หายดีแล้ว กลับบ้านได้ ... สัตวแพทย์ปล่อย "น้องบุ๋ย" เหี้ยขวัญใจชาวมหิดลศาลายาคืนธรรมชาติ หลังนำมารักษาในโรงพยาบาลสัตว์นานนับ 2 เดือน ขึ้นทำเนียบเหี้ยตัวแรกที่มีประวัติการรักษา ชี้ ! เป็นอีก 1 ผลงานยกระดับมหิดล ศาลายาสู่อันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก
รศ.น.สพ.ดร.จิตรกมล ธนศักดิ์ หรือ หมอต้น อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากน้องบุ๋ย หรือเหี้ยในคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ป่วยด้วยอาการลำไส้อักเสบ และทีมสัตวแพทย์ได้รักษาฟื้นฟูมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน ขณะนี้น้องบุ๋ยมีอาการดีขึ้นจนสามารถปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้อีกครั้ง ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
รศ.น.สพ.ดร.จิตรกมล กล่าวว่า อาการป่วยของน้องบุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นประเด็นแรก คือ ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด และถ่ายเหลว ซึ่งทีมแพทย์ได้รักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด วิตามินบำรุง และการให้สารน้ำ รวมทั้งยาแก้เชื้อบิดซึ่งเป็นอาการที่ตรวจพบในตอนหลัง เพราะโรคนี้เป็นโรคปกติที่พบได้บ่อยในพวกสัตว์กินซาก (Scavenger)
ประเด็นที่สอง ซึ่งเพิ่งสังเกตเห็นตอนนำน้องบุ๋ยมาแอตมิตคือ อาการขาหลังและหางอ่อนแรง ซึ่งอธิบายได้สองเหตุผล เหตุผลแรกคือสัตว์พวกนี้ถ้าท้องอืดรุนแรงมันจะกดสันหลังทำให้เป็นอัมพาตในช่วงท้ายลำตัว ซึ่งสังเกตได้ว่าน้องบุ๋ยเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อเริ่มลีบ เหตุผลที่สอง คือ น้องบุ๋ยตัวใหญ่ มีอายุร่วม 20 ปี ซึ่งอยู่ในขั้นแก่ ทำให้ร่างกายถดถอยไปตามลำดับ
อย่างไรก็ดี อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้ หมอต้นและหมอส้มโอ หรือ สพ.ญ.อภิษฎา วิเศษศรีพงษ์ ได้พาน้องบุ๋ยทำกายภาพ โดยการพาออกเดิน ไปที่แหล่งน้ำให้น้องบุ๋ยได้ลองลงน้ำให้ขามีแรงด้วยการใช้สายรัดอกพยุงคล้ายสุนัข และนวดขากระตุ้นการเดินเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ จนทำให้ตอนนี้น้องบุ๋ยเดินและว่ายน้ำได้ แม้ท่าทางจะไม่สวยงามเหมือนเดิม ดังนั้นอาจไม่แปลกที่จะเห็นน้องบุ๋ยลอยนิ่งๆ กลางลำน้ำอีก
"มันคงลอยอีก แต่ไม่ต้องตกใจแล้ว บุ๋ยไม่ได้ป่วยแล้ว เขาแค่อยากลอยน้ำตากแดดเฉยๆ พอเขาพอใจก็จะมุดลงน้ำใหม่ หรือค่อยๆตะเกียกตะกายไปที่น้ำตื้นและเข้าฝั่งเอง ตอนนี้ดูแล้วเขาเอาตัวรอดได้ มีแรง ก็ควรจะต้องปล่อย ถ้ายังเลี้ยงไว้ในอ่าง เก็บขี้ให้ เปลี่ยนน้ำให้ พาจูงไปว่ายน้ำ หรือต้มไข่ให้กินแบบนี้ต่อไปคงไม่ได้ เสียเหี้ยกันพอดี แค่นี้พวกเราก็ประคบประหงบกันสุดกำลัง เหมือนเลี้ยงลูก" หมอต้นกล่าวติดตลกแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ส่วนของการรักษา