลองใช้งานแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเครื่องอบแห้งด้วยระบบสั่นสะเทือนภายใต้ความดันต่ำ ซึ่ง พงศ์เทพ กุลชาติชัย หนึ่งในทีมวิจัยเจ้าของผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ อธิบายว่าโดยปกติเครื่องอบแห้งที่ใช้อุณหภูมิสูงจะทำให้คุณค่าของสารอาหารหายไป แต่เครื่องนี้ทำให้อาหารแห้งได้ที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ภายใต้ความดันต่ำเพียง 400 ปาสคาล ซึ่งทำให้จุดเดือดของน้ำลดลงเหลือเพียง 2-3 องศาเซลเซียส ขณะความดันปกติอยู่ที่ 100,000 ปาสคาลและมีจุดเดือดของน้ำที่ 100 องศาเซลเซียส อีกทั้งการอบแห้งที่อุณหภูมิต่ำนี้ทำให้ยังคงคุณค่าอาหารไว้ได้

พงศ์เทพอธิบายเพิ่มว่าเครื่องดังกล่าวยังใช้ระบบอัลตราโซนิกส์ช่วยให้น้ำในสิ่งที่อบสั่นและระเหยง่ายขึ้น อีกทั้งยังใช้เทอร์โมอิเล็กทริกในการควบแน่นไอน้ำที่ได้จากสิ่งของที่เราอบ ส่วนความร้อนที่ได้นำไปใช้รักษาอุณหภูมิภายในห้องอบ โดยสามารถใช้งานเครื่องอบแห้งนี้กับทุกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการอบแห้งภายใต้ความดันต่ำ เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างยางพารา ซึ่งช่วยให้แผ่นยางเนื้อแน่นและเรียบเนียนขึ้น

สำหรับการจัดงานมหกรรมนวัตกรรมไทยภาคเหนือนี้เป็นผลจากมิตเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อครั้งประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 1 ในเดือน มี.ค.58 ที่ผ่านมา ณ สวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานนวัตกรรมไทยที่ได้เสนอขอขึ้นบัญชีนวัตกรรม และจัดงานมหกรรมนวัตกรรมไทย 3 ภูมิภาค โดยมหกรรมอีก 2 ครั้งจะจัดขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.58 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค.58 ณ หาดใหญ่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสทิวัล หาดใหญ่ จ.สงขลา
“ข้าวเหนียวพันธุ์ก่ำหอม มช.” และ “ข้าวเหนียวก่ำดอยสะเก็ด” 2 พันธุ์ข้าวอนาคตไกล
ดร.สยาม ภพลือชัย กับการศึกษาแป้งทนย่อยในข้าวไทย
แบบจำลองโรงงานต้นแบบลดความชื้นและกำจัดแมลงในข้าวด้วยความร้อนคลื่นวิทยุ
เครื่องเพาะกล้านาโยนแบบครบวงจร
 ดร.ภมน ปินตานา และ พงศ์เทพ กุลชาติชัย สมาชิกทีมพัฒนาเครื่องอบแห้งด้วยระบบสั่นสะเทือนภายใต้ความดันต่ำ









กำลังโหลดความคิดเห็น