ทีมนักวิจัยไทยร่วมถอดบทเรียนแผ่นดินไหวเนปาล เรียนรู้จากความเสียหายและซากปรักหักพัง ตั้งข้อสังเกตเนปาลมีมาตรการสร้างอาคารรับแผ่นดินไหว แต่มีปัญหาบังคับใช้ พร้อมถามถึงแนวทางอนุรักษ์โบราณสถานไทยที่มีโครงสร้างไม่รับแรงสั่นสะเทือน
ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำทีมนักวิจัยในโครงการเดินทางไปเนปาลระหว่างวันที่ 13-17 ก.ค.58 เพื่อสำรวจความเสียหายและถอดบทเรียนแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อ 25 เม.ย.58 และเพิ่งเผยผลการสำรวจดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้
ผศ.ดร.ปั้นเจตต์ ธรรมรักษ์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย นักวิจัยผู้ร่วมเดินทางกล่าวว่า โครงสร้างของอาคารในเนปาลมี 3 แบบ คือ แบบหินก่อรับแรง ซึ่งใช้หินที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่มีต้น ทุนและพบมากในเนปาล นำมาเรียงซ้อนกันและประสานด้วยโคลนทราย บางแห่งใช้โครงสร้างไม้มาช่วยรับแรงเพิ่ม พบว่าโครงสร้างลักษณะนี้เสียหายมากกว่าโครงสร้างแบบอื่น
"โครงสร้างถัดมาที่พบคืออิฐก่อรับแรงคล้ายในเมืองไทย ซึ่งมีต้นทุนที่แพงขึ้น เป็นอิฐดินเผาที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองไทย และใช้ก่อกำแพงหน้ากว่าเมืองไทย แต่ยังเชื่อมประสานด้วยโคลนทรายเหมือนเดิม และโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งพบว่าที่เนปาลนิยมสร้างให้สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป และนิยมสร้างเป็นตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์" ผศ.ดร.ปั้นเจตต์ระบุถึงโครงสร้างอาคารที่พบในเนปาล
ด้าน ผศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จิตนาภักดี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยที่ร่วมเดินทางอีกคน เผยว่าได้พบอาคารที่มีการก่ออิฐแต่ไม่ฉาบปูนซึ่งมีความเสียหายมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากการไม่ฉาบปูน ดังนั้นจึงได้บทเรียนว่าการฉาบปูนดีกว่า และยังพบการสร้างอาคารบนภูเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยสำหรับเมืองไทย เพราะไทยไม่อนุญาตให้สร้างบนเขา
สำหรับบ้านในเนปาลที่สร้างบนภูเขานั้นสร้างตามแนวถนนที่ตัดผ่านยอดเขา โดยมีอาคารชั้นล่างที่ไล่ระดับลงไปตามความชันของภูเขา ทางเข้าบ้านซึ่งติดถนนจึงไม่ได้เป็นชั้นแรกของบ้าน แต่ ผศ.ดร.ฉัตรพันธ์ตั้งข้อสังเกตว่าอาคารด้านล่างไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเขาเพื่อช่วยรับแรงแผ่นดินไหว เนื่องจากลักษณะมีช่องล่างแลพไม่ติดเขา จึงมีข้อแนะนำว่าชั้นล่างควรสร้างให้ยึดติดเขาและไม่เปิดเป็นชั้นโล่งซึ่งเป็นโครงสร้างที่อ่อนแอ
"เรายังพบการกระแทกจากอาคารข้างจนได้รับความเสียหาย ทั้งที่ตัวอาคารนั้นอาจแข็งแรงพอที่จะรองรับแผ่นดินไหวได้ แต่ถูกอาคารที่ไม่แข็งแรงข้างๆ มาชนจนเสียหาย ทางที่ดีควรยึดทั้งสองอาคารให้ติดกันเพื่อโยกไปพร้อมกัน และเรายังพบเห็นการใช้งานอาคารที่เสียหาย ทั้งที่ไม่ควรใช้" ผศ.ดร.ฉัตรพันธ์กล่าว
อีกข้อสังเกตที่ ผศ.ดร.ฉัตรพันธ์พบคืออาคารพาณิชย์ที่ติดตั้งประตูเหล็กม้วนมีความเสียหายน้อยกว่าอาคารโครงสร้างอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าโครงประตูม้วนเหล็กและแผ่นประตูช่วยละลายแรงแผ่นดินไหว ทำให้ความเสียหายน้อย ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นหัวข้อวิจัยต่อไป
ด้าน รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม นักวิจัยผู้ร่วมเดินทางไปเนปาลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่าลักษณะของพื้นดินที่เป็นดินอ่อนและมีรูปร่างขอบดินเป็นแอ่งนั้นมีผลต่อการขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวมากขึ้น โดยลึกลงไป 500-600 เมตรดินใต้เมืองกาฐมาณฑุของเนปาลเป็นดินเหนียวดำ ซึ่งคาดว่าเป็นดินอ่อน ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ที่มีชั้นดินเหนียวซึ่งเป็นดินอ่อนลึกลงไป 400 เมตร
นอกจากนี้ รศ.ดร.นครยังกล่าวถึงความเสียหายของโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญต่อเมืองกาฐมาณฑุของเนปาลที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวว่า สาเหตุของความเสียหายเกิดจากการใช้วัสดุไม่ดี ขาดการบำรุงรักษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก มีโครงสร้างไม่ต้านทานแผ่นดินไหว รวมถึงอายุของโครงสร้างและสภาพภูมิประเทศ สภาพดินล้วนมีผลต่อความเสียหายจากแผ่นดินไหว และเป็นคำถามต่อว่าเราจะดูแลโบราณสถานของไทยในพื้นที่เสี่ยงอย่างไรต่อไป
ศ.ดร.เป็นหนึ่งยังให้ข้อเสนอหลังจากการสำรวจและถอดบทเรียนจากเนปาลว่า ไทยควรมีอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนที่ของพื้นดินให้มากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และหลายพื้นที่มีการสั่นสะเทือนรุนแรงเป็นพิเศษ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากทางธรณีวิทยา จึงเสนอให้ทำแผนที่เสี่ยงภัยระดับเมือง จากเดิมที่มีระดับประเทศแล้ว เพื่อนำไปสู่การสร้างบ้านเรือนที่แข็งแรงขึ้น
ส่วนกรณีการสร้างบ้านโดยใช้ดินเหนียวเป็นตัวประสานนั้น ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่าไทยไม่มีการสร้างบ้านลักษณะดังกล่าวเท่าไร แต่มีโบราณสถานที่ต้องพิจารณาต่อว่าถ้าจะอนุรักษ์จะต้องทำอย่างไรต่อไป จะเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงหรือไม่ หรือควรเข้าไปตรวจพื้นที่ก่อน และยังพบด้วยว่าเนปาลมีข้อกำหนดมาตรฐานสร้างอาคารรองรับแผ่นดินไหวที่ดี แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องการนำไปใช้ ซึ่งไทยก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน จึงมีคำถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร