เยี่ยมหมู่บ้านเกษตรเข้มแข็งแห่งเมืองสกลนคร “บ้านเต่างอย” ชุมชนในโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วันนี้ได้ลูกหลานกลับคืน เพราะมีเกษตรกรรมสร้างรายได้งามจากข้าวพันธุ์ กข6 ต้านโรคใบไหม้-ขอบใบแห้งผลงานการปรับปรุงพันธุ์ยกระดับด้วยเทคนิคเครื่องหมายดีเอ็นเอจาก สวทช.
“เมื่อก่อนพื้นที่เต่างอยลำบากมาก มีทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำป่าไหลหลาก แต่ยังโชคดีที่เป็นหมู่บ้านในโครงการพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2525 ทำให้ปัญหาค่อยๆ บรรเทา เนื่องจากพื้นที่ถูกสนับสนุนให้เป็นแปลงเกษตรกรรมสำหรับปลูกมะเขือเทศพันธุ์ดีสำหรับโครงการอาหารหลวงดอยคำ ทำให้มีอ่างกักเก็บน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นการบริหารจัดการก็ยังเป็นไปแบบไม่มีประสิทธิภาพ สวทช.จึงเข้ามาในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือด้านการใช้น้ำและผลักดันเรื่องของข้าวซึ่งเป็นของดีในสกลนคร ให้มีความเข้มแข็งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” นายสมศักดิ์ พลอยพานิชเจริญ ผู้จัดการงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
นายสมศักดิ์ เผยว่า กิจกรรมที่ สวทช.นำมาใช้ในพื้นที่มีด้วยกันหลากหลายทั้งการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านนางอย และหมู่บ้านเครือข่าย, การส่งเสริมการปลูกพืชหน้าแล้ง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อ.เต่างอยเพื่อเป็นแม่ข่ายการผลิตข้าวให้แก่ชุมชนอีก 40 กลุ่มในโครงการ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในชีวิตจริง โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ “การผลิตข้าวและการปรับปรุงพันธุ์ข้าว” ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อใน จ.สกลนคร ผ่านโครงการที่มีชื่อว่า “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชนบท จ.สกลนคร” ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยนครพนม
ในส่วนของการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี นายสมศักดิ์ระบุว่า ได้ดำเนินการส่งเสริมสายพันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ซึ่งต้านทานโรคใบไหม้และขอบใบแห้งให้กับเกษตรกรเพราะข้าวเหนียวพันธุ์ดั้งเดิมมีปัญหาโรคใบไหม้ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายรุนแรงทั้งแปลงนา โดยข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ยเป็นผลงานการปรับปรุงพันธุ์โดยห้องปฏิบัติการวิจัยและใช้ประโยชน์ยีนข้าวของไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรับปรุงพันธุ์ผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อรวมยีน โดยใช้เทคนิคเครื่องหมายดีเอ็นเอในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน ทำให้ข้าวมีความต้านทานต่อโรคใบไหม้และขอบใบแห้ง มีความไวต่อช่วงแสง แตกกอดี มีลำต้นทนทานไม่หักล้มง่าย และสร้างผลผลิตแห้งเฉลี่ยได้มากถึง 700-800 กิโลกรัมต่อไร่
ในช่วงแรกได้เริ่มทดลองปลูกที่ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย ร่วมกับข้าวพันธุ์ทดสอบ “ธัญสิริน” จนประสบความสำเร็จแล้วจึงขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ร่วมกับสภาเกษตรกร จ.สกลนคร ควบคู่กับการฝึกอบรมด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับการคัดเลือกวิทยากรชุมชนที่ได้นักวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวสกลนครเป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารเนื้อหาทางเทคนิคแก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นตัวแทนนักวิจัยในการให้ความรู้และออกตรวจเยี่ยมแปลงปลูกข้าวของสมาชิกต่อไปด้วย
“การดำเนินการของโครงการค่อยๆ เดินไปอย่างช้าๆ แต่ประสบความสำเร็จจนขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่บ้านนางอย ต.เต่างอย ได้รับการยอมรับให้เป็นหมู่บ้านข้าวอินทรีย์ เพราะนอกจากพันธุ์ข้าวที่เรานำเข้าไปให้ เรายังมีการส่งเสริมในเรื่องความรู้ความเข้าใจเพื่อลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ทำให้ข้าวที่ชาวบ้านผลิตเป็นข้าวปลอดสารซึ่งขายได้ราคาดีในระดับหนึ่ง แต่ที่มากไปกว่านั้นคือพวกเขายังต่อยอดไปสู่การผลิตเป็นข้าวกล้องงอกด้วยองค์ความรู้ที่ทาง สวทช.เคยไปเผยแพร่จนกลายเป็นของดีประจำจังหวัดสกลนคร สร้างรายได้ให้พวกเขาเป็นกอบเป็นกำเพราะ 1 กิโลกรัมสามารถขายได้ในราคาถึง 70 บาทแต่ติดที่ลู่ทางการค้ายังค่อนข้างแคบ จุดต่อมาที่ สวทช.เข้าไปสนับสนุนต่อจึงเป็นเรื่องของการตลาดผ่านหลักสูตรนักการตลาดชุมชน” นายสมศักดิ์ กล่าว
ผลจากการจัดทำหลักสูตรต่างๆ ทำให้เกิดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ธุรกิจเพื่อพัฒนาการเกษตร จำกัด เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกการตลาดให้กับเกษตรกร ซึ่งมีความคล่องตัวสูงกว่าการดำเนินการแบบสหกรณ์ที่ต้องผ่านมติจากสมาชิกถึงจะดำเนินการแต่ละขั้นตอนได้ และที่มากไปกว่านั้นความสำเร็จจากการเกษตรกรรมในพื้นที่ยังทำให้ลูกหลานเกษตรกรที่เคยไปทำงานต่างถิ่นกลับมา ซึ่งนายสมศักดิ์ระบุว่าเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุด
ด้าน น.ส.ประวีณา ขันสำรอง ทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เมื่อก่อนเธอทำงานอยู่ในกรุงเทพได้เงินเดือนค่อนข้างสูง แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวจึงอยากกลับบ้านเพื่อมาประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ติดที่เธอไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมใดๆ เลย เธอจึงตั้งกลุ่มทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางสำหรับการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ซึ่งจนถึงขณะนี้เริ่มดำเนินการมาได้ ประมาณ 1 ปีกว่า ซึ่งเธอระบุว่ากำลังเดินไปได้สวย
“เคยเห็นโครงการทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนที่ สวทช.เข้ามาช่วยชาวบ้านในพื้นที่อื่นก่อน เลยคิดว่าน่าจะทำได้บ้าง เพราะตัวเองก็มีพื้นที่อยู่เกือบ 100 ไร่ แต่ติดที่ว่าไม่มีความรู้ด้านการเกษตร จึงศึกษาด้วยตัวเองจากยูทิวบ์ และการรวมกลุ่มกับคนรุ่นใหม่ด้วยกันไปดูงานในที่ต่างๆ ทำให้เธอเริ่มปลูกมะละกอ ปลูกแตงโม เลี้ยงจิ้งหรีด และการเพาะพันธุ์ไก่ดำ แต่ปัญหาที่ติดขัดคือ เรื่องการตลาด เพราะช่องทางขายเราค่อนข้างแคบ จึงตั้งใจว่าจะเข้าร่วมหลักสูตรนักการตลาดชุมชนด้วย” ทายาทเกษตรรุ่นใหม่กล่าว
*******************************