ในเทรนด์ที่คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพ อาหารการกินหลายอย่างจึงถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง "ข้าว" ที่มีหลากสี หลายพันธุ์ให้ได้เลือกรับประทาน ซึ่ง "ข้าวกล้องงอก" ก็เป็นที่นิยมในตลาดสุขภาพมาแล้วระยะหนึ่งด้วยสรรพคุณทางโภชนาการที่มากกว่าข้าวทั่วไป
SuperSci สัปดาห์นี้พาทุกคนมารู้จักกรรมวิธีการผลิตข้าวกล้องงอก กันถึงบ้านของเกษตรกร ที่หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนบ้านเต่างอย อ.นางอย จ.สกลนคร ชุมชนพึ่งพาตนเองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่วันนี้ข้าวกล้องงอกได้ทำให้ชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไป
นางวัดซัย ยะพลหา หรือ ป้ามะละกอ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเต่างอย กล่าวว่า ในอดีตหมู่บ้านเต่างอยและชุมชนข้างเคียงค่อนข้างแร้นแค้นขาดน้ำอุปโภคบริโภค แต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน รัฐบาลได้เข้ามาดูแลและจัดสรรอ่างเก็บน้ำให้จนมีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปี
การปลูกข้าวเหนียวและข้าวเจ้าจึงเป็นอาชีพหลักของเธอและคนในชุมชน ควบคู่กับการปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่างมะเขือเทศพันธุ์ดี จนบริษัทอาหารหลวงดอยคำ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เข้ามาสั่งซื้อมะเขือเทศในพื้นที่และตั้งโรงงานอาหารพร้อมบริโภคแห่งแรกขี้นใน จ.สกลนคร เพื่อกระจายสินค้าไปยังร้านโครงการหลวงสาขาต่างๆ
แต่การขายข้าวแบบปกติได้ราคาต่ำ เธอและกรรมการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงสนใจการทำข้าวกล้องงอกที่ขายได้ราคาดีกว่าเป็นเท่าตัว โดยได้นักวิชาการจากจังหวัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนอุปกรณ์ผลิตต้นแบบบางส่วนให้
ป้ามะละกอ อธิบายว่า การทำข้าวกล้องงอกประกอบด้วย 7 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การนำข้าวหอมมะลิทั้งเปลือกมาแช่น้ำสะอาดในกะละมังเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน เมื่อครบกำหนดเวลาจึงนำขึ้นจากน้ำมาเข้าถังบ่มอุณหภูมิสูงประมาณ 40-50 องศาเซลเซียสอีก 1 วัน 1 คืน จนข้าวเริ่มงอกและแทงตุ่มยอดอ่อนออกมาจากเปลือกประมาณ 2 มิลลิเมตร ซึ่งการกระตุ้นให้เกิดการงอกในลักษณะนี้ จะทำให้ข้าวผลิตสารที่เรียกว่า "กาบา" (GABA) ซึ่งมีส่วนเสริมความจำ และเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
หลังจากนั้นจึงหยุดการงอกด้วยการนำไปนึ่งในซึ้งเตาฟืน เป็นเวลาประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วนำไปตากในโรงเรือนตากข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเวลา 1 วันเพื่อลดความชื้น แล้วจึงนำไปสีในโรงสีข้าวขนาดเล็กเพื่อเอาแกลบออก ก่อนจะนำไปคัดเอาเมล็ดข้าวที่ไม่สวย หรือเศษกรวดที่ปะปนทิ้งไป แล้วจึงนำไปตากแดดอีกรอบ เพื่อนำไปบรรจุถุงแบบสุญญากาศขายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท
"ข้าวกล้องงอกกว่าจะเสร็จต้องผ่านกรรมวิธีซับซ้อน ซึ่งแต่ละขั้นตอนนักวิชาการเกษตรเขาได้วิจัยวิทยาศาสตร์มาหมด ก่อนจะเอามาถ่ายทอดให้เราทำตาม ซึ่งผลที่ได้ก็คุ้มค่าเพราะขายได้ราคาดี มีคุณภาพสูง จนตอนนี้กลายเป็นของดีประจำ จ.สกลนคร แต่ถ้าจะให้ดีต้องเรียกการทำข้าวแบบนี้ว่า "ข้าวฮาง" ถึงจะถูก เพราะเราแช่ข้าวหอมมะลิทั้งเปลือกแล้วเอาไปนึ่ง ในขณะที่ช้าวกล้องงอก คือการนำข้าวที่สีแต่จมูกยังไม่หลุดมาแช่น้ำให้เกิดตุ่มงอก คล้าย ๆ กัน แต่ก็ได้กาบาร์เหมือนกัน แล้วเราก็เรียกว่าข้าวกล้องงอกเพราะคนรู้จักมากกว่า" ป้ามะละกอกล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์