xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.นพพล คบหมู่" นักราวิทยาผู้ค้นคว้ายาปราบแมลงชนิดใหม่ให้โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.นพพล คบหมู่ นักวิจัยหนุ่มไฟแรงแห่งห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
“ราแมลงสำหรับผมคือ งานและความรักครับ บอกไม่ได้ว่าชอบเพราะอะไร รู้อย่างเดียวว่ายิ่งศึกษาแล้วยิ่งรู้สึกว่ามันน่าอัศจรรย์”

คำตอบจากปาก ดร.นพพล คบหมู่ นักวิจัยหนุ่มผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงจุลชีววิทยาและนิเวศวิทยา ผู้ค้นพบ “ราแมลง 5 ชนิดใหม่ของโลก” ที่วันนี้เปิดโอกาสให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าสัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปทำวิจัยที่ฝรั่งเศสเพื่อค้นหาความลับที่คนทั่วโลกรอคอยเกี่ยวกับ “ราแมลง”

ถ้าพูดถึง "ราแมลง" หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึง "ถั่งเฉ้า" คงร้องอ๋อกันแน่ๆ ทั้งที่ความจริงถั่งเฉ้าก็เป็นราแมลงชนิดหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและรู้จักกับราแมลงให้มากขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.นพพล คบหมู่ นักวิจัยหนุ่มไฟแรงแห่งห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้เชี่ยวชาญด้านราแมลงที่ได้รับทุนไปทำวิจัยต่อด้านวิวัฒนาการของราแมลงยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อมาเล่ามุมมองเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของ "นักราวิทยา"

เด็กเรียนเก่งไม่จำเป็นต้องเรียน "หมอ"
"ผมมาเป็นนักวิทยาศาสตร์เพราะผมไม่อยากเป็นหมอครับ" คำตอบกึ่งขำกึ่งเครียดถูกเปล่งออกมาช้าๆ จากนักวิจัยหนุ่มเท้าความถามถึงความเป็นมาในวัยเด็ก

ดร.นพพล เผยว่าเขาเป็นเด็กที่มีผลการเรียนโดดเด่นมาตลอด ทำให้ครอบครัวตั้งความหวังให้เขาเป็นนายแพทย์ แต่เขาไม่อยากเป็น เพราะทราบดีว่าอาชีพแพทย์ต้องสูญเสียเวลาส่วนตัวมากทำให้เขาพยายามหาวิธีบ่ายเบี่ยงเพื่อที่จะไม่ต้องสอบเอนทรานซ์เข้าคณะที่ขัดใจ

นายนพพลขณะนั้นจึงได้เลือกสอบชิงทุน ก.พ.เพื่อส่งตัวเองไปต่างประเทศและทำได้สำเร็จจนได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร รู้อย่างเดียวในใจว่าที่ไม่ใช่แน่ๆ คือการเรียนแพทย์ ซึ่งการสอบติดทุนนี้ก็สร้างความปลาบปลื้มให้กับครอบครัวได้ไม่แพ้กัน โดยระหว่างที่ฝึกเรียนภาษาก่อนเริ่มเลือกเรียน 1 ปีนั้นเป็นช่วงที่เขาได้ค้นหาตัวเอง จนมาเลือกเรียนสาขาชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยมองเปอริเย่เพราะเป็นวิชาเรียนที่ชอบเป็นการส่วนตัว

เรียนไปเรียนมา ตกหลุมรัก "นิเวศวิทยาและวิวัฒนาการ"
ดร.นพพล กล่าวว่า การเรียนชีววิทยาทำให้เขามองโลกในมุมที่ต่างออกไป เพราะมันทำให้เขาอยากรู้และสนใจความเป็นมาของโลกและสิ่งมีชีวิต ซึ่งวิชาชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการเป็นวิชาที่ตอบโจทย์มุมมองความใคร่รู้ของเขามากที่สุดและทำให้เขาเริ่มศึกษารายละเอียด และเดินในเส้นทางวิจัยสายวิวัฒนาการ โดยเฉพาะด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมและพันธุศาสตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนปริญญาเอก ได้เข้าทำงานที่ห้องปฏิบัติการซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายของมะเดื่อไทรและต่อแตนที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากับมะเดื่อไทรโดยการศึกษาเส้นทางวิวัฒนาการ, พันธุศาสตร์ประชากร ซึ่งนับเป็นจุดเชื่อมโยงแรกที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความชอบเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย
ราบนหนอนผีเสื้อ (เครดิตภาพ ไบโอเทค สวทช.)
กลับสู่แผ่นดินเกิดเพื่อทำงาน "ด้านราวิทยา"
คุณค่าของงานวิจัยระดับปริญญาเอกเป็นแนวคิดที่ทำให้อยากกลับมาทำงานวิจัยกับไบโอเทค เมื่อจบการศึกษาจึงกลับมาบ้านเกิดและเข้าทำงานที่ห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์จนถึงปัจจุบัน ที่ดร.นพพล เผยว่าจนถึงขณะนี้ได้ทำงานมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ฌลโดยเขาได้มีส่วนร่วมกับงานทุกๆ ส่วนตั้งแต่การออกภาคสนาม และการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อดูข้อมูลทางพันธุกรรมระดับจีโนม

