จากกรณีบันไดเลื่อนชำรุดจนกลืนร่างคุณแม่ชาวจีนลงไปจนเสียชีวิตแบบต่อหน้าต่อตา ลามมาถึงกรณีบันไดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านวงศ์สว่างที่เกิดเหตุขึ้นซ้ำรอยเมื่อ 3 วันก่อน ทำให้วันนี้ "บันไดเลื่อน" กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลายคนไม่มั่นใจ
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงออกมาชี้แจงเร่งด่วน เกี่ยวกับปัญหา สาเหตุระบบการทำงาน จุดเสี่ยงและสถิติอุบัติเหตุจากการใช้บันไดเลื่อน เพื่อความปลอดภัยและการเพิ่มความระมัดระวังของประชาชน ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมรับฟังและซักถามข้อข้องใจด้วย
นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า บันไดเลื่อน และทางลาดเลื่อนที่นิยมมใช้กับรถเข็นสัมภาระเป็นเครื่องจักรกลที่ไม่มีความซับซ้อนมีอุปกรณ์หลักคือ โครงสร้างบันได มอเตอร์ และชุดทดรอบ จาน โซ่ ขั้นบันไดเลื่อน ราวมือจับ ตู้ไฟฟ้าควบคุม และอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในที่มีมากถึง 15 รายการ
ขั้นของบันไดเลื่อนจะมีขนาดลูกตั้งและลูกนอนใหญ่กว่าขั้นบันใดธรรมดาที่ใช้ในการขึ้นลงอาคาร เนื่องจากบันไดแต่ละขั้นจะมีล้อหมุนสองชุดที่ปลายขั้นบันไดโดยล้อทั้งคู่ของบันไดจะเคลื่อนที่ไปตามรางบังคับเพื่อให้ขั้นบันไดสามารถเลื่อนไปบนทางวิ่งของขั้นบันไดที่ออกแบบให้เป็นวงตามความยาวและมุมของบันได และเพื่อให้บันไดเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องหลุดออกจากกัน และไม่หลุดจากทางวิ่งของขั้นบันได ทุกขั้นบันไดบันไดจึงมีลักษณะเป็นซี่และร่อง เพื่อให้บันไดทุกขั้นขบกันอย่างต่อเนื่อง
"บันไดเลื่อนที่ผลิตจากบริษัทที่ได้มาตรฐานและมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องถือเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยมาก เพราะมีความเร็วที่ 1.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ช้ากว่าว่ายน้ำเสียอีก กรณีที่เกิดขึ้นทั้งที่จีนและไทยล้วนเกิดจากความบกพร่องของการดูแลรักษาทั้งสิ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก"
เนื่องจากผู้ผลิตบันไดเลื่อนจะติดตั้งกลอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยไว้ที่จุดต่างๆของบันได เช่น ราวบันไดราวบันไดที่ทำด้วยยางจะต้องเคลื่อนที่ตลอดภายใต้แรงตรึงที่ปรับไว้หากเกิดการหย่อนหรือสึกหรอ กลอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยจะหยุดการทำงานทันที เช่นเดียวกับโซ่ขับบันได ที่จะตรึงด้านที่เฟืองขับและจะหย่อนด้านที่เฟืองไม่ขับ เช่นเดียวกับหลักของโซ่จักรยาน ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท.เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ในส่วนของ รศ.ดร.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นที่จีนเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะตัวบันไดเลื่อนไม่ได้เป็นอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่แผ่นเหยียบแผ่นที่ 2 ไม่ได้ถูกช่างขันน็อตให้เรียบร้อย เมื่อคนมาเหยียบจึงตกลงไปด้านล่าง ซึ่งตรงกับหัวฟันเฟืองที่ใช้ขับเคลื่อนขั้นบันไดซึ่งถือเป็นส่วนที่อันตรายที่สุด ซึ่งจุดนี้ไทยจะต่างกับจีนเล็กน้อย เพราะบันไดเลื่อนของไทยที่ส่วนมากซื้อมาจากสหรัฐฯ จะมีห้องกั้นระหว่างส่วนฟันเฟืองและส่วนที่ให้ช่างซ่อมลงไปทำงานป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งช่องนั้นจะบรรจุอยู่ใต้แผ่นเหล็กที่ 3 เมื่อลงบันได ในขณะที่บันไดเลื่อนของจีนไม่มี อาจเป็นเพราะเหตุผลทางงบประมาณ หรืออื่นๆ ก็ไม่ทราบ ซึ่งเสี่ยงอันตรายมากหากแผ่นเหล็กที่คนเหยียบไม่แข็งแรงมากพอ
“เหตุที่จีนถ้าเพียงผู้หญิง 2 คนนั้นรู้จักปุ่มหยุดบันไดเลื่อน เหตุการณ์โศกอนาฏกรรมนั้นคงไม่เกิด” รศ.ดร.สิริวัฒน์ จึงระบุว่า ก้าวต่อไปที่ควรทำหลังการกวดขันการตรวจสอบบันไดเลื่อนของอาคารสาธารณะต่างๆ จึงเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จัก “ปุ่มหยุดฉุกเฉินบันไดเลื่อน” ที่จะอยู่ตรงบริเวณใต้ราวมือจับตรงหัวบันได แต่มักไม่มีใครสังเกตเห็นเหมือนกับปุ่มหยุดบนรถไฟฟ้าที่เขียนไว้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะกดปุ่มหยุดบันไดเลื่อนต้องทำด้วยวิจารณญาณ และใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ มิเช่นนั้นผู้กดปุ่มโดยพลการณ์จะถูกจับดำเนินคดี
นอกจากนี้ เลขาฯ วสท.ยังเผยด้วยว่า กรณีอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนที่ห้างสรรพสินค้าย่านวงศ์สว่างเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากเหรียญหลายอันที่เข้าไปขัดในบ่อบันไดเลื่อน เป็นเหตุให้ล้อขั้นบันไดหลุดออกจากรางแล้วดันให้ขั้นบันไดอื่นๆ หลุดจากรางไปด้วย แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้เพราะไม่ใช่อำนวจดำเนินการของ วสท. ต้องรอให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐานออกมาเป็นผู้ยืนยัน
นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ เหมวราพรชัย กรรมการผู้อำนวยการ วสท. ยังได้กล่าวด้วยว่าปัญหาเกี่ยวกับบันไดเลื่อนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ล้วนเกิดจากการใช้งานที่ผิดวิธีของผู้ใช้ เช่น รองเท้าติด ส้นรองเท้าติด ชายกระโปรงติด หรือลื่นล้ม ยังไม่เคยเกิดปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการทำงานของบันไดเลื่อนโดยตรงเพราะ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติควบคุมตรวจสอบอาคาร ที่บังคับให้ผู้แทนอาคารมีการตรวจประเมินซ่อมบำรุงบันไดเลื่อนตามกำหนดทุกเดือน หรือทุก 6 เดือนจึงน่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไทยสบายใจได้
ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบที่ห้างสรรพสินค้าขึ้น วสท.จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง แก่ผู้ใช้ และเรียกผู้แทนอาคารขนาดใหญ่มารับฟังคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำรอยเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่คนดูแลอย่างวิศวกรประจำอาคาร ช่าง และเจ้าของอาคารว่าจะมีจิตสำนึกเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน และเสนอแนะให้มีการแปะประกาศว่าบันไดเลื่อนตัวนี้ได้รับการตรวจสอบสภาพเพื่อความมั่นใจของผู้ใช้ด้วย
“สังเกตบันไดเลื่อนปลอดภัยได้ง่ายๆ จากความไหลลื่นของราวจับ ซี่ของบันไดที่ไม่แตกหักมากเกินไป ความสม่ำเสมอของความเร็วในการเคลื่อนที่ ผมขอย้ำว่าบันไดเลื่อนไทยหากมีอะไรผิดพลาด หรือแม้แต่เศษเหรียญ เศษแก้วเล็กๆ เข้าไปขัด บันไดเลื่อนจะหยุดเอง เพราะเรามีอุปกรณ์ที่เหมือนเป็นเซนเซอร์ความปลอดภัยอยู่ตามส่วนต่างๆ ของบันไดเลื่อนถึง 15 รายการ และที่อยากขอร้องต่อจากนี้คือ Safety zone หรือส่วนที่เป็นแผ่นเหล็กที่พื้นที่บริเวณก่อนทางขึ้นและลง 2.5 เมตร ควรเป็นที่โล่ง อย่าเอาอะไรไปวาง หรืออย่าไปจัดกิจกรรมตรงนั้นเด็ดขาด ส่วนภาพหรือคลิปที่ทำขึ้นเพื่อล้อเลียนหรือแนะนำว่าควรกระโดดจากบันไดเลื่อนท่าไหนผมว่าไม่ใช่เรื่องเข้าท่า ทางที่ดีคือเราต้องรู้จักปุ่มหยุดฉุกเฉินและรู้จักใช้มันเมื่อจำเป็นจริงๆ” กรรมการผู้อำนวยการ วสท.
สำหรับงานแถลงข่าว "บันไดเลื่อน...ปลอดภัยและไม่ซับซ้อน" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ส.ค.58 ณ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