xs
xsm
sm
md
lg

ผงลด "คลอเลสเตอรอล" จากจุลินทรีย์บนปลายข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผงลดคลอเลสเตอรอลจากจุลินทรีย์บนปลายข้าว ถูกทำให้เป็นผงบรรจุอยู่ในซองพร้อมรับประทาน
นักวิจัย ม.เกษตรผลิตผงลดคลอเรสเตอรอล-ต้านอนุมูลอิสระ เปลี่ยนปลายข้าวราคาถูกด้วยจุลินทรีย์หมักเต้าหู้ยี้ เพิ่มมูลค่าพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำสู่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคุณภาพแน่นแคปซูล ช่วยเกษตรกรลดขยะและเพิ่มรายได้

น.ส.ประภัสสร รักถาวร นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีค่านิยมการกินอาหารที่เปลี่ยนไป ทำให้ในระยะ 20 ปีหลังมานี้ มีผู้เป็นโรคอ้วนและคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งอ้างอิงได้จากปริมาณการจ่ายยาลดคลอเรสเตอรอลในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีปริมาณสูงเป็นอันดับ 4 ของยาทั้งหมด

เธอจึงศึกษาจุลินทรีย์ที่มีกลไกผลิตสารลดคลอเรสเตอรอลในเลือดด้วยการค้นคว้างานวิจัยจากต่างประเทศ จนค้นพบว่าจุลินทรีย์ชนิด "โมแนสคัส เพอพูรัส เอ็ม 16" (Monascus purpureus M16) หรือจุลินทรีย์ที่นิยมใช้กับการหมักเต้าหู้ยี้ สามารถผลิตสารโลวาสตาติน (Lovastatin) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติลดคลอเลสเตอรอลได้ เธอจึงมุ่งขยายพันธุ์จุลินทรีย์ชนิดดังกล่าวเพื่อผลิตสารลดคลอเรสเตอรอล ด้วยการเพาะเชื้อบนปลายข้าวหอมมะลิที่เป็นผลพลอยได้จากโรงสีข้าว

“ข้าวหอมมะลิทั่วไปที่เราทาน เขาจะไปสีเอาเปลือกออก ทำให้จมูกและปลายข้าวหลุดไปด้วย ซึ่งตัวจมูกข้าวยังพอขายได้ราคา แต่ปลายข้าวแทบจะไม่มีราคาเลย ด้วยโครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ต้องการเพิ่มราคาให้กับสินค้าทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ เราจึงพยายามหาวิธีที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับปลายข้าว ด้วยการนำมาเป็นแหล่งเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเสริมสุขภาพ เพราะค่อนข้างถนัดด้านจุลชีววิทยา” นักวิจัยกล่าวถึงความเป็นมาแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

เพื่อเฟ้นหาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ผลิตโลวาสตาตินหรือสารลดคลอเราสเตอรอลได้ดีที่สุด ประภัสสร เผยว่า เธอต้องเสียเวลาอยู่กับการคัดเลือกชนิดจุลินทรีย์จากคลังวิจัยจุลินทรีย์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) อยู่นาน เพราะเธอต้องการให้ผู้บริโภครับประทานอาหารเสริมสุขภาพในปริมาณน้อยแต่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยจะใช้จุลินทรีย์หมักเข้ากับปลายข้าวคุณภาพดี รอให้เชื้อเจริญเติบโตจนสร้างโลวาสตาตินได้เต็มที่ แล้วจึงนำส่วนของปลายข้าวที่มีเชื้อเจริญอยู่มาบดเพื่อเป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ที่เธอใช้ชื่อว่า "ผงซูเปอร์เฮลท์ตีพาวเดอร์" (super healthy power)

นอกจากนี้นักวิจัยยังระบุด้วยว่า นอกจากปลายข้าวที่มีสารลดคลอเรสเตอรอลแล้วในผลิตภัณฑ์นี้ยังมีการผสมสารสกัดซังข้าวโพดม่วงร่วมด้วย เพราะจากการวิจัยก่อนหน้าของเธอทำให้ทราบว่า แอนโทไซยานินในซังข้าวโพดม่วงมีสารต้านอนุมูลอิสระและโมนาโกโอลีน เค (Monakooline K) ซึ่งมีคุณสมบัติชะลอวัยและต้านทานมะเร็งที่น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคเช่นกัน โดยใช้อัตราส่วนผสมที่คำนวณและวิจัยแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้บริโภคโดยไม่เป็นอันตราย

"เท่ากับว่าแคปซูลเดียวก็จะได้ทั้งลดคลอเรสเตอรอลและสารต้านอนุมูลอิสระด้วย แต่ทั้งนี้เรายังไม่ได้วัดผลในผู้บริโภคเฉพาะผลิตภัณฑ์ตัวนี้อย่างเดียว เพราะยังต้องผ่านกระบวนการทดสอบอีกมาก แต่เราใช้การเทียบเคียงกับปริมาณปริมาณโลวาสตาตินซึ่งเป็นตัวยาหลักในยาลดคลอเรสเตอรอลสังเคราะห์ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไป ที่กำหนดว่าต้องได้รับอย่างน้อยวันละ 5 มิลลิกรัมจึงจะทำให้คลอเรสเตอรอลลดลงได้" ประภัสสร เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

สำหรับผงซูเปอร์เฮลท์ตี้พาวเดอร์นี้ประภัสสรนำไปจำหน่ายภายในงานเกษตรแฟร์ในช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเมื่อแต่การผลิตทั้งหมดยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติ และเธอพร้อมที่จะถ่ายทอดให้กับผู้สนใจที่จะมารับช่วงถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรราคาต่ำซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เป็นแหล่งให้ทุนกับงานวิจัยของเธอ และในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์จำพวกชาชงดื่มเพื่อให้ง่ายกับการบริโภค
งานวิจัยข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกนำมาจัดแสดงในงานมหกรรมวิจัย 2558
เส้นใยของเชื้อจุลินทรีย์ โมแนสคัส เพอพูรัส เอ็ม 16 ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
เชื้อโมแนสคัส เพอพูรัส เอ็ม 16 ในจานเพาะเชื้อ
ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์บนปลายข้าวมีหลายรูปแบบทั้ง ผง แคปซูล และชา
น.ส.ประภัสสร รักถาวร นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์









กำลังโหลดความคิดเห็น