"นักราวิทยา" คือนักชีววิทยา+นักสำรวจ
ดร.นพพล อธิบายว่างานหลักของห้องปฏิบัติการราแมลง คือ การสำรวจและค้นหาตีพิมพ์ราแมลงสายพันธุ์ใหม่สู่สายตาประชาคมนักวิทยาศาสตร์โลก รวมไปถึงการเก็บสายพันธุ์เชื้อราชนิดต่างๆ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้ทดลองนำไปทดสอบเพื่อพัฒนาเป็นยากำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร, หาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและเอนไซม์ต่างๆที่น่าสนใจ โดยราแมลงสายพันธุ์ที่นิยมนำไปศึกษาและต่อยอดมีด้วยกัน 4 ชนิดคือ บิววาเรีย บอสเซียนา (Beauveria bassiana), เมทาไรเซียม อนิโพลิเอ (Metarhizium anisopliae), เมทาไรเซียม โรเบิตซิ (Metarhizium robertsii) และ ไอซาเรีย สปีชี่ส์ (Isaria sp.) ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศอย่างจีนและบราซิล นำไปใช้จริงกับพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว

กว่าจะได้ราแมลงสักตัวไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าไม่ใช่กูรู
ดร.นพพล กล่าวว่า ราแมลงมักจะชอบอยู่ตามพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะในช่วงกน้าฝนและป่าที่อุดมสมบูรณ์ ตามใต้ต้นไม้และใต้ใบไม้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะหาเจอ รวมถึงเขาเองด้วย แต่โชคดีที่คนในห้องปฏิบัติการมีความชำนาญ ทำให้มักได้พบกับราแมลงที่มีก้านชูสวยงามสมบูรณ์สวยงามแปลกตาอยู่บ่อยๆ

"สำหรับอุปกรณ์ก็เป็นแค่ของง่ายๆ อย่างกล่องพลาสติก, ถุงพลาสติก, ถุงกันทาก, รองเท้าเดินป่าดีคู่เก่ง, สายตา แล้วก็มือ เพราะเวลาเก็บก็จะใช้แค่มือหากตัวอย่างอยู่บนพื้นดิน แต่ถ้าบางพันธุ์ที่ลงไปเจริญในหนอนตัวอ่อนของแมลงซึ่งอยู่ใต้ดินลึกลงไปหน่อยก็จะต้องใช้เสียมช่วยขุดอย่างระมัดระวัง เมื่อได้ตัวอย่างสดก็จะนำมาใส่กล่อง, ทำความสะอาดแล้วจึงนำไปศึกษาโดยไม่ต้องดองหรือทำะไรกับมันเลย เพราะการศึกษาสันฐานวิทยาควรจะทำตอนที่ตัวอย่างยังสดอยู่จึงจะดีที่สุด"
ราบนมวน (เครดิตภาพ ไบโอเทค สวทช.)
ศึกษา "ราแมลง" ต้องทำอย่างไรบ้าง
เมื่อได้ราแมลงมาแล้ว นักวิจัยจะสำรวจลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายนอกว่าตัวเป็นอย่างไร, สีเป็นอย่างไร, โครงสร้างสืบพันธุ์เป็นอย่างไร, มีสปอร์เป็นอย่างไร แล้วนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือที่รวบรวมราแมลง หรือวารสารวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติต่างๆ ถ้าเป็นของเดิมกับที่มีอยู่ก็บันทึกแล้วเก็บ ส่วนถ้าเป็นชนิดใหม่ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดถึงระดับพันธุกรรมก่อนว่าเป็นของใหม่จริง โดยการสกัดเชื้อราให้บริสุทธิ์เพื่อนำไปสกัดดีเอ็นเอ แล้วจึงค่อยตีพิมพ์ว่าเราค้นพบราแมลงชนิดใหม่ของโลก

นักวิจัย เผยว่า ปกติทีมนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยจะออกเก็บตัวอย่างภาคสนามประมาณเดือนละ 1 ครั้ง คละกันไปตามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศไทย บ้างก็ไปเช้าเย็นกลับ บ้างก็ลงพื้นที่ติดต่อกันหลายวันแล้วแต่กรณีทั้งลำบาก ทั้งสนุกปะปนกันไป เพราะทุกคนในแล็บเป็นมืออาชีพและมีความชำนาญ ทำให้การลงพื้นที่สำรวจแต่ละครั้ง มีโอกาสน้อยมากที่จะไม่พบราแมลง

การตีพิมพ์คือ ความภาคภูมิใจ
ดร.นพพล กล่าวว่า การค้นพบราแมลงชนิดใหม่ เป็นเรื่องที่นักราวิทยาทุกคนปรารถนา ไม่ใช่ด้วยเรื่องผลงานวิชาการหรือเหตุผลอื่นใด แต่เป็นเพราะเป็นสิ่งที่คนในแวดวงสนใจและการค้นพบใหม่ๆก็เป็นสิ่งแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า และราแมลงชนิดใหม่ๆ ก็น่าสนใจเสมอเพราะนั่นอาจเป็นบันไดที่จะพานักวิจัยไปสู่สารฆ่าแมลง หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ในวงการได้
นอกจากนี้ ดร.นพพล ยังระบุด้วยว่า ในช่วงต่อไปของการวิจัย ทีมงานจะเดินหน้าสำรวจราแมลงในพื้นที่ป่าชุมชน ควบคู่ไปกับการสำรวจตามเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ ด้วย เพราะป่าชุมชนบางที่ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กัน
ราบนมด (เครดิตภาพ ไบโอเทค สวทช.)
อยากให้คนรู้จักราแมลงมากขึ้น

ดร.นพพล กล่าวว่า ในเมืองไทยมีราแมลงเยอะมาก แต่น่าแปลกที่เด็กไทยไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งอาจเป็นเพราะการศึกษาของประเทศไทยที่เน้นให้เด็กเรียนในตำราจนลืมให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทั้งที่รอบๆตัวเด็กนักเรียนนั้นเอื้อต่อการเรียนรู้มากกว่าเด็กฝรั่ง แต่กลับกันเด็กฝรั่งซึ่งธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์เท่าเมืองไทยกลับมีความสนใจและเข้าใจในธรรมชาติมากกว่าเพราะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่น่าสายเกินไปหากเด็กไทยจะตื่นรู้กับการทำความใจกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรอบข้าง

"อาจเป็นเพราะ เชื้อรามันไม่ดึงดูด ไม่น่ารัก เท่านกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกระมังครับ เด็กเลยไม่ค่อยรู้จัก ทั้งๆที่การศึกษาราวิทยาไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะใช้แค่กล้องจุลทรรศน์ ใช้เทคนิคการย้อมสีง่ายๆ ก็ทำได้แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นข้ออ้างที่จะศึกษาไม่ได้ ถ้าปรับเปลี่ยนได้จะดีมากเพราะตอนนี้เราก็มีนักวิจัยหัวกะทิทางด้านนี้ไม่เกิน 30 คน ผมอยากให้การศึกษาของไทยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ธรรมชาติเหมือนกับที่ฝรั่งเศส เพราะเขาให้ความสำคัญเขาจึงพัฒนาะมีนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกหลายต่อหลายคน"

"ราแมลง" คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตยังต้องเดินต่อไป
ถ้าถามว่าตอนนี้ราแมลงคืออะไรในชีวิตผม ผมตอบเลยว่ามันคือ งานและความรัก เพราะผมชอบวิจัย ผมชอบค้นคว้า ผมชอบหาความรู้ใหม่ๆ และราแมลงมันเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ มันไม่ตัน ซึ่งมันทำให้ความอยากรู้ของผมเกินหน้าไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดร.นพพล กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ดร.นพพล คบหมู่ นักวิจัยหนุ่มไฟแรงแห่งห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)










กำลังโหลดความคิดเห็น