xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว "หอยบุษราคัม" หอยต้นไม้ชนิดใหม่ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จุฬาฯ เปิดตัว "หอยบุษราคัม" หอยต้นไม้นามพระราชทานชนิดใหม่ของโลก พ่วง "หอยนกเหลืองแม่สอด" ชี้เป็นทรัพยากรชีวภาพสำคัญตัวบ่งชี้การอนุรักษ์ป่า

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (อพสธ.) แถลงข่าวการค้นพบ "หอยบุษราคัม" และ "หอยนกเหลืองแม่สอด" หอยต้นไม้ 2 ชนิดใหม่ของโลก เมื่อวันที่ 9 ก.ย.58 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ กล่าวว่า จากการศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์หอยทากบกในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 30 ปีของนักวิจัยจุฬาฯ ทำให้ประมาณได้ว่า ในประเทศไทยมีหอยทากบกประมาณ 1,000-1,500 ชนิด โดยนับร้อยชนิดที่ค้นพบใหม่ของโลก เกิดจากการค้นพบของทีมวิจัย โดยส่วนมากหอยแต่ละชนิดที่ค้นพบจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ทั้งขนาด รูปร่างและสีสันที่แปลกตา

โดยเฉพาะหอยต้นไม้ที่มีสีสันสวยงาม จนได้รับการขนานนามว่า "อัญมณีแห่งพงไพร" ซึ่งจากการลงพื้นที่ศึกษาหอยต้นไม้สกุลแอมฟิโดรมัสในไทยตั้งแต่ปี 2543 ทีมวิจัยได้ค้นพบหอยทากชนิดใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีนี้มีผลงานวิจัยของการค้นพบหอยต้นไม้สวยงามชนิดใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิจัยระดับนานาชาติ ZooKeys 2015 ให้เป็นหอยสวยงามชนิดใหม่ของโลกถึง 2 ชนิด

ชนิดแรกได้แก่ หอยบุษราคัม ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอมฟิโดรมัส พรินซิพาลัส (Amphidromus principalis Sutcharit & Panha, 2015) ซึ่งเป็นหอยต้นไม้เวียนซ้าย พบได้ตามต้นส้ม ต้นขนุน บนเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช เปลือกมีสีเหลืองและมีลายเส้นสีเหลืองเข้มพาดตั้งฉากกับแนววงเปลือก มีหอยขนาดเล็กมีความสูงเปลือกประมาณ 2.5 - 3.6 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ลำตัวหอยสีขาวนวลถึงสีครีมไม่มีลวดลาย ในหอยที่มีอายุมากอาจมีสีน้ำตาลอ่อนที่บริเวณหัวและเท้า

ดำรงอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งบนเกาะ โดยหอยทากจะพบเกาะอยู่ตามใบไม้ ลำต้น และกิ่งของต้นไม้ที่มีความสูงมากกว่า 10 เมตร และบริโภคไลเคนหรือตะไคร่ที่ขึ้นอยู่บนเปลือกต้นไม้เป็นหลัก

หอยบุษราคัม ถูกค้นพบบนต้นไม้บนเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยพืช สัตว์ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยชื่อ "หอยบุษราคัม" เป็นชื่อที่ถูกพระราชทานโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ด้วยลักษณะของเปลือกที่มีสีเหลืองแวววาว เปรียบดั่งพลอยบุษราคัม

"หอยชนิดนี้พบได้ที่เฉพาะเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มประชากรค่อนข้างใหญ่จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะหอยต้นไม้จะอาศัยอยู่บนต้นไม้ตลอดชีวิต การที่เราค้นพบว่ามันยังมีอยู่ แสดงว่าระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ ยังสมบูรณ์ดี เพราะหอยเหล่านี้มีความจำเพาะถิ่นสูงเนื่องจากถูกวิวัฒนาการมาให้มีความเหมาะสมกับถิ่นที่อยู่ เราในฐานะประชาชนจึงต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้อย่าไปรุกราน เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ คือจุดแข็งของประเทศไทย สำหรับชื่อถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงจากสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงตั้งพระนามให้ โดยเราได้ตั้งชื่อหลังว่า พรินซิพาลัส ที่มีความหมายว่า องค์สมเด็จพระเทพฯ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ด้วย" ศ.ดร.สมศักดิ์ เผย

ส่วนอีกชนิดหนึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์ เผยว่าเป็นหอยต้นไม้ที่ชื่อว่า หอยนกเหลืองแม่สอด หรือ หอยนกขมิ้นขอบวงน้ำตาล ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอมฟิโดรมัส โกลโบเนวิลไล (Amphidromus globonevilli Sutcharit & Panha, 2015) ซึ่งถูกค้นพบในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เปลือกมีสีเหลือง มีแถบสีน้ำตาลอยู่ตามรอยเวียนจองเปลือกรองสุดท้ายและวงสุดท้าย ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน

นอกจากการค้นพบ ศ.ดร.สมศักดิ์ ยังเผยด้วยว่า ขณะนี้ได้นำเมือกของหอยทากชนิดใหม่ทั้ง 2 มาเข้าสู่กระบวนการศึกษาคุณสมบัติโปรตีนและเปปไทด์ เพื่อหาคุณสมบัติพิเศษสำหรับนำมาใช้เป็นวัสดุปรุงแต่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากเมือกหอยทากนวล ที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวในเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในชื่อของ "สยามสเนล" (Siamsnail) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับเอกชนที่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ซื้อลิขสิทธิ์งานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อนำมาต่อยอดนวัตกรรมม

ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ได้กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การที่เรายังคงค้นพบหอยหรือสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ในประเทศของเรายังคงอุดมสมบูรณ์อยู่มาก และเป็นสิ่งที่ผมอยากจะตอกย้ำให้ทุกคนหวงแหน เพราะในอนาคตประเทศไทยจะต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในเรื่องของพืช สัตว์ สมุนไพร แม้กระทั่งจุลินทรีย์ที่เรามีมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ส่วนการต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ได้ทำก็สอดคล้องกับพันธกิจของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวาระที่อีก 1 ปีครึ่งจะครบรอบ 100 ปีว่าจะยกระดับงานวิจัยให้เป็นงานวิจัยในเชิงนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อคืนประโยชน์ให้กับสังคม และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจไม่ให้จบการวิจัยอยู่ภายในห้องปฏิบัติการหรือการตีพิมพ์อย่างที่แล้วมา

เปลือกสีเหลืองทองเหมือนบุษราคัม
เปลือกหอยเวียนทางซ้าย

ศ.ดร.สมศักดิ์ นำหอยมาเดินบนมือโชว์แก่ผู้สื่อข่าว
หอยนกเหลืองแม่สอด

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตรพิมลมาศ ผอ.สกว., ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว
ศ.ดร.สุพจน์  หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


























กำลังโหลดความคิดเห็น