ตราบใดที่โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ยังคงโคจรอยู่ในระนาบเดียวกัน ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” ย่อมมีให้เห็นได้อยู่เสมอ มารู้จักกลไกลการเกิดสุริยุปราคาให้ดียิ่งขึ้นผ่านโมเดลง่ายๆ ผลงานคนไทย
SuperSci สัปดาห์นี้พาไปทำความเข้าใจกลไกการเกิดสุริยุปราคา ด้วยแบบจำลองง่ายๆ ผลงานทีมพัฒนาขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งนายณรงค์ ภูทัดดวง นักวิชาการ อพวช.กล่าวว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคา คือ ปรากฏการณ์ที่มนุษย์สังเกตเห็นว่าดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์สว่างลดลงหรือมืดลงไปเลย เนื่องจากถูกดวงจันทร์บดบังแสงไว้ชั่วขณะ
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ปกติทางดาราศาสตร์ เกิดขึ้นจากการที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกโคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โดยที่มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ซึ่งในขณะที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกันกับดวงอาทิตย์นั้นจะทำให้เกิดเงาฉายมาที่ผิวโลก ทำให้คนที่อยู่ใต้เงานั้นมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ ซึ่งขณะที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวท้องฟ้าในบริเวณนั้นๆ จะมืดลงไประดับหนึ่งหรือมืดคล้ายตอนกลางคืนเลยทีเดียว
ทว่าสุริยุปราคามีด้วยกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลก, ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ เช่น หากคนบนโลกอยู่ในบริเวณเงามืดที่เกิดจากเงาของดวงจันทร์ซ้อนทับกับดวงอาทิตย์ได้สนิทพอดีก็จะเห็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวง แต่ถ้าหากอยู่ในบริเวณเงามัวที่ทำให้เห็นการซ้อนทับระหว่างเงาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่สนิท คนในบริเวณนั้นก็จะเห็นสุริยปราคาเป็นแบบบางส่วน หรือถ้าดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกจนบังดวงอาทิตย์ไม่หมดและเห็นเป็นวงก็กลายเป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน
"โมเดลนี้เราทำขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจกับกลไกการเกิดแบบง่ายๆ จากการเรียงตัวของดาวและเงา โดยให้โคมไฟเป็นดวงอาทิตย์ ทรงกลมสีส้มขนาดเล็กเป็นดวงจันทร์และลูกโลก ซึ่งผู้เข้าชมจะเข้าใจได้ง่ายๆ เพียงแค่กดปุ่มเปิดไฟ เพราะเงาจะเกิดขึ้นบนลูกโลกอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของขนาดดวงจันทร์อาจใหญ่ไปสักนิดเมื่อเทียบกับอัตราส่วนจริง" ณรงค์กล่าว