หมอต้น ระบุว่า เหี้ยค่อนข้างรักษายาก เพราะปัจจัยเรื่องอุณหภูมิความชื้นเป็นสิ่งสำคัญ ทีมหมอเหี้ยจึงต้องคอยดูแลปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมตลอดการรักษา เพราะ เมทาบอลิซึมและการดูดซึมของสัตว์เลื้อยคลานจะเกิดได้ในช่วงที่สิ่งแวดล้อมเหมาะสมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็เปล่าประโยชน์ที่จะให้ยา ฉะนั้นช่วงแรกของการรักษา เขาและ "หมออ้อย" หรือ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล จึงพยายามรักษาน้องบุ๋ยในพื้นที่ แต่ค่อนข้างลำบากจึงนำน้องบุ๋ยมาแอตมิตไว้ที่โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทรจนอาการดีขึ้น
เมื่อน้องบุ๋ยหายป่วย หมอต้น และผู้อำนวยการกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงออกไปสำรวจที่ๆ เหมาะสมหลายจุดเพื่อนำน้องบุ๋ยมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีที่ไหนดีไปกว่า "คลองบุ๋ย" ข้างคณะสิ่งแวดล้อมที่ที่น้องบุ๋ยเคยอยู่ จึงมีมติให้ปล่อยน้องบุ๋ยกลับสู่ที่เดิม โดยทีมหมอเหี้ย จะยังคงผลัดเวรกันมาสังเกตการณ์ และให้อาหารเพื่อเสริมการหากินตามธรรมชาติ ไม่ปล่อยแล้วปล่อยเลยอย่างแน่นอน
"ตอนแรกผมคิดจะทำที่อยู่ให้เขาอยู่ริมน้ำนะ แต่เมื่อมาคิดดีๆ ด้วยความที่เขาแก่ ขาก็ไม่ค่อยมีแรง ก็ให้เขาอยู่ที่ๆ เคยอยู่น่าจะดีที่สุด คงไม่มีแรงหนีไปที่ไหน แล้วน้องบุ๋ยก็เป็นเซเลบไปแล้ว ใครเห็นก็รู้จัก ตรงนี้เป็นเรื่องดีนะเพราะคนจะเริ่มสนใจและเข้าใจเรื่องการให้อาหารสัตว์แบบผิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่มหิดลพยายามจะประชาสัมพันธ์มานาน เพราะมหาวิทยาลัยของเราเน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก" หมอต้น กล่าว
นอกจากนี้หมอต้นยังเผยด้วยว่า นอกจากการรักษาน้องบุ๋ยจะทำให้ได้ศึกษาสัตว์แปลกอย่างเหี้ยอย่างละเอียดแล้ว น้องบุ๋ยยังทำให้หลายคนรู้สึกดีกับเหี้ยมากขึ้น รวมไปถึงตัวเขา ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับมันนานนับ 2 เดือนทั้งที่ไม่เคยชอบหรือรักษาเหี้ยมาก่อน เพราะเหี้ยไม่ได้ร้ายกาจอย่างที่ทุกคนคิด และมันมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติและเป็นตัวบอกเหตุที่ดีสำหรับมนุษย์เมื่อภัยมา
"ด้วยรูปลักษณ์ของเขาที่อาจจะไม่เจริญหูเจริญตาสำหรับใครบางคน บวกกับความหมายของคำว่าเหี้ยที่ถูกนำไปใช้แทนคำหยาบ ทำให้เหี้ยกลายเป็นสัตว์ชั้นสองที่นอกจากไม่น่ารักแล้วยังน่ารังเกียจขยะแขยง แต่โดยส่วนตัวผมแล้วมันน่ารักดี เป็นเพื่อนเราได้ และเป็นสัตว์ที่ไม่ควรทำร้ายอย่างยิ่ง และถ้าหากเจอเหี้ยป่วยอีกผมก็ยินดีที่จะรักษาอีก ผมกลายเป็นหมอเหี้ยไปแล้วครับ" หมอต้นกล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์