ข่าวคราวอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นกับรถโรงเรียนมีให้ได้ยินกันบ่อยครั้ง หลายหน่วยงานจึงพยายามหาวิธีป้องกันตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมไปถึงระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี่รถรับส่งนักเรียนด้วยสมาร์ทโฟนที่นักวิจัยไทยพัฒนาขึ้น
SuperSci สัปดาห์นี้ พาไปรู้จักกับระบบ “School Mate” ระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี่รถโรงเรียนด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน พัฒนาขึ้นโดย ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ นักวิจัยหน่วยวิจัยสารสนเทศการสื่อสารและคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า ระบบ SchoolMate เป็นระบบประเมินพฤติกรรมในการขับขี่รถนักเรียนด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือในการวัดระดับความปลอดภัยในการขับขี่ที่เน้นความสะดวก ใช้งานง่าย และใช้ต้นทุนต่ำ เพราะใช้เซนเซอร์วัดอัตราเร่ง ที่เรียกว่า Accelerometer sensor ที่มีอยู่แล้วบนสมาร์ทโฟนมาใช้ประโยชน์ในการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของยานพาหนะที่ถูกเชื่อมต่อไว้ในเหตุการณ์ระหว่างขับขี่
เนื่องจากเซนเซอร์วัดอัตราเร่งสามารถตรวจจับ การเร่งความเร็ว, การ เบรคกะทันหัน, การเปลี่ยนเลนส์ และเลี้ยวกะทันหัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลหลังการขับจากเซนเซอร์ดังกล่าวมาสรุปและประมวลผลจะทำให้ระบบสามารถคำนวณคะแนนความปลอดภัยในการขับขี่ได้อย่างเที่ยงธรรม ซึ่งจะแจ้งผลให้ผู้ใช้งานและผู้ควบคุมทราบแบบเรียลไทม์เมื่อมีเหตุการณ์ในการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย นำไปสู่การให้คำตักเตือนและประเมินผลผู้ขับขี่เพื่อปรับปรุงระบบขนส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
“ระบบนี้เหมาะกับโรงเรียน ที่มีระบบรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากๆ เพราะระบบจะอจ้งเตือนทันทีเมื่อรถคันในควบคุมมีการขับขี่ที่ส่อเค้าไปในทิศทางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งในแต่ละวันผู้ควบคุมระบบสามารถสรุปคะแนนของผู้ขับรถแต่ละคันไว้สำหรับให้คำแนะนำหรือตักเตือนได้ สมมติมีคะแนนเต็ม 100 ผู้ที่ขับรถเบรกกะทันหันบ่อย หรือเปลี่ยนเลนส์กะทันหันบ่อยก็จะถูกหักคะแนน เช่น คุณสมศรีขับรถดีไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้คะแนนเต็ม 100 ก็ควรถูกชมเชย ในขณะที่คุณศิริวัฒน์ มักเบรกกะทันหันบ่อยๆ เร่งความเร็วบ่อยๆ ก็จะถูกหักคะแนนทำให้ผู้ควบคุมระบบตักเตือนได้ถูกจุด ทำให้ครั้งหน้าเขาระมัดระวังและขับรถดีขึ้น” นักวิจัย อธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ดร.เฉลิมชัยระบุอีกว่า ระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี้นี้นอกจากจะเหมาะกับการรับส่งนักเรียนแล้ว ยังเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ต้องการควบคุมรถจำนวนหลายๆ คันแบบเรียลไทม์และระบบขนส่งที่ต้องการความปลอดภัยและความนุ่มนวลสูงด้วย เช่น การขนส่งสารเคมี งานบริษัทประกันภัย รถขนส่งเงิน หรืออัญมณี โดยผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อเจรจาธุรกิจและซื้อลิขสิทธิ์นวัตกรรมจาก สวทช.ไปใช้โดยตรงได้ที่ ศูนย์เนคเทค สวทช. ทางอีเมล์ chalermpol.saiprasert@nectec.or.th หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 02-564-6900 ต่อ 72289 และยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต้นแบบที่มีระบบการทำงานคล้ายคลึงกันได้ทาง Google Play และ App Store เพียงพิมพ์คำว่า “SAFEMATE